- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 28 January 2017 14:38
- Hits: 5173
ดัชนี มาสเตอร์การ์ดชี้ผู้บริโภคในประเทศไทย มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นถึง 10.1 จุด
ผู้บริโภคประเทศไทยมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นถึง 10.1 จุด หลังอยู่ในสภาวะซบเซามาสองปี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard Index of Consumer Confidence) สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศไทยอยู่ที่ 68.3 จุด อันเป็นผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 10 จุด โดยเฉพาะ สภาพเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และคุณภาพชีวิต ทำให้ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี นำหน้า ออสเตรเลีย มาเลเซีย และไต้หวัน ดัชนีดังกล่าวยังเผยว่า อินเดียมีความเชื่อมั่นสูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีพม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบังคลาเทศร่วมขบวนเข้ามาอยู่ในห้าอันดับต้น ทั้งนี้ เมื่อดูในภาพรวมแล้ว ถือได้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกนั้นยังคงระดับเดิม (โดยตลาด 9 แห่งจากทั้งหมด 17 แห่งนั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่เกิน 5 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งล่าสุด) คะแนนรวมช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ปรับตัวขึ้น 1.2 จุดจากครึ่งปีแรกมาอยู่ที่ 60.9 ทำให้ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ดี (คะแนนเกิน 60) ได้อย่างฉิวเฉียด อนึ่ง ดัชนีและรายงานอ้างอิงที่เกี่ยวข้องนี้ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดผลประกอบการทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดได้
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมจะยังดูไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ตลาดห้าแห่งในภูมิภาคกลับมีความแตกต่างจากช่วงหกเดือนก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยมีฮ่องกง ไทย และบังคลาเทศที่ปรับตัวดีขึ้นกว่า 10 จุด ในขณะที่มาเลเซียและไต้หวันก็ปรับตัวลดลงกว่า 10 จุดเช่นกัน
บังคลาเทศมีคะแนนความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 11.2 จุด มาอยู่ที่ 82.8 ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการด้านความเชื่อมั่นที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียง 4.2 จุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบังคลาเทศ โดยปัจจัยใหญ่ที่สุดนั้นมาจากการคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มดีขึ้น (+24.6 จุด) ในขณะเดียวกัน ไทยและฮ่องกงมีคะแนนเพิ่มขึ้นมากถึง 10.1 จุด ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นของไทยเข้ามาอยู่ในเกณฑ์ดี และฮ่องกงอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
ในทางกลับกัน ตลาด 8 ใน 17 แห่งมีระดับความเชื่อมั่นแย่ลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2559 โดยตลาดที่ระดับความเชื่อมั่นตกลงมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน ตามมาด้วยมาเลเซีย และพม่า โดยผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าสภาวะของตลาดหุ้น[1] เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ความเชื่อมั่นถดถอยลง
ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2559 ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 8,723 ราย อายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปีจาก 17 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกได้รับการสอบถามให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองทางเศรษฐกิจห้าประการในอีกหกเดือนข้างหน้า อันได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ โอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคง ภาวะตลาดหุ้น และคุณภาพชีวิต โดยดัชนีนี้ได้มาจากการคำนวนระดับคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดยที่ 0 หมายถึง รู้สึกแย่ที่สุด และ 100 หมายถึงรู้สึกดีที่สุด ส่วนคะแนนระหว่าง 40 ถึง 60 จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
ประเด็นเด่นจากผลการสำรวจในเอเชียแปซิฟิก
· ความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังคงระดับเดิมแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือเพิ่มจากระดับ 59.7 ของช่วงครึ่งปีแรก 1.2 จุดมาอยู่ที่ 60.9 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ปรับให้คะแนนรวมทั้งหมดยกระดับจากเกณฑ์ปานกลางมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยจำนวนของตลาดที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 นั้นยังคงมีเท่าเดิม (คือ 8 จากทั้งสิ้น 17 ตลาด) เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน
· บังคลาเทศที่ก่อนหน้านี้มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จากผลสำรวจล่าสุดกลับเป็นตลาดที่มีคะแนนปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดจากตลาดทั้ง 17 แห่งในเอเชียแปซิฟิก โดยมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นครบทั้งห้าประการ โดยบางประการนั้นมีคะแนนปรับขึ้นเกินกว่า 10 จุด ได้แก่ ภาวะตลาดหุ้น (+24.6) คุณภาพชีวิต (+12.0) และสภาพเศรษฐกิจ (+11.7) ไทยและฮ่องกงก็มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 จุดเช่นกัน
· อินเดีย (95.3) พม่า (92.8) เวียดนาม (92.3) และฟิลิปปินส์ (91.6) ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีสุด
· ตลาด 8 แห่งใน 17 แห่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีคะแนนลดต่ำลง โดยตลาดที่มีระดับคะแนนแย่ลงอย่างมากได้แก่ ไต้หวัน (-11.1) และมาเลเซีย (-10.2) คะแนนที่ถดถอยของไต้หวันและมาเลเซียส่งผลให้ทั้งสองประเทศมีระดับความเชื่อมั่นตกจากเกณฑ์ปานกลางมาอยู่ในระดับแย่
รายละเอียดเมื่อมองในระดับประเทศ
· อินเดีย (95.3) ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดีสุด โดยมีคะแนนรวมลดลงเพียงเล็กน้อยที่ 2.4 จุดอันเป็นผลมาจากคะแนนที่ลดน้อยลงทั้งห้าประการแม้จะไม่มากมายนักก็ตาม ในขณะเดียวกัน ไทย (68.3) สามารถฟื้นตัวหลังจากถดถอยตลอดช่วงสองปีก่อนหน้าได้ด้วยระดับความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 10.1 จุด อันเป็นผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นครบทั้งห้าประการ โดยบางประการนั้นมีคะแนนปรับขึ้นเกินกว่า 10 จุด ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ (+11.2) โอกาสในการหางานทำ (+11.1) และคุณภาพชีวิต (+14.3)
· ไต้หวัน (34.2, -11.1) มีระดับความเชื่อมั่นถดถอยลงมากที่สุดจากทั้งหมด 17 ตลาดที่ได้รับการสำรวจ คะแนนทั้งห้าประการของไต้หวันปรับตัวลดลง โดยคะแนนในด้านภาวะตลาดหุ้น (-18.3) และคุณภาพชีวิต (-14.9) นั้นลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย
· มาเลเซีย มีระดับความเชื่อมั่นลดลงจากเมื่อหกเดือนก่อนหน้า โดยลดลงถึง 10.2 จุดมาอยู่ที่ 31.2 ในตำแหน่งรองต่ำสุดของภูมิภาค เป็นเพราะคะแนนทั้งห้าด้านถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาวะตลาดหุ้น (-13.1) ที่มีคะแนนปรับลดลงมากที่สุด
· สิงคโปร์ มีคะแนนลดลง 3.6 จุดมาอยู่ที่ 30.0 โดยมีปัจจัยสามประการที่คะแนนลดต่ำลงเกิน 5 จุด ได้แก่ โอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคง (-6.5) สภาพเศรษฐกิจ (-6.1) และโอกาสในการหางานทำ (-5.2)
· เกาหลี (31.2, -3.0) ยังคงถดถอยลงอย่างต่อเนื่องในระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 โดยความเชื่อมั่นในภาวะตลาดหุ้นของประเทศ (28.1) นั้นลดลงถึง 8.7 จุด ในขณะที่ จีน ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ จากเมื่อครึ่งแรกของปี 2559 (เพิ่มขึ้น +4.8 เป็น80.8) ทั้งนี้ เป็นเพราะปัจจัยทั้งห้าประการปรับตัวดีขึ้น โดยด้านภาวะตลาดหุ้น (+9.1) นั้นเป็นปัจจัยที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด
· ออสเตรเลีย (46.5) ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยมีการปรับสูงขึ้น 4.2 จุด เป็นผลมาจากพัฒนาการครบจากทั้งห้าประการ ในขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์ (62.2, +6.8) มีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้นพ้นจากระดับปานกลางเข้าสู่ระดับดี เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า โดยมีคะแนนในด้านสภาพเศรษฐกิจ (+12.7) โอกาสในการหางานทำ (+11.4) และคุณภาพชีวิต (+10.3) ปรับขึ้นสูงเกินกว่า 10 จุด
· เวียดนาม (92.3, -2.5) และพม่า (92.8, -7.0) ยังคงมีระดับความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดีสุด แม้ว่าคะแนนความเชื่อมั่นโดยรวมจะลดน้อยลงทั้งคู่ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านภาวะตลาดหุ้นเป็นสำคัญ (ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของพม่าไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น)
· ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในฮ่องกง (42.2) ญี่ปุ่น (43.0) และศรีลังกา (40.1) ที่ต่างเคยอยู่ในเกณฑ์แย่นั้นได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 10.1, 5.0 และ 2.1 จุด ตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดทั้งสามย้ายเข้าสู่เกณฑ์ปานกลางได้โดยพร้อมเพรียงกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมาสเตอร์การ์ด – ครึ่งหลังปี2559 (H2 2016)
สถานะปัจจุบัน (H2 2016) ความเปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีก่อน(H1 2016)
เอเชียแปซิฟิก 60.9 ดี 1.2 คงที่ +
ออสเตรเลีย 46.5 ปานกลาง - 4.2 คงที่ +
จีน 80.8 ดีมาก 4.8 คงที่ +
ฮ่องกง 42.2 ปานกลาง - 10.1 ดีขึ้นมาก
อินเดีย 95.3 ดีสุด -2.4 คงที่ -
อินโดนีเซีย 70.8 ดี 9 ดีขึ้นบ้าง
ญี่ปุ่น 43 ปานกลาง - 5 คงที่ +
เกาหลี 31.2 แย่ -3 คงที่ -
มาเลเซีย 31.2 แย่ -10.2 แย่ลงมาก
นิวซีแลนด์ 62.2 ดี 6.8 ดีขึ้นบ้าง
ฟิลิปปินส์ 91.6 ดีสุด -3.6 คงที่ -
สิงคโปร์ 30 แย่ -3.6 คงที่ -
ไต้หวัน 34.2 แย่ -11.1 แย่ลงมาก
ไทย 68.3 ดี 10.1 ดีขึ้นมาก
เวียดนาม 92.3 ดีสุด -2.5 คงที่ -
พม่า 92.8 ดีสุด -7 แย่ลงบ้าง
บังคลาเทศ 82.8 ดีมาก 11.2 ดีขึ้นมาก
ศรีลังกา 40.1 ปานกลาง - 2.1 คงที่ +
คะแนนชี้วัดปัจจุบัน เทียบคะแนนจากครึ่งปีก่อนหน้า
คะแนนต่ำสุด คะแนนสูงสุด คำบรรยาย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด คำบรรยาย
0 10 แย่สุด -100 -20 แย่ลงสุด
10 25 แย่มาก -20 -10 แย่ลงมาก
25 40 แย่ -10 -5 แย่ลงบ้าง
40 50 ปานกลาง - -5 0 คงที่ -
50 60 ปานกลาง + 0 5 คงที่ +
60 75 ดี 5 10 ดีขึ้นบ้าง
75 90 ดีมาก 10 20 ดีขึ้นมาก
90 100 ดีสุด 20 100 ดีขึ้นสุด