- Details
- Category: ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- Published: Saturday, 11 March 2023 16:12
- Hits: 1648
สตง. ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการถนนทางหลวงท้องถิ่นขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งทางหลวงท้องถิ่นเป็นบริการสาธารณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารจัดการทั้งทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอยู่เดิม และทางหลวงที่ได้รับการถ่ายโอน ซึ่งจากฐานข้อมูลถนนของระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565 พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีถนนทางหลวงท้องถิ่นในความรับผิดชอบจำนวนมากถึง 799,447 สายทาง
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้ นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทางหลวงท้องถิ่นในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนใช้สัญจรด้วยความปลอดภัย สามารถขนส่งสินค้าและผลผลิตด้านการเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วและเป็นการลดต้นทุนในการขนส่ง
จึงได้เลือกตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2564 และจากการสุ่มตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการถนนทางหลวงท้องถิ่นขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2) เทศบาลนครและเทศบาลเมือง และ 3) เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ 6 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
1.การจัดการข้อมูลถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ
1.1 การลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง จากการสุ่มตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง พบว่า มีการลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นไม่ครบถ้วน จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.00 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ โดยมีข้อมูลถนนที่ไม่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น จำนวน 3,740 สายทาง คิดเป็นร้อยละ 83.82 จากจำนวนถนนทั้งหมด 4,462 สายทาง
ในขณะเดียวกัน สายทางที่ลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่นส่วนใหญ่มีข้อมูลรายละเอียดไม่ถูกต้อง ทั้งประเภทผิวจราจร ความกว้างและความยาวของสายทาง ซึ่งส่งผลต่อการกำกับ ตรวจตราและควบคุมทางหลวงท้องถิ่น และบังคับใช้ตามกฎหมายทางหลวงได้อย่างสมบูรณ์ และขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จะสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 ฐานข้อมูลถนนของระบบข้อมูลกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง จากการสุ่มตรวจสอบถนน จำนวน 99 สายทาง พบว่า ไม่มีข้อมูลถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบในระบบ จำนวน 39 สายทาง และมีข้อมูลของสายทางที่บันทึกในระบบไม่ครบถ้วน 60 สายทาง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของสายทางที่ตัดผ่านหมู่บ้านหรือชุมชน จำนวนเลนถนน ความกว้างของผิวจราจร และความยาวของสายทาง ฯลฯ
อีกทั้งทะเบียนหรือประวัติถนนบางส่วนไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง โดยบางสายทาง ไม่มีในฐานข้อมูล หรือมีทะเบียนหรือประวัติถนนไม่ตรงตามสภาพถนนจริง เช่น ความกว้างของผิวจราจรหรือความยาวของถนนไม่ถูกต้อง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดข้อมูลที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นต้น
2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการดูแลบำรุงรักษาถนนไม่เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่กำหนด โดยถนนส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดเสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมตามมาตรฐานถนน ทางเดิน และทางเท้า เช่น เป็นหลุมบ่อ มีรอยแตกร้าว และไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
โดยติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมด้านป้ายจราจรและเครื่องหมายบนพื้นทางไม่เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เช่น ไม่มีป้ายเตือนหยุดบริเวณทางแยกทางโค้ง ป้ายเตือนไม่ชัดเจนหรือชำรุด อีกทั้งมีความกว้างของช่องจราจรน้อยกว่า 3 เมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามคู่มือการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนสำหรับทางหลวงท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เช่น การแก้ไขปรับปรุงซ่อมแซมจุดเสี่ยงให้มีความปลอดภัย การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯลฯ ทำให้ผู้ขับขี่และประชาชนผู้ใช้เส้นทางเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และอาจทำให้ความชำรุดเสียหายของถนนขยายเป็นวงกว้างไปถึงชั้นโครงสร้าง มีความเสี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณในการดูแลบำรุงรักษาถนนเพิ่มขึ้น
รายงานการตรวจสอบของ สตง. ได้ระบุข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบข้อมูลทางหลวงระดับจังหวัดไม่มีการขับเคลื่อนภารกิจ โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลทางหลวงระดับจังหวัดทั้ง 6 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่มีการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลทางหลวงท้องถิ่นระดับจังหวัดทั้ง 6 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ ส่งผลทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดขาดข้อมูลทางหลวงท้องถิ่นในจังหวัด เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาทางหลวงท้องถิ่น เช่น ปัญหาความทับซ้อนของสายทาง ปัญหาความชำรุดเสียหาย ฯลฯ
จากผลการตรวจสอบดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการบูรณาการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการลงทะเบียนทางหลวงท้องถิ่น และการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นของสายทางในการจัดทำทะเบียนถนนหรือประวัติสายทาง รวมถึงพิจารณาหารือแนวทางการปฏิบัติงาน การจัดการดูแลบำรุงรักษาถนน
เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานถนน ทางเดิน และทางเท้า และมาตรฐานการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่เหมาะสมกับสภาพถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจตรงกัน ตลอดจนพิจารณาหารือรายละเอียดในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งการสำรวจและแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย การจัดทำฐานข้อมูลอุบัติเหตุ การจัดทำแผนปฏิบัติการความปลอดภัยฯลฯ และติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง