WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SCB EIC logoSCB EIC คาดกนง.มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้

         ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 61 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะกลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float regime) อัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ และสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยรองรับผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นได้ เพราะค่าเงินบาทสามารถปรับอ่อนค่าลงได้ อีกทั้ง ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลไปมากและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

      ดังนั้น ในการตัดสินนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงน่าจะให้น้ำหนักต่อประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงเป็นเรื่อง 1) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ถึงแม้จะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกและเข้ากรอบเป้าหมาย แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และ 2) แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่ช่องว่างการผลิต (output gap) ในปัจจุบันยังคงเปิดอยู่

      อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 4 ครั้งในปี 61 อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้บ้าง แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวจะยังคงปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ โดย SCB EIC มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ตาม dot plot จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น เพราะคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวให้ปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ

       นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนฯ ไทยมี sensitivity ต่อผลตอบแทนฯ ของสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคด้วยเช่นกัน สำหรับภาวะการเงินโลกที่จะทยอยตึงตัวขึ้นนั้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงแก่บางประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้ แต่ SCB EIC มองว่านักลงทุนจะเลือกลงทุนตามความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จึงทำให้ไทยเผชิญความเสี่ยงที่ต่ำ เพราะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

      SCB EIC ระบุว่า แม้ yield curve ของสหรัฐฯ จะมีความชันลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ SCB EIC มองว่าจะยังไม่เป็นตัวส่งสัญญาณถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เห็นได้จากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวที่แคบลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดการเงินเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะ inverted yield curve ซึ่งหมายถึงดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ต่ำกว่าระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาสามารถเป็นสัญญาณชี้นำ (leading indicator) ของการเกิดเศรษฐกิจถดถอย (recession) ได้

       อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังมีน้อย เนื่องจากสถานการณ์ตลาดเงินในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต กล่าวคือ 1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าระยะสั้นเกิดจากปัจจัยเฉพาะเชิงเทคนิค เช่น ความต้องการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของธนาคารกลางและของกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีอยู่มากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก และการสื่อสารทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต (forward guidance) ที่ช่วยปรับคาดการณ์ของนักลงทุนซึ่งส่งผลต่อคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวที่ไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวที่แคบลงอาจไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคตที่จะนำไปสู่ recession เพียงอย่างเดียว และ 2) ถึงแม้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะแคบลง แต่ก็ยังมีความต่างอยู่ราว 40 bps ซึ่งยังไม่เข้าใกล้ภาวะ inverted yield curve นอกจากนี้ San Francisco Fed ประเมินว่าจะต้องเกิดภาวะ inverted yield curve ราว 6-24 เดือนก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!