- Details
- Category: ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- Published: Saturday, 04 July 2015 15:10
- Hits: 8075
ปธ.กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน วอนอย่ายกเลิก ควง. แม้ร่าง รธน.ใหม่กำหนด คตง-ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นฟ้องนักการเมือง -เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตใช้จ่ายงบมีผลบังคับใช้
ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงว่า ตามที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำและเสนอร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผตง.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจหน้าที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกวินัยการคลังและงบประมาณ หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (มาตรา 205) นั้น
หากร่างดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ไม่ควรมีการยกเลิกคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง (ควง.) เนื่องจาก ควง. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและกำหนดโทษปรับทางปกครองเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังเสนอคตง. เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ในขณะที่ ผตง. (โดยความเห็นชอบของ คตง.) หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่เพียงการยื่นฟ้อง คือ เป็นโจทก์หรือพนักงานอัยการเท่านั้น ผู้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยความผิดที่มีการยื่นฟ้องคือศาลปกครองแผนกวินัยการคลังและงบประมาณผต. ไม่มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยความผิดเหมือน ควง.
ทั้งความผิดที่ ผตง. (โดยความเห็นชอบของ คตง.) จะยื่นฟ้องได้ก็จำกัดเฉพาะการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินอันวิญญูชนพึงเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเท่านั้น ในขณะที่ ควง. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยโทษปรับทางปกครองเป็นจำนวนมากถึง 34 ข้อหา ซึ่งความผิดหลายข้อหาแตกต่างจากความผิดที่ ผตง. (โดยความเห็นชอบของ คตง.) หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ยื่นฟ้อง เช่น ความผิดเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ซึ่งมีอยู่ 4 ข้อหา ไม่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ ผตง. (โดยความเห็นชอบของ คตง.) หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ยื่นฟ้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 205 แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ควง. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยโทษปรับทางปกครองเฉพาะผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในขณะที่ ผตง. (โดยความเห็นชอบของ คตง.) หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ยื่นฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ด้วย
แม้ในส่วนของ ผตง. ต้องได้รับความเห็นชอบจาก คตง. ก่อนยื่นฟ้อง เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของ ควง. ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดย คตง. แต่ก็แตกต่างกัน เนื่องจากความเห็นชอบของ คตง. ในการให้ ผตง. ยื่นฟ้องได้นั้นมิใช่คำสั่งทางปกครอง เพราะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดี คู่กรณีผู้ถูกฟ้องจึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนความเห็นชอบได้ แต่คำวินิจฉัยชี้ขาดของ คตง. คู่กรณีที่ได้รับผลกระทบย่อมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนหรือเปลี่ยนคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นได้
ควง. นั้นมีขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งตลอดมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี ช่วยทำให้การควบคุมการเงินของรัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ทั้งช่วยทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันมีผลดี การยกเลิก ควง. จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างไรก็ดี การจัดตั้งแผนกวินัยการคลังและงบประมาณย่อมทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังของ คตง. ได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยตุลาการผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านวินัยทางงบประมาณและการคลังมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย