- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 02 July 2022 00:18
- Hits: 2483
ธพว. จับมือ ศศินทร์ รุกสำรวจความเชื่อมั่น SMEs ไตรมาส 2 - 3 หลังโควิดคลี่คลาย
ออกแคมเปญสินเชื่อ SMEs Re-Start หนุนท่องเที่ยวฟื้น ดันเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน
ธพว. จับมือ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เผย “ผลสำรวจความเชื่อมั่น SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ” ระบุไตรมาส 2/2565 ปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 56.00 และไตรมาส 3/2565 เพิ่มเป็น 62.91 อานิสงส์สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว เชื่อมั่นสูงสุด ประกาศเดินหน้า “เติมทุนคู่พัฒนา” ออกแคมเปญสินเชื่อ SME Re-Start ควบคู่ส่งเสริมใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน ผลักดันขยายการลงทุน หนุนจ้างงานเพิ่ม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยในการแถลง “ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2565 และคาดการณ์อนาคต” ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ธพว. โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จัดทำผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 2/2565 และคาดการณ์อนาคต เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ได้เห็นมุมมองของ SMEs และทิศทางการปรับตัว โดยจัดทำเป็นรายไตรมาส เพื่อรู้เท่าทันสถานการณ์ สามารถนำไปใช้วางแผนดำเนินงานได้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อ SMEs ขณะเดียวกัน ธพว. จะใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของ SMEs ต่อไป
ดร.มยุขพันธุ์ ไชยมั่นคง ผู้อำนวยการโครงการ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากการสำรวจ SMEs จำนวน 504 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2565 นั้น SMEs มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 56.00 และคาดการณ์ไตรมาส 3 ปี 2565 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 62.91 จากปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ได้ลูกค้ารายใหม่หรือกลุ่มใหม่ จำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้น กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ลูกค้าเริ่มกล้าจับจ่าย และคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ตามลำดับ โดย SMEs ขนาดกลาง (Medium) คือ กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและอนาคตสูงที่สุด
เมื่อพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่ม SMEs ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว มีความเชื่อมั่นสูงสุด ทั้งในปัจจุบันและในไตรมาส 3 โดยมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่น รวมถึงมีสัดส่วนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจประเภทอื่นเช่นกัน ส่วนภาคธุรกิจก่อสร้างมีความเชื่อมั่นในไตรมาส 2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้น ขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น SMEs ส่วนใหญ่ 69.84% คาดว่า ผลประกอบการของธุรกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็นในระหว่างปี 2566 ที่ 36.90% และหลังปี 2566 ที่ 32.94%
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SMEs ถึง 59.33% ระบุว่า ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะ SMEs ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากปัจจัยหลัก ได้แก่ จำนวนลูกค้าและกำลังซื้อของลูกค้าที่ปรับตัวลดลง ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นั้น SMEs ส่วนใหญ่ถึง 64.48% ปรับตัวด้วยการลดต้นทุน และมีสัดส่วนถึง 61.11% นำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์มาใช้ในการปรับตัว ได้แก่ โฆษณาผ่านออนไลน์ จัดทำเว็บไซต์/เฟซบุ๊กขายสินค้า เพิ่มช่องทางจ่ายเงินไร้สัมผัส ขยายช่องทางขายออนไลน์ เป็นต้น
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า SMEs มีความต้องการในการพัฒนาธุรกิจในเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยความช่วยเหลือที่ต้องการจากภาครัฐมากที่สุด คือ การสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาธุรกิจ พัฒนาบุคลากร สูงถึง 42.86% การสนับสนุนด้านเงินทุนหรือผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม 36.31% และขยายมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ 27.38% ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการจากสถาบันการเงินมากที่สุด ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่อง 77.58% การพักชำระหนี้ 41.27% และการปรับโครงสร้างหนี้ 21.57%
นายโมกุล กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า SMEs ให้ความสำคัญกับการปรับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทั้งเพื่อการตลาดและยกระดับการผลิต ดังนั้น ธพว. ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SMEs ก้าวทันเทคโนโลยีมาโดยตลอด และจะขยายผลในวงกว้างขึ้นจากความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สนับสนุน SMEs ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับธุรกิจ เป็นต้น
อีกจุดที่น่าสนใจ SMEs ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เช่น อบรมพัฒนาธุรกิจ พัฒนาบุคลากร รวมถึง สนับสนุนทุนและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น ธพว. พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs กับโครงการประเภทร่วมจ่ายของภาครัฐ หรือหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม
ขณะที่ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กลายเป็นกลุ่มที่ต้องการลงทุนและจ้างงานเพิ่มมากกว่ากลุ่มอื่น สอดคล้องกับแนวทางของ ธพว. ที่มุ่งสนับสนุน SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ผ่านมาตรการด้าน “การเงิน” โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 พาเข้าถึงแหล่งทุนผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆ ไปแล้ว วงเงินรวมกว่า 60,000 ล้านบาท จำนวนกว่า 30,000 ราย เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash เป็นต้น รวมถึง ล่าสุด ธพว. ออก “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องมีเงินทุนไปเสริมสภาพคล่อง ดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ผ่อนนาน 10 ปี ที่จะช่วยพาเข้าถึงแหล่งทุนได้อีกกว่า 1,000 ราย
นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่ออื่นๆ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม เช่น สินเชื่อ 3D สินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา และสินเชื่อ BCG Loan เป็นต้น ควบคู่กับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ประสานความร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมเติมความรู้ ช่วยลดต้นทุน ส่งเสริมการตลาด เช่น ร่วมกับ AccRevo แนะนำใช้เครื่องมือดิจิทัล จัดการบัญชีออนไลน์, จัดโครงการ “เติมทุนเอสเอ็มอีไทย ติดเครื่องธุรกิจ” ปูพรม Focus Group พา SMEs เข้าถึงแหล่งทุนทั่วประเทศ, โครงการ “SME D Coach” ที่ปรึกษาธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ และพาทูตการท่องเที่ยวฯ ลงพื้นที่ช่วยส่งเสริมการตลาดให้ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เป็นต้น
A7038