- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 17 July 2016 15:28
- Hits: 4793
ส่งออกไทยในบริบทใหม่ของการค้าโลกชะลอตัว
Key highlight:
วิจัยกรุงศรีสรุป 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยซบเซาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า 2. โครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวของไทยจากขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยทุกชนิด ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก
วิจัยกรุงศรีใช้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยและแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกในช่วงปี 2554-58 เป็นเกณฑ์แบ่งสินค้าส่งออกไทยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าส่งออกที่ ‘แกร่ง’ คิดเป็น 19.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คือ สินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก และไทยได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น กลุ่มที่ 2 สินค้าส่งออกที่ ‘พลาด’ คิดเป็น 14.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สินค้าในกลุ่มนี้กำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดี เช่น แผงวงจรรวม อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว และอาหารทะเลแปรรูป
กลุ่มที่ 3 สินค้าส่งออกที่ ‘ยังดิ้นรน’ คิดเป็น 27.6% ของมูลค่าการส่งออก ได้แก่ สินค้าที่แนวโน้มความต้องการในตลาดโลกลดลง ทั้งที่ไทยได้และเสียส่วนแบ่งการตลาดไป โดยส่วนแบ่งของสินค้าไทยอาจเพิ่มขึ้นเพราะคู่แข่งรายอื่นออกจากตลาด หรือลดลงเพราะผู้ส่งออกไทยหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมน้ำตาล จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสปรับตัว เพื่อขึ้นไปแข่งขันในตลาดสินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก จึงยังต้องติดตามและประเมินความสามารถในการแข่งขันต่อไป
ทั้งนี้ จะเห็นว่าสินค้าส่งออกที่ 'แกร่ง'คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่า และน่าจะพอเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกแทนสินค้าส่งออกที่’พลาด’ ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ ‘ยังดิ้นรน’ อีกกว่า 1 ใน 4 ที่ต้องติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทำให้ในภาพรวม ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา วิจัยกรุงศรีเสนอแนะให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ
รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา