- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Friday, 06 October 2023 16:52
- Hits: 2033
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาสู่เกณฑ์ ‘ทรงตัว’ นักลงทุนคาดหวังปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ปัจจัยฉุดคือสถานการณ์เงินทุนไหลออก-ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกันยายน 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20–30 กันยายน 2566) พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.14 ปรับลง 20.6% จากเดือนก่อนหน้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุน ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การไหลออกของเงินทุน รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนกันยายน 2566 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
● ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธันวาคม 2566) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ปรับลดลง 20.6% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 112.14
● ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
● หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
● หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
● ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
● ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลออกของเงินทุน
“ผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน 2566 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 27.3% อยู่ที่ระดับ 120.00 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 1.2% อยู่ที่ระดับ 111.11 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 0.6% อยู่ที่ระดับ 146.15 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 20.0% อยู่ที่ระดับ 100.00
SET Index ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนกันยายน 2566 จากความกังวลสถานการณ์เงินเฟ้อท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังกลุ่มโอเปคและรัสเซียประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงกว่าคาดจนส่งผลให้ กนง. ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี อีกทั้งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้านการลดค่าไฟและน้ำมันดีเซล ส่งผลให้หลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคปรับตัวลดลง โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 หลุดกรอบ 1,500 จุดมาปิดที่ 1,471.43 ปรับตัวลดลง 6% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 56,218 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 22,436 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 155,372 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าหมาย มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางจีน และทิศทางการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่กลับไปสู่ตลาดพัฒนาแล้ว ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ มาตรการและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่หลายภาคส่วนมองว่าอาจสร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการลงทุนในระยะยาวรวมถึงงบประมาณที่มีจำกัด อาทิ ความชัดเจนของโครงการ digital wallet 10,000 บาท มาตรการลดค่าไฟ ลดราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยที่น่าติดตามหลังรัฐบาลประกาศฟรีวีซ่าจีนและคาซัคสถาน และการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดทุนไทยหลังกระทรวงการคลังประกาศไม่มีนโยบายเก็บภาษีจากการซื้อขายหลักทรัพย์และภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์”
A10218