- Details
- Category: ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- Published: Thursday, 11 June 2020 23:57
- Hits: 1781
สตง. เผยผลการตรวจสอบสืบสวนกรณีการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
หลังพบว่าการเบิกจ่ายเงินไม่มีเอกสารหลักฐาน ไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ขาดกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ราชการเกิดความเสียหายเป็นเงิน 12,554,748.98 บาท
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ดำเนินการตรวจสอบสืบสวน พบว่า จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้พื้นที่ในตำบลบางแม่นาง มีน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติประมาณเดือนมกราคม 2555 ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง ได้เบิกจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการรายเดียวกัน โดยจ่ายเป็นเช็ค จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวนเงิน 6,989,065.43 บาท และลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวนเงิน 5,565,683.55 บาท แต่ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเงินขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง
ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง และหัวหน้าส่วนการคลัง ได้ลงนามสั่งจ่ายเงินในเช็คทั้ง 2 ฉบับ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงิน และเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นางที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างให้การสอดคล้องต้องกันว่าการเบิกจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบ การเบิกจ่ายเงิน
ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 จึงได้มีการจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่าย จำนวน 12 รายการ รวมเป็นเงิน 12,673,190.00 บาท เบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างจัดทำอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม ค่าจ้างเหมา ขุดลอกคลองกำจัดวัชพืช ค่าจ้างเหมารถรื้อคันดินหลังน้ำลด ค่าจ้างเหมาลงหินคลุกซ่อมแซมผิวทางจราจร เป็นต้น และส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 แต่เอกสารหลักฐานประกอบ การเบิกจ่ายเงินทั้ง 12 รายการ ไม่สมบูรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นางที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัสดุ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานขอซื้อขอจ้าง หัวหน้าสำนักปลัด ในฐานะหน่วยงานผู้เบิก ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน ฎีกาเบิกจ่ายเงิน และงบรายละเอียดใบสำคัญประกอบฎีกา คณะกรรมการดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกคณะกรรมการดำเนินการจ้างโดยวิธีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบตรวจรับงานจ้าง เอกสารบางรายการมีการลงลายมือชื่อแต่ไม่ครบทุกคน
การเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว เป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้ง ยังปรากฏพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในกรณีดังกล่าวไม่ได้ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สตง. จึงได้แจ้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นาง ให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้กระทำผิด และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า มีการดำเนินการจ้างบริษัทผู้รับจ้างจริงหรือไม่
หากมีการดำเนินการจริง ผู้รับจ้างได้ปฏิบัติงานครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และถ้าพบว่าเป็นความผิดทางอาญา ให้ดำเนินคดีอาญา ดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งดำเนินการทางละเมิดเพื่อให้ผู้กระทำผิดชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัดในโอกาสต่อไป และให้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการให้ สตง. ทราบภายใน 60 วัน ตามนัยมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวเช่นกัน ได้ขอเอกสารหลักฐานประกอบการตรวจสอบจาก สตง. พร้อมทั้งได้สอบถ้อยคำ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 (จังหวัดสระบุรี) ให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด สตง. ได้รับแจ้งผลการดำเนินคดีอาญาจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางแม่นางว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด จำนวน 2 ราย ผู้ประกอบการ จำนวน 1 ราย และได้ออกหมายจับผู้กระทำผิดที่หลบหนีอีกจำนวน 1 ราย ในส่วนของการดำเนินการทางวินัย หน่วยงานต้นสังกัดได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการแล้ว และสำหรับการดำเนินการทางละเมิดอยู่ระหว่างดำเนินการนำเงินแผ่นดินคืนจากผู้ที่กระทำการทุจริต
“จากผลการตรวจสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสามารถนำเงินส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม และเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำเช่นนี้ในโอกาสต่อไป” นายประจักษ์ บุญยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โทร. 0 2618 5755
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ