- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Monday, 24 October 2016 21:21
- Hits: 12262
โพลล์เอกชนห่วงค่าบาท-ศก.โลก-ต้นทุนพุ่งชี้ปัจจัยเสี่ยงฉุดส่งออก
แนวหน้า : 'นิด้า' เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมส่งออก เกินครึ่งกังวลเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่ง ขณะที่รองลงมาคือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แนะรัฐสนับสนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ เพื่อนบ้าน หวังเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า พร้อมลดขั้นตอนการส่งออกเพื่อความคล่องตัว
นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริหารระดับสูง ในภาคอุตสาหกรรมส่งออกต่างๆ กระจาย ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 80 ราย เกี่ยวกับ ทิศทางการส่งออกของไทยปี 2559 โดยทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน-12 ตุลาคม 2559 ว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งหลังของปี 2559 รัฐบาลควรส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคม อำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุนได้อย่างมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน
นอกจากนี้ ควรรักษาเสถียรภาพอัตราการแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท รวมทั้งควรเพิ่มการ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ การค้า การลงทุน การส่งออก ให้กับผู้ประกอบการ โดยตรง และให้เป็นไปอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งทบทวนหรือลดขั้นตอนในการส่งออกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้ เนื่องจาก ขั้นตอนบางอย่างมีความซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีทะเบียนหรือประวัติอยู่แล้ว และเปิดเวทีการเจรจาการค้า การลงทุน ระหว่างผู้ประกอบการและคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการสินค้าจากไทย
นายกำพล กล่าวว่าผลการสำรวจ ผู้ประกอบการ ยังมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2559 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.75% ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่า จะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รองลงมา 31.25% ระบุว่า นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริม ให้มีการส่งออกสินค้าที่ใช้นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น 25% ระบุว่า การผลักดันการส่งออกผ่านช่องทาง การค้าชายแดนและผ่านแดน 11.25% ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มมีทิศทางการปรับตัว ที่ดีขึ้นบ้าง
ส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ต่อปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบ ต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 58.75% ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่ง รองลงมา 45% ระบุว่า เป็นความผันผวนของอัตรา แลกเปลี่ยน (การแข็งค่าของเงินบาท) 23.75% ระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ส่งออก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดว่า สินค้าส่งออกจากประเทศไทยต้องมีหนังสือยืนยันการป้องกันหรือกำจัดยุงที่อาจติดไปกับตู้สินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาและ โรคเมอร์ส 17.5% ระบุว่า ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวไม่ชัดเจน 15% ระบุว่า เป็นการชะลอการนำเข้าของจีน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่มากคือ 6.25 % ระบุว่า เป็นการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น และระบุว่า ผลประชามติของสหราชอาณาจักรที่ให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในสัดส่วนที่เท่ากัน 5% ระบุว่า ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ในช่วงปลายปี 2559
ก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ มั่นใจว่าการส่งออกไทยในปี 2559 มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วง 0-1% ต่อปี จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วง -1 ถึง 0% เนื่องจากได้ประเมินแนวโน้มตัวเลขภาคส่งออกไทยในเดือนก.ย. 2559 ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ จะออกมาเป็นบวก ต่อเนื่องจากเดือนส.ค.เป็นเดือนที่ 2 จากตัวเลขในเดือนส.ค.ส่งออกไทยขยายตัวเป็นบวกที่ 6.5% แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีก็ตาม
ทั้งนี้ การที่ตัวเลขภาคส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นการบริโภค ของประเทศอื่นๆ ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทย ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตมีการ ส่งออกสินค้าไปในต่างประเทศเพิ่มขึ้น