- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Friday, 27 September 2019 12:11
- Hits: 2869
CONC Thammasat เผยผลวิจัยบริการเรียกรถผ่านแอปฯ มูลค่า 21,000 ล้าน
พร้อมชู 5 แนวทางหลักในการกำกับดูแลของภาครัฐ
ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) แถลงผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อใช้ต่อยอดและสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรม Ride-hailing ทั้งในด้านคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย การพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี พร้อมนำเสนอ 5 แนวทางหลักที่ภาครัฐควรนำมาพิจารณาในการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาครัฐ ตลอดจนสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ กล่าวว่า “ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชันหรือ Ride-hailing ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ด้วยความง่ายและสะดวกในการใช้บริการ ประกอบกับปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต การเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) การพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงรูปแบบการใช้ขีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้บริการ Ride-hailing ซึ่งเป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ขับขี่และผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 34.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73 ในอีก 30 ปีข้างหน้า”
ปัจจุบัน อุตสาหกรรม Ride-hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งโดยสารทางบกไทย ทั้งนี้ จากความนิยมของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงขึ้นจนมีมูลค่าถึง 1.2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2568 หรือคิดเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP ภาคขนส่งโดยสารทางบกไทยในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยมีผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568 ในขณะที่มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568
ดร. สุทธิกร กล่าวเสริมว่า “แม้ว่าอุตสาหกรรม Ride-hailing จะได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนและกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญในการเดินทางให้กับคนไทยควบคู่ไปกับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม แต่ธุรกิจดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐในการกำหนดขอบเขต หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาให้บริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกต้อง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ในสามประเทศสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับการให้บริการ Ride-hailing ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับบริการ Ride-hailing เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า 95% ของผู้บริโภคเห็นด้วยกับการทำให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber ถูกกฎหมาย และ 77.24% ของคนไทยเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน”
จากผลการศึกษาและวิจัยของ CONC Thammasat พบว่า การพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรม Ride-hailing สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน และส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
• ผู้โดยสาร: Ride-hailing ทำให้การเดินทางในชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
92% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ
95% ของผู้โดยสารเห็นว่า บริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
77% ของผู้โดยสารระบุว่า การใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ
86% ของผู้โดยสารระบุว่า บริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง
• ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ: Ride-hailing เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ที่ช่วยสร้างรายได้และลดภาระหนี้สิน
60% ของคนที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ Ride-hailing เป็นผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นว่างงาน หรือบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับพวกเขา
99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
94% ของผู้ขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้
• ภาคสังคม: Ride-hailing ได้เข้ามาช่วยยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
• ภาคเศรษฐกิจ: Ride-hailing ช่วยสร้างประโยชน์ส่วนเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้โดยตรงที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ และรายได้ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายได้เหล่านี้ได้กระจายไปสู่อุตสาหกรรมหลักต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม
• ภาคการท่องเที่ยว: Ride-hailing มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญที่ช่วยรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือมีการท่องเที่ยวแบบอิสระ (Free Individual Traveler) มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาผ่านแอปพลิเคชัน และปัญหาด้านค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมด้วยการแจ้งราคาล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
นอกจากนี้ CONC Thammasat ยังได้นำเสนอแนวทางในการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลบริการ Ride-hailing ในประเทศไทยซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรใช้ในการพิจารณา โดยการรับฟังความคิดเห็นและมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ที่ให้บริการ Ride-hailing ผู้ขับแท็กซี่ในระบบดั้งเดิม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก อันได้แก่
1) มาตรฐานด้านความปลอดภัยของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ
- มีเทคโนโลยีที่รองรับด้านความปลอดภัย เช่น ระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของการเดินทางแบบเรียลไทม์ หรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
- มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับ เช่น ระบบ Biometrics
- มีศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง
- มีประกันคุ้มครองให้กับทั้งผู้ขับและผู้โดยสารในทุกเที่ยวการเดินทาง
2) มาตรฐานผู้ขับขี่และรถยนต์
- ผู้ขับต้องผ่านการคัดกรองและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนให้บริการ
- ผู้ขับต้องได้รับการอบรมในด้านความปลอดภัย
- การกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ควรอิงด้านความปลอดภัยของตัวรถ และเปิดโอกาสให้ประชาชนนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้
3) มาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี
- มีศักยภาพในการให้บริการอย่างครอบคลุมและฐานผู้ขับที่เพียงพอกับความต้องการ
- เทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
- มีระบบแปลภาษาที่ช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- สามารถชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ ทั้งเงินสดและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
4) มาตรฐานด้านราคา
- ควรให้มีการคำนวณราคาค่าบริการตามกลไกตลาด หรือ Dynamic Pricing ที่สะท้อนปริมาณความต้องการและจำนวนรถที่ให้บริการ (Demand-Supply) ณ เวลานั้นๆ
- ต้องมีการแจ้งราคาค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
- ควรกำหนดราคาโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความต้องการของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่
โดยเป็นราคาที่ผู้ขับสามารถสร้างรายได้ ในขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องยอมรับได้
5) มาตรฐานของบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหรือผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน
- ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องในประเทศไทย
- ควรมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยหรือบริษัทไทย
- มีการเสียภาษีให้กับประเทศ
- มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต
“Ride-hailing ถือเป็นทางเลือกสำคัญที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางให้กับคนไทย แต่ยังรวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้มหาศาลมาสู่ประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลดิจิทัลที่ถูกบันทึกจากแอปพลิเคชันยังสามารถนำมาช่วยในการต่อยอดและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว การวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจร หรือการวางผังเมืองในอนาคต ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า Ride-hailing ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมขนส่งที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและขับเคลื่อนประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัล” ดร. สุทธิกร กล่าวทิ้งท้าย
AO09510
Click Donate Support Web