- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Monday, 07 August 2023 17:41
- Hits: 2410
PwC และ NUS เผยผลการศึกษาการจัดทำรายงานความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ช่องว่างที่สำคัญยังคงอยู่
● การเปิดเผยโดยรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและ/หรือโอกาสที่ถูกระบุในรายงานความยั่งยืนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 77% ในปี 2564 เป็น 88% ในปี 2565
● บริษัทในเขตอำนาจการปกครองส่วนใหญ่มีการกำหนดเป้าหมายด้าน ESG (92%) แต่มีเพียง 51% เท่านั้น ที่เปิดเผยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และมีเพียง 42% ที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามกรอบโครงการริเริ่มกำหนดเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative: SBTi) มีเพียง 16% เท่านั้นที่รายงานว่าเป้าหมายของพวกเขาได้รับการรับรองโดย SBTi
● 80% ของบริษัทกำลังเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) ซึ่งการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Scope 1 และ 2 มีการพัฒนามาถึงจุดสูงสุด นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว บริษัทส่วนใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคยังคงต้องมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Scope 3) ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น
● มีบริษัทเพียง 36% เท่านั้นที่รายงานว่าคณะกรรมการ หรือทีมผู้บริหารของพวกเขาได้รับการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนในปี 2565 (เปรียบเทียบกับ 24% ในปี 2564)
● บริษัทที่ได้รับการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล ESG จากภายนอกเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2564 เป็น 49% ในปี 2565 แต่การปรับปรุงสามารถทำได้ทั่วทั้งภูมิภาค ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ในขณะที่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเชื่อมต่อคุณค่าทางธุรกิจเข้ากับความสามารถในการสำรวจความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น บริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังแสดงความคืบหน้าในการจัดทำรายงานความยั่งยืนในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ตามรายงาน Sustainability counts II: Sustainability reporting in Asia Pacific ซึ่งเป็นการศึกษาของ PwC ประเทศสิงคโปร์ และศูนย์ธรรมาภิบาลและความยั่งยืน (The Centre for Governance and Sustainability: CGS) คณะวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore (NUS) Business School) ทั้งนี้ การวิเคราะห์รายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน 50 อันดับแรกตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครอบคลุม 14 ประเทศและอาณาเขตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก[1] ซึ่งผลการศึกษานี้ที่ได้ถูกเผยแพร่ ณ งาน Ecosperity Week 2023 ยังเผยให้เห็นถึงช่องว่างของการจัดทำรายงานและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ยังคงมีอยู่สำหรับธุรกิจเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีเส้นทางที่แข็งแกร่งและปฏิบัติได้จริงของการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือช่วงกลางศตวรรษ และเน้นให้เห็นถึงความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งธุรกิจต่างๆ จะต้องเผชิญ
ศาสตราจารย์ ลอว์เรนซ์ โลห์ ผู้อำนวยการ CGS คณะวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “การศึกษาเน้นทั้งความคืบหน้าและช่องว่างในการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแม้ว่าเราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของการเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องระแวดระวังเกี่ยวกับช่องว่างที่สำคัญๆ เช่น เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ความโปร่งใสในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการฝึกอบรมด้านความยั่งยืน ในขณะที่ความคาดหวังด้าน ESG เพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ จะต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขช่องว่างเหล่านี้ และมีความมุ่งมั่นในการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่เป็นสถานประกอบการที่เป็นแบบอย่างในฐานะองค์กรสีเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างมีความรับผิดชอบและมีความยืดหยุ่น”
การเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมีความคืบหน้ามากขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า การเปิดเผยถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและ/หรือโอกาสที่ระบุในรายงานความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้นจาก 77% ในปี 2564 เป็น 88% ในปี 2565 สอดคล้องกับการเปิดเผยถึงกระบวนการในการจัดการความเสี่ยงและ/หรือโอกาสเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นจาก 66% (2564) เป็น 74% (2565) และวิธีที่พวกเขาผนวกความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการความเสี่ยงโดยรวม เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2564 เป็น 58% ในปี 2565 สำหรับ 13 เขตอำนาจการปกครองส่วนใหญ่ ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเปิดเผยข้อมูลนั้น เป็นผลมาจากการนำกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures: TCFD) มาปรับใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดเผยถึงการผนวกความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการความเสี่ยงโดยรวม ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการรายงาน ในขณะเดียวกัน ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา บริษัทต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจของตนมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลที่เปลี่ยนไป
การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ยังคงเป็นความท้าทาย
บริษัทมากกว่าเก้าในสิบแห่ง (92%) ที่ทำการศึกษา มีการเปิดเผยเป้าหมายด้านความยั่งยืนในปี 2565 อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้ มีเพียง 51% เท่านั้น ที่เปิดเผยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ขณะที่ 42% รายงานว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของตนยึดตามกรอบโครงการริเริ่มกำหนดเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative: SBTi) โดยมีเพียง 16% ที่รายงานว่า เป้าหมายของพวกเขาได้รับการรับรองโดย SBTi ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ ในการแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีเส้นทางที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อพิจารณาถึงประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระหว่างปี 2593 ถึง 2613 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเป้าหมายและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับวาระความยั่งยืนแห่งชาติ
ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า การประเมิน Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากบริษัท) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อและใช้พลังงาน) นั้นมีการพัฒนามาถึงจุดสูงสุดแล้ว โดย 80% ของบริษัทที่ทำการศึกษา มีการเปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 อย่างไรก็ดี ยังคงมีบริษัทน้อยกว่า 50% ที่มีการเปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท) และในบรรดาบริษัทที่เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 มีเพียง 5% เท่านั้นที่รายงานว่า มีการเปิดเผยข้อมูลในระดับที่ครอบคลุม ซึ่งจำเป็นต่อการความเข้าใจภาพรวมของการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัท และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ
การยกระดับทักษะด้านความยั่งยืนสำหรับคณะกรรมการและทีมบริหารยังอยู่ในระดับต่ำ
36% ของบริษัทที่ทำการศึกษารายงานว่า คณะกรรมการหรือทีมบริหารของพวกเขาได้เข้าร่วมหรือได้รับการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2564 แต่แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อัตราดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับทักษะด้านความยั่งยืนในระดับผู้นำ เพื่อให้พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ความก้าวหน้า และการกำกับดูแลของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ของการรับรองรายงานความยั่งยืน
สำหรับการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของบริษัทแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจของพวกเขานั้น ผลการศึกษาพบว่า มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ได้รับการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล ESG ของพวกเขาจากหน่วยงานอิสระภายนอก โดยเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2564 เป็น 49% ในปี 2565 และเมื่อพิจารณาถึงสามในสี่ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจในรายงาน Global Investor Survey ของ PwC เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ระบุว่า พวกเขาจะมีความมั่นใจในการจัดทำรายงานความยั่งยืนมากขึ้น หากรายงานความยั่งยืนได้รับการตรวจสอบในระดับเดียวกับงบการเงินของบริษัท โดยธุรกิจต่างๆ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำรายงานความยั่งยืนผ่านการได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอก
หนทางข้างหน้าของการจัดทำรายงานความยั่งยืน
รายงานยังได้เน้นถึงความท้าทายอันดับต้นๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญเกี่ยวกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนามาตรฐานและกรอบการรายงานความยั่งยืนที่สำคัญๆ ซึ่งผู้จัดทำรายงานความยั่งยืนจำเป็นที่จะต้องติดตาม
นางสาว ฟาง ยู ลิน หัวหน้ากลุ่มลูกค้าความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ PwC ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “ความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของมาตรฐานในการรายงานความยั่งยืนที่สำคัญๆ ทั่วทุกภาคส่วน จะทำให้หลายบริษัทต้องพัฒนาแผนงานเชิงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน จะต้องให้ความสำคัญกับการรับรองความเชื่อมั่นของการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
ด้านนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเห็นว่าบริษัทใน SET25 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนกันแทบทั้งสิ้น ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนใน SET50 และ SET100 ก็มีแนวโน้มในการจัดทำเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นผลมาจากการตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลก สังคม และองค์กร อย่างไรก็ดี ในปี 2566 พบว่า มีบริษัทไทยเพียงหกแห่งเท่านั้นที่ได้การรับรองโดย SBTi และมี 27 แห่งที่มีการเปิดเผยถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานของ TCFD”
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียนของไทยตื่นตัวในเรื่องการจัดทำรายงานความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลในรายงานความยั่งยืนจากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระจะยังคงมีน้อยมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการจัดทำรายงานยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง โดยคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยห้าปีนับจากนี้ถึงจะเห็นบริษัทจดทะเบียนมีการตรวจสอบการรายงานความยั่งยืนกันอย่างแพร่หลาย” นาย ชาญชัย กล่าว
นาย ชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้บริหารบริษัทไทยควรเร่งตระหนักและทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดทำกลยุทธ์และแผนการลดคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า ‘Net Zero Company’ เพราะมีมาตรการที่บริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปต้องปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) หรือ มาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ภายในปี 2573 ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทยในห้าธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ดังนั้น บริษัทที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้และมีการส่งสินค้าไปยุโรปจึงต้องเร่งปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566[2] นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ให้ความสำคัญในการออกมาตรการและนโยบายด้าน climate change ด้วยเช่นกัน
[1] ออสเตรเลีย, จีน (แผ่นดินใหญ่), ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ไทย, เวียดนาม
[2] Carbon Border Adjustment Mechanism, Taxation and Customs Union, European Commission
A8139