- Details
- Category: ปปช.
- Published: Friday, 09 May 2014 22:07
- Hits: 4078
วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8563 ข่าวสดรายวัน
เชือดซํ้า'ปู'ปปช.ดาบสอง-คดีข้าว ส่งถอดถอน-ตัดสิทธิ์-ฟันอาญา รบ.ชี้รองนายกรับสนองพรฎ.ได้ กกต.ยื้อ 14 พค.-นัดถกจัดเลือกตั้ง สว.ขู่วอล์กเอาต์-ตั้งปธ.วุฒิส่อวุ่น
เชือด'ปู' นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการป.ป.ช. แถลงข่าวกรณีป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิกเฉยละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว พร้อมส่งวุฒิสภาถอดถอน เมื่อวันที่ 8 พ.ค. |
ป.ป.ช.ดาบสอง ฟัน'ปู'ตามคาด ชี้คดีจำนำข้าวมีมูล จ่อสอบอาญาอีก วิชาขู่ลั่น ถ้า 'นิวัฒน์ธำรง'มีเอี่ยวต้องโดนด้วย อุกฤษย้ำศาลรธน.ไม่มีอำนาจรับคดี แนะครม.รอคำวินิจฉัยกลางก่อน ส่วนประชาชนล่าชื่อถอดถอนได้ เพื่อไทยยก 8 ข้อ โต้คำวินิจฉัยศาลรธน. ชี้ขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ปชป.แถลง 8 ข้อโต้ทันควัน กกต.เลื่อนนัดจัดเลือกตั้ง รอคุยรัฐบาล 14 พ.ค. พงศ์เทพยัน รองนายกฯ รับสนองได้ ครม.แบ่งงานใหม่
'ปู'พักผ่อนอยู่บ้าน
วันที่ 8 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้พ้นสภาพการเป็นนายกฯ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า อดีตนายกฯ พักผ่อนในบ้านพัก ที่บ้านพักภายในซอยโยธินพัฒนา 3 ย่านบึงกุ่ม ส่วนช่วงสายอาจมีภารกิจส่วนตัวกับคณะทำงาน ส่วนบรรยากาศภายในบ้านพักเป็นไปตามปกติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดรักษาความปลอดภัยดูแลเช่นเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดประชุมเพื่อชี้มูลคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
นิวัฒน์ธำรง ทำหน้าที่นายกฯแทน
ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เพื่อมอบหมายและแบ่งงาน โดยมี ครม.ทยอยเข้ามาประชุมอย่างพร้อมเพรียงท่ามกลางการติดตามของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก นายนิวัฒน์ธำรงแจ้งว่าให้รัฐมนตรีบางคนที่พ้นสภาพไปแล้วและได้รับแต่งตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอื่น สามารถลากิจไม่ต้องเข้าร่วมประชุมได้ เพราะยังไม่ชัดเจนเรื่องสถานะที่ยังก้ำกึ่งอยู่เพื่อไม่ให้เกิดคำถามต่างๆ ตามมา โดยที่ประชุมมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำหนังสือสอบถามความชัดเจนเรื่องนี้ต่อไป และยังเห็นชอบแต่งตั้งนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เป็นเลขาธิการนายกฯ และพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบต่อไป
ให้ 4 รองนายกฯพัก-รอตีความ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ แถลงผลประชุมว่า ครม.พิจารณาเรื่องการกำกับการบริหารราชการและการสั่งและการปฏิบัติราชการ เนื่องจากมีรองนายกฯ 4 คนที่ยังมีข้อสงสัยว่าพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณา รวมถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์จะคงอยู่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหมอยู่หรือไม่ เพราะคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัดเจน
นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ระหว่างนี้เพื่อไม่ให้การบริหารแผ่นดินติดขัด จึงมอบหมายงานรองนายกฯ ที่เหลือ 3 คนดูแลในส่วนของรองนายกฯ 4 คน ดังนี้ ให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมช.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ดูแลงานในส่วนของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รวมทั้งงานของ รมว.กลาโหม ส่วนนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ดูแลงานในส่วนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ ดูแลงานในส่วน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รวมทั้งงานในส่วนของศอ.รส. ขณะที่กระทรวงที่ไม่มีรมช. มอบหมายให้รัฐมนตรีกำกับดูแลตามที่ได้มีการแบ่งงานกันในที่ประชุมเป็นผู้ดูแล เพื่อให้การบริหารราชการ การสั่งและการปฏิบัติราชการในส่วนต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ยันรองนายกฯทูลเกล้าฯแทนได้
เมื่อถามถึงกระแสวิจารณ์รองนายกฯ ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ไม่สามารถลงนามรับสนองพระบรมราชโองการหรือทูลเกล้าฯ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะรองนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกฯ สามารถทำหน้าที่แทนนายกฯ ได้ทุกประการ เหมือนกรณีที่นายกฯ ยังอยู่ในตำแหน่งหรือเดินทางไปต่างประเทศ หรือไม่สบาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินระบุผู้ที่ทำหน้าที่แทนนายกฯ ทุกอย่างรวมทั้งการลงนามสนองพระบรมราชโองการรวมทั้งการนำเรื่องต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ที่ผ่านมาตนก็ได้ลงนามสนองพระบรมราชโองการในหลายเรื่องมาโดยตลอด ดังนั้น เรื่องนี้ไม่มีปัญหา รวมทั้งนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยปฏิบัติเช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) เปิดเผยว่า กรณีรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกฯ จะสามารถยื่นทูลเกล้าฯ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.... ได้หรือไม่ ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการพูดถึง ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักกฎหมาย และสถานการณ์บ้านเมือง และตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ที่รักษาราชการแทน นายกฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ได้ เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเมื่อมีการยุบสภา ครม.ยังรักษาการแทนจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ได้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินในทุกเรื่องดำเนินต่อไปได้ ไม่ติดขัด
จารุพงศ์ห่วงพฤติกรรมกกต.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุม ครม.นัดพิเศษถึงการหารือระหว่าง กกต. กับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.ว่า กกต.ยังไม่ได้แจ้งเข้ามา แต่ ครม.เห็นว่าควรเร่งรัดจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องถาม กกต. รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือ ดังนั้นอย่าเบี่ยงเบนให้ความไม่พร้อมมาอยู่กับรัฐบาล เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. ยอมรับว่าหากการเลือกตั้งต้องเลื่อนไปจะมีผลกระทบ เพราะรัฐบาลทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ จึงไม่อยากให้ล่าช้า และถ้าเลือกตั้งไม่ทันในวันที่ 20 ก.ค. กกต.ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาและความตั้งใจจริงของ กกต.และสถานการณ์ไม่ได้เกิดจากรัฐบาล
"คิดว่าการเลือกตั้งคงไม่มี เพราะดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งที่สมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ.แล้ว พอจะให้เลือกตั้งอีกก็ไปเป็นวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งเกินกว่าที่ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเมื่อยุบสภาแล้วต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน แต่ก็ไม่ทำ" นายจารุพงศ์กล่าว
พงศ์เทพจี้เร่งจัดเลือกตั้ง
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกกต.ว่ารัฐบาลพร้อมหารือทุกวันตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. รวมทั้งวันหยุดราชการ เพื่อให้สำนักงานราชเลขาธิการมีเวลานำร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ขึ้นกราบบังคมทูลก็ควรหารืออย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ให้สอดคล้องกับที่ กกต.ระบุเองว่า ต้องการให้ร่างฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งจะอยู่ในกรอบเวลา 60 วัน ตามกรอบเวลากำหนดวันเลือกตั้งที่ กกต.เสนอคือวันที่ 20 ก.ค. หากล่าช้าทางสำนักราชเลขาธิการจะเหลือเวลาในการพิจารณาน้อยลง เชื่อว่า กกต.จะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก กกต.มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง
นายพงศ์เทพยังกล่าวถึงกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือให้รัฐบาลชดใช้เงินที่ใช้จัดการเลือกตั้ง 3,800 ล้านบาท ว่า แปลกใจว่าปัญหาการเลือกตั้งเกิดจากใคร ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามทำให้เกิดเลือกตั้งเดินไปได้ ปัญหาเกิดจากใครเชื่อว่าพี่น้องประชาชนทราบดี
เด็จพี่สวนสตง.ให้ไปฟ้องเทือก
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง สตง.ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกฯ ให้รัฐบาลรับผิดชอบงบฯ เลือกตั้ง 3 พันกว่าล้านบาทว่า มองว่า น.ส.ประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการฯ รักษาราชการแทนผู้ว่าการ สตง. มีเจตนาพิเศษหรือไม่ เพราะผู้ที่สร้างความเสียหายคือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และพวก และพื้นที่ที่เสียหายจากการเลือกตั้งที่ร้องศาล ก็เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และอำนาจจัดการเลือกตั้งเป็นของ กกต. จึงเป็นการกล่าวหาผิดฝาผิดตัว
"ขอให้ น.ส.ประพีร์บทบทวนอย่าโยนบาปให้รัฐบาล เพราะไม่ได้มีอำนาจจัดเลือกตั้งและไม่ได้ขัดขวางการเลือกตั้งด้วย สตง.ควรฟ้องร้องเอาผิดนายสุเทพ และแกนนำ กปปส.มากกว่า และควรทำหนังสือไปยัง กกต.แทน อย่าเลือกปฏิบัติ เพราะอาจถูกฟ้องกลับข้อหาหมิ่นประมาทได้" นายพร้อมพงศ์กล่าว
กกต.นัด 14 พค.-ถกออกพรฎ.
ที่สำนักงาน กกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. แถลงภายหลังการประชุม กกต. ว่า ที่ประชุมพิจารณากรณีนายพงศ์เทพประสานจะขอหารือเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. กกต.ทั้ง 5 คนติดภารกิจ จึงจะเชิญมาที่สำนักงาน กกต. เวลา 14.00 น. วันที่ 14 พ.ค. เพื่อหารือถึงปัญหาข้อกฎหมายว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ฎ. และข้อความในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.ฏ. ที่ กกต.เสนอให้ประธาน กกต.ประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป หากมีเหตุจำเป็นหรือร้ายแรง ซึ่งยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ระหว่าง กกต.และคณะกรรมการกฤษฎีกา หากได้ข้อยุติ ก็อาจทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งได้เลย ซึ่งจะไม่กระทบต่อการกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. แต่ถ้าไม่ได้ข้อยุติกำหนดวันอาจเลื่อนไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะชัดเจนวันที่ 14 พ.ค.
นายภุชงค์กล่าวต่อว่า ยืนยัน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดเลือกตั้งและต้องเชิญทุกฝ่ายมาหารือเพื่อความรอบคอบ ส่วนที่ สตง.ทำหนังสือถึงรัฐบาลว่าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. และการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะต้องเรียบร้อย หากไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่น รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ วันนี้ยังอยู่ในโหมดของการเลือกตั้ง กกต.ทั้ง 5 เตรียมการอยู่แล้วแต่ประเด็นข้อกฎหมายยังคงต้องศึกษาอยู่ หากเรียบร้อยจะทยอยประกาศบังคับใช้
รับสนอง - สำเนาพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการ ซึ่งนาย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนอง โดยนายพงศ์เทพแถลงยืนยันว่ารักษาการนายกฯ สามารถลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้ |
ชาวนาเร่งจัดกาบัตร-จี้ม็อบยุติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกันนี้ที่สำนักงานกกต. กลุ่มสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย นำโดยนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคม นำชาวนามายื่นหนังสือถึงนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ผ่านน.ส. สุรณีย์ ผลทวี ผอ.สำนักเลขานุการกกต. เพื่อเสนอแผนปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง และเรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งโดยเร็วให้มีรัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหาให้กับชาวนา พร้อมเรียกร้องให้ กกต.เชิญทุกพรรคและทุกกลุ่มลงสัตยาบันก่อนจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ถึงนายสุเทพ ให้รับผิดชอบต่อการที่ชาวนาไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว และให้ยุติการชุมนุมภายใน 5 วัน ไม่เช่นนั้นชาวนาทั่วประเทศจะรวมพลมาหานายสุเทพ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เวลา 12.20 น. กลุ่มชาวนาประมาณ 50 คน นำโดยนายทวีศักดิ์ วีระศักดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายชาวนาไทย และนายอามีน ทรัพย์มั่งคั่ง ที่ปรึกษาสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย มายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ ผ่านนายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรค ปชป. เรียกร้องให้ ปชป.ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลชุดใหม่ จะได้มีอำนาจอนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว จากนั้นกลุ่มเกษตรกรได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อทวงถามเงินจำนำข้าวต่อไป
อุดรฯล่าชื่อถอดถอนศาลรธน.
ที่ จ.เชียงใหม่ เวลา 13.30 น. กลุ่มเยาวชนไทยปกป้องประชาธิปไตย ประมาณ 25 คน นำโดยนายอรรถพล พรมจันทร์ ประธานกลุ่ม เดินทางมายังศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ถ.โชตนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้น.ส.ยิ่งลักษณ์และครม.พ้นจากตำแหน่ง พร้อมชูป้าย "ยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด" ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และได้อ่านบทกลอนฝากศาลปกครอง ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ ในการตัดสินคดีความต่างๆ ให้เกิดความเท่าเทียม โดยมีนายชีพ จุฬาคำ ผอ.สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นตัวแทนมาพบ จากนั้นกลุ่มเยาวชนฯ เดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ
ที่ จ.อุดรธานี อดีตส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายขจิตร ชัยนิคม นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ นางเทียบจุฑา ขาวขำ และนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ร่วมกันจัดเวทีแถลงการณ์ "ปกป้องยิ่งลักษณ์ นักสู้ประชาธิปไตย" เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 พ.ค. โดยมีเนื้อหาไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากวินิจฉัยโดยไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ยังเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ยึดอำนาจอัยการสูงสุด ส.ส.ออกกฎหมายไม่ได้ พิจารณาไม่ให้ผ่านเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือว่าศาลยึดอำนาจรัฐบาล ดังนั้น จะหยุดการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยล่ารายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามขบวนการกฎหมายต่อไป
อุกฤษแนะครม.รอคำวินิจฉัยกลาง
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และอดีตประธานรัฐสภา ออกแถลงการณ์ในนามประธาน คอ.นธ. เรื่อง "แนวทางปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ และรัฐมนตรีอื่นที่ร่วมประชุมและมีมติกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการ สมช.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 (7)" โดยระบุตอนหนึ่งว่า เคยทำจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชนแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อศาลวินิจฉัยคดีแล้ว ขอเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าจะดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลต่อไปอย่างไร เพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ส่งเสริมให้ใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาค และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศ นำไปสู่สังคมที่มีความเป็นปกติสุข
1.ก่อนที่ ครม.จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เบื้องต้นควรรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ ฉบับที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน
ส่งกฤษฎีกาชี้ขัด ม.216 หรือไม่
2.เมื่อคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ครม.ควรนำคำวินิจฉัยนั้นหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาและวินิจฉัยตามหลักนิติธรรมหรือไม่ เพียงใด และคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐหรือไม่ เนื่องจากตุลาการฯ ที่เป็นองค์คณะพิจารณาและทำคำวินิจฉัยเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย ที่สำคัญการวินิจฉัยคดีดังกล่าวกระทำโดยไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรองรับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก ซึ่งการที่ศาลไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว คำวินิจฉัยย่อมมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ
3.ระหว่างที่รอคำวินิจฉัยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้นายกฯ และรัฐมนตรีทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการบริหารราชการโดยไม่ให้มีช่องว่างแห่งการใช้อำนาจมหาชน
ส่วนประชาชนไปล่าชื่อถอดได้
4.ให้ กกต.ดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.โดยเร็ว เพื่อให้ได้มาซึ่ง ครม.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารราชการต่อไป อันเป็นการยุติบทบาทหรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ชุดเดิมตามที่หลายฝ่ายต้องการ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งดังกล่าวควรมีการทำประชามติในคราวเดียวกันว่า ครม.ชุดเดิมจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
5.สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเห็นว่าการวินิจฉัยคดีที่ผ่านมาของศาลได้กระทำไปโดยไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรองรับ ตามมาตรา 216 วรรคหก อันเป็นการจงใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย สามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ขอให้ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา 164
ชัชชาติปลื้ม'ปู'นายกฯในดวงใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวยกย่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้เป็นนายกฯ ในดวงใจตลอดไป มีเนื้อหาระบุว่า มีโอกาสร่วมงานกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ให้โอกาส ทาบทามและนำชื่อกราบบังคมทูลฯ เป็นรัฐมนตรี ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกัน นายกฯ เป็นผู้นำที่เก่ง เข้มแข็ง จับประเด็นเร็ว ให้ความสำคัญกับงานของกระทรวงคมนาคม มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าและร่วมแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง งานต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมทำไม่ว่าโครงการระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ การลงไปแก้ปัญหาต่างๆ อย่างใกล้ชิด สะท้อนนโยบายที่นายกฯ ได้มอบไว้
"มีบางครั้งที่นายกฯ ตำหนิว่าผมทำงานช้า ทำให้เราต้องเร่งทำงานให้หนักขึ้น นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ที่ให้เกียรติผู้ร่วมงาน เรียกผมติดปาก ดร.ชัชชาติ ตอนช่วงที่มีปัญหาเรื่องการชุมนุมและนำไปสู่การยุบสภา ผมได้ตามไปตรวจราชการต่างจังหวัดหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่จ.เชียงใหม่ ท่านพูดกับผมว่า ดร.ชัชชาติ เราทำงานขอให้ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ปูไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง แต่เราต้องทำตามระเบียบ หลักการ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วประเทศจะเดินต่อไม่ได้ ท่านยังคงเป็นนายกฯในใจผมตลอดไป" นายชัชชาติ ระบุ
'ปึ้ง'งงคำวินิจฉัยศาลรธน.
ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า คำตัดสินของศาล รธน.ที่ให้ตนพ้นจากตำแหน่งพร้อมนายกฯ กรณีเข้าร่วมประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 54 ตอนนั้นตนเป็นแค่รมว.ต่างประเทศ ถ้าจะพ้นก็พ้นจาก รมว.ต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว เพราะตนเป็นรองนายกฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 55 ศาล รธน.ควรชี้ให้ชัด จะมาเทียบเคียงกับคดีอาญาไม่ได้ ที่สำคัญหากตนไม่ปฏิบัติหน้าที่แล้วไปขึ้นเวทีหาเสียงช่วงใกล้เลือกตั้ง จะมีคนกล่าวหาตนว่าใช้อำนาจหน้าที่ไปหาเสียงก็ผิดกฎหมาย หรืออาจถูกกล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตนโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งนี้ต้องถาม ครม.ว่าได้ดูคำวินิจฉัยแล้วหรือยัง ตนยังอยู่ในตำแหน่งรองนายกฯ ครม.จะมาตัดสินว่าตนไม่อยู่ใน ครม.ไม่ได้
เมื่อถามว่า ยืนยันจะทำหน้าที่รองนายกฯ ต่อไปใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนอ่านกฎหมายแล้วมั่นใจว่าต้องทำหน้าที่รองนายกฯ ต่อไป ต้องดูแลหน่วยงานในกำกับ ซึ่งนายกฯ ก็เหมือนกันเพราะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น รมว.กลาโหมอีกตำแหน่งในภายหลัง ดังนั้น ทั้งหมดที่โดน 10 คน มี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที คนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ
โวยกล้าชี้ก็ควรระบุให้ชัด
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทำงานต่อจะนำไปสู่การฟ้องร้องหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า อยากให้ไปฟ้องเดี๋ยวนี้เลย เพราะต้องการรู้ความชัดเจน และจะได้ชี้แจงด้วยเพราะที่ศาลตัดสินนั้นตนไม่มีโอกาสชี้แจง เมื่อกล้าตัดสินแล้วก็ควรระบุให้ชัดเจน สังคมจะได้รู้ว่าความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน มีบรรทัดฐานอย่างไร
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศพม่า ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ว่า นายกฯ ต้องไปโดยตำแหน่ง แต่ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะอนุมัติให้ตนไปในฐานะตัวแทนของนายกฯ ได้หรือไม่
"การตัดสินคดีต่างๆ วันนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะในไทย ต่างชาติเห็นหมดกับสิ่งที่เรียกว่าปฏิวัติโดยขบวนการยุติธรรม สิ่งนี้จะทำให้ประเทศเสื่อมถอย ซึ่งอันตรายที่สุด ควรมีการปฏิรูปโดยเร็ว หากมีการเลือกตั้ง สิ่งแรกที่จะเสนอให้พรรคดำเนินการคือการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ควบคู่กับการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบบริหารทั้งหมด ปราบปรามคอร์รัปชั่นทั้งภาครัฐ และเอกชน บ้านเมืองจึงจะใสสะอาด" นายสุรพงศ์กล่าว
พท.ยก 8 ข้อโต้คำวินิจฉัย
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรค นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมออกแถลงการณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า พรรคเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการทางกฎหมายหลายประการ ดังนี้ 1.การกล่าวหาว่ารัฐมนตรีคนใดกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) นั้น ต้องยื่นคำร้องกล่าวหารัฐมนตรีคนนั้นเป็นคนคนไป หรือถ้าเห็นว่าร่วมกันทำผิดก็ต้องกล่าวหาร่วมกันมาในคำร้องด้วย คดีนี้ในคำร้องไม่มีการกล่าวหารัฐมนตรีคนอื่น จึงถือว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นเป็นบุคคลนอกคดีและไม่มีโอกาสต่อสู้คดีในศาล ดังนั้น ศาลจะวินิจฉัยให้รัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสภาพไม่ได้
ชี้สร้างปัญหาการบริหารราชการ
2.การวินิจฉัยรัฐมนตรีคนอื่นนอกเหนือจากนายกฯ โดยไม่มีข้อกล่าวหาและไม่เปิดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลนั้น เป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ และนอกเหนืออำนาจ ขัดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยยังมีปัญหาตามมาว่ากรณีรัฐมนตรีที่ร่วมลงมติบางคนถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งแล้วในภายหลังและไปอยู่ในตำแหน่งอื่น ย่อมไม่พ้นไปตามคำวินิจฉัยของศาล เพราะตำแหน่งเดิมหมดสิ้นไปแล้ว การทำหน้าที่ต่างกรรมต่างวาระ
3.การที่ศาลอาศัยผลของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยว่าการโอนย้ายนายถวิลใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มาวินิจฉัยว่าเป็นการใช้สถานะนายกฯ ก้าวก่ายแทรกแซงแต่งตั้งข้าราชการนั้น เป็นการตีความกฎหมายคลาดเคลื่อน เพราะการจะถือว่าก้าวก่ายแทรกแซงนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายแล้วเข้าไปทำ แต่ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลชัดเจนว่านายกฯ มีอำนาจตามกฎหมายโอนย้ายแต่งตั้งข้าราชการได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาต่อการบริหารราชการ ต่อไปเมื่อมีการโอนย้ายข้าราชการ หากผู้ถูกย้ายไม่พอใจจะอาศัยช่องทางยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ทั้งที่เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ
ศร.กระทำขัดรธน.เสียเอง
4.การที่ศาลอาศัยเหตุผลเรื่องกระบวนการโอนย้ายนายถวิลว่าดำเนินการเร่งรีบ เพื่อเป็นเหตุวินิจฉัยว่าใช้สถานะนายกฯ ก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการนั้น เสมือนเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากศาลปกครองมีคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า กระบวนการโอนนายถวิลถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้จึงมีการอ้างตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยคดีเป็นพยานแต่ศาลรัฐธรรม นูญกลับไม่อนุญาต อ้างว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว
5.การที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายโอนย้ายแต่งตั้งข้าราชการ ถือเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 268 โดยไม่ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 266 การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกฯ กระทำการต้องห้ามเช่นนี้ เท่ากับข้อยกเว้นดังกล่าวไร้สภาพบังคับต่อไปและถือว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมเสียเอง
สงสัยมีคนรู้ผลล่วงหน้า
6.กรณีนายกฯ และ ครม.ใช้อำนาจตามกฎหมายโอนย้ายข้าราชการนั้นทำกันมาตลอดเพราะเป็นการบริหารงานบุคคลภาครัฐ แม้หลายเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าการโอนย้ายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องกระบวนการทางปกครอง ไม่เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ศาลวินิจฉัยและดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำกับศาลปกครอง จึงน่าสงสัยว่ามีเหตุผลการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
7.มีข้อน่าสงสัยว่าเหตุใดนายสุเทพ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ยื่นคำร้อง จึงกล่าวในหลายเวทีถึงความมั่นใจในผลของคำวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น รวมถึงนายอภิสิทธิ์ที่เรียกร้องให้นายกฯ ตัดสินใจรับข้อเสนอของตนก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย คนพวกนี้แสดงออกเสมือนรู้ผลการวินิจฉัยล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร
หวังให้ยุติ-เห็นแก่บ้านเมือง
8.พรรคเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นมุ่งหวังแย่งชิงอำนาจการเมือง โดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกรัฐธรรมนูญ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน อาศัยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระบางองค์กรเป็นเครื่องมือ หากยังไม่ได้ผลก็จะเคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้ทหารทำรัฐประหาร หรือร่วมกับทหารบางกลุ่มทำการรัฐประหาร อาศัยประชาชนเป็นผู้ออกหน้ายึดหน่วยงานราชการต่างๆ ให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารและสั่งการได้ โดยมีทหารบางกลุ่มหนุนหลังเพื่อสุดท้ายจะอ้างได้ว่าเป็นการปฏิวัติประชาชน จากนั้นจะเสนอตั้งนายกฯ และ ครม.ตามที่เตรียมไว้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดหายนะต่อบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง มีประชาชนออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า พรรคขอเรียกร้องให้บุคคลและกลุ่มบุคคลทั้งที่แสดงออกโดยเปิดเผยและที่แอบอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ได้สำนึกและเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความเดือดร้อนของคนไทยทั้งประเทศ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาต่างชาติ ยุติการกระทำและร่วมกันเดินหน้าจัดเลือกตั้งให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ เพื่อได้รัฐบาลที่มาจากความยินยอมของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของคนใด หรือกลุ่มใดเฉพาะ
จี้เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราจะโต้แย้งและคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลเพราะไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือองค์กรตามรัฐธรรมนูญดำเนินการด้วยความยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน เช่น กรณีมีผู้สื่อข่าวต่างชาติถูกทำร้ายบริเวณศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พ.ค. อยากถามศาล รธน.ว่ายังยอมรับอยู่หรือไม่ว่ากลุ่มบุคคลที่ชุมนุมขณะนี้ดำเนินการและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
นายคณิน บุญสุวรรณ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติวินิจฉัย องค์คณะตุลาการต้องมีคำวินิจฉัยส่วนตนก่อนและต้องเปิดเผยด้วย แต่ศาลยังไม่เปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนซึ่งเป็นแบบนี้มาหลายครั้ง จึงอยากถามตุลาการฯ ว่ามีคำวินิจฉัยส่วนตนหรือไม่ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในนามของประชาชนขอทวงคำวินิจฉัยส่วนตน เพราะเวลาล่วงเลยมาถึง 24 ชั่วโมงแล้ว
แฉแผนสร้างสุญญากาศ
นายนพดล ปัทมะ คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้รับแจ้งจากข้าราชการระดับสูงว่าขณะนี้มีการสมคบคิดโดยมือที่มองไม่เห็นพยายามเร่งรัดให้ ครม.ที่เหลืออยู่พ้นสภาพไปพร้อมนายกฯ เพื่อให้เกิดสุญญากาศการเมือง เปิดทางตั้งนายกฯ มาตรา 7 จึงขอให้ประชาชนจับตาขบวนการดังกล่าวว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ เชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะก้าวไปสู่เส้นทางเผด็จการและความขัดแย้ง หรือเส้นทางสู่เสรีภาพประชาธิปไตย หวังว่าการวินิจฉัยข้อกฎหมายใดๆ ต้องเที่ยงธรรม โดยเฉพาะการชี้มูลของป.ป.ช. ต้องยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและข้อเท็จจริงในสำนวนอย่างเคร่งครัด ไม่ซ้ำเติมความขัดแย้งจนเป็นเงื่อนไขนำไปสู่กลียุค หวังว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะได้รับความเป็นธรรม
เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณเห็นว่าคำตัดสินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยนั้น ไม่มีโอกาสชี้แจงหรือโต้แย้งเลย ส่วนการโยกย้ายเลขาฯ สมช.นั้น พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำอย่างถูกต้องแล้ว นอกจากนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้เป็นผู้ย้ายด้วย แต่เป็นนางกฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณคงโทรศัพท์พูดคุย รวมทั้งให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ตามประสาพี่น้อง
ปชป.แถลงโต้เพื่อไทย 8 ข้อ
ที่พรรค ปชป. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. แถลงว่า ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้และไม่ควรปลุกระดมให้คนคัดค้านคำวินิจฉัย เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรง
นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย 8 ข้อมีลักษณะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลและกล่าวหาว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดกับปชป. จึงขอตอบโต้ใน 8 ข้อเช่นกัน 1.พรรคสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2.สนับสนุนให้แก้ปัญหาการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน 3.สนับสนุนการเลือกตั้งสุจริต เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ 4.คำวินิจฉัยของศาลไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดแต่รัฐบาลหลงระเริงเหลิงอำนาจ ยึดหลักกู ไม่ยึดหลักกฎหมาย 5.ขอให้พรรคเพื่อไทยหยุดใส่ร้ายองค์กรอิสระ 6.ขอให้ยอมรับคำวินิจฉัยของทุกองค์กรอย่างมีสติ 7.เลิกปลุกระดมมวลชน และ 8.เลิกผลักดันการเลือกตั้ง เพราะจะสูญเปล่าเหมือนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.
มาร์คโวยเดินหน้าเลือกตั้ง 20 ก.ค.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ว่า จะเห็นว่าแม้นายกฯ จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยยังท่องคาถาไปเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. ล่าสุด สตง.ให้รัฐบาลชดใช้เงิน 3,800 ล้านบาท ในการจัดเลือกตั้งเป็นโมฆะเมื่อวันที่ 2 ก.พ. เป็นการเตือนว่าถ้าคิดจะดึงดันผลักดันการเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าจะไม่เรียบร้อย ก็ต้องเตรียมรับผิดชอบไว้ด้วย ขณะเดียวกัน กกต.ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงจัดเลือกตั้ง แต่ต้องจัดเลือกตั้งให้สำเร็จตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงการณ์อำลาตำแหน่ง ตนฟังแล้วทำตัวไม่ถูก ตอบยากว่าจะตกใจ หัวเราะหรือร้องไห้ เพราะหลายสิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าไม่ได้ทำนั้น ความจริงได้ทำ แต่สิ่งที่บอกว่าได้ทำนั้น ความจริงไม่ได้ทำ ส่วนการตั้งนายนิวัฒน์ธำรงมาปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ นั้น ถึงเวลาจริงๆ ตำแหน่งสำคัญทางการเมืองก็หนีไม่พ้นคนในครอบครัวหรือธุรกิจตัวเอง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ปชป. ให้สัมภาษณ์หลังป.ป.ช.มีมติถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า พอใจคำตัดสิน แต่สิ่งที่ต้องลุ้นต่อไปคือคดีทุจริต ผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 หากมีความผิดจะถูกส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์โดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ครม.ที่ร่วมลงมติก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ขึ้นอยู่กับป.ป.ช.จะเอา ครม.เข้าไปเกี่ยวด้วยหรือไม่
ทส.ยัน'ป๋า'ไม่เคยเรียก'วิชา'พบ
พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.จะเข้าพบพล.อ.เปรมว่า ไม่มี ยืนยันว่าไม่มีใครติดต่อขอเข้าพบพล.อ.เปรม เมื่อถามถึงแกนนำรัฐบาลระบุมีสัญญาณจากมือที่มองไม่เห็นส่งถึงป.ป.ช.ให้ถอนยวง ครม.ที่เหลืออยู่ให้หมดเพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองว่า ไม่มี คิดกันไปเอง เอาเรื่องที่ไหนมาคิด
เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมด้วยนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. ร่วมกันแถลงถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.
ปปช.ชี้คดี'ปู'มีมูล-ส่งถอดถอน
นายปานเทพกล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวนคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวและมีเหตุควรสงสัยว่านายกฯ เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่นั้น ป.ป.ช.ทั้งคณะได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติ 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าพฤติการณ์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์มีมูล ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติตามพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) เป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง
นายประสาท กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงตั้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะไต่สวน มีตนและนายวิชาเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ป.ป.ช.ใช้ความรอบคอบมาก เปิดโอกาสให้เต็มที่ โปร่งใสและเที่ยงธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาและปฏิบัติตามระเบียบไต่สวนข้อเท็จจริงตามประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2555 ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาขอสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปากใหม่ ซึ่งป.ป.ช.เห็นความสำคัญว่าขณะนี้กำลังไต่สวนเรื่องพฤติการณ์ส่อ จงใจไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย ดังนั้น เพื่อประโยชน์ผู้ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.ก็ไม่ตัดพยานทั้ง 6 ปาก จึงนำพยานไปรวมไว้พิจารณากรณีคดีอาญาต่อไป
เร่งสอบเอาผิดอาญาต่ออีก
นายวิชา กล่าวว่า แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริต จึงให้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการ คาดว่าจะส่งสำนวนไปที่วุฒิสภาได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนคดีอาญานั้น ป.ป.ช.มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ
นายวิชา กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าป.ป.ช.รับลูกมาลงมติเพื่อดำเนินการกับ ครม.ทั้งชุดนั้น ไม่เป็นความจริง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีไต่สวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยนายนิวัฒน์ธำรงเป็นเพียงพยานในคดีนี้เท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องในคดีอาญาที่กำลังไต่สวนหรือไม่นั้นต้องไต่สวนต่อไป ทั้งนี้ การไต่สวนคดีอาญานั้นป.ป.ช.ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ แต่จะทำงานด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม
วิชายันคำตัดสินไม่มีธง
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพนายกฯ ไปแล้ว เหตุใดถึงต้องส่งให้วุฒิสภาถอดถอน นายวิชากล่าวว่า คดีนี้เป็นกรณีถอดถอนออกจากตำแหน่ง มีโทษเพิกถอนสิทธิ์การเมือง 5 ปีด้วย ซึ่งเหมือนกับคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของวุฒิสภาจะดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายกฯ ขอให้ป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกข้าวว่าไม่มีข้าวหายจากโกดัง เพื่อยืนยันว่าโครงการไม่ได้ขาดทุน นายวิชากล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ได้พิจารณาว่าข้าวหายไปจากสต๊อกหรือไม่ แต่พิจารณาถึงการขาดทุนสะสมในโครงการที่ไม่มีการจำหน่ายข้าวออกไปจนเกิดการขาดทุนสะสมสร้างความเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนการพิจารณาให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดทุนในโครงการกว่า 3 แสนล้านบาทนั้น ป.ป.ช.จะนำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป ยืนยันว่าป.ป.ช.ตัดสินตามข้อเท็จจริง ไม่มีธง และไม่ได้รับลูกต่อจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ พ้นสภาพรัฐมนตรี
ทนายให้'ปู'แจงในวุฒิสภาต่อ
นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ก่อนที่ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดโครงการจำนำข้าว ทีมทนายนายกฯ ได้ไปยื่นหนังสือขอให้ป.ป.ช.ไต่สวนพยานเพิ่มอีก 6 ปาก เป็นพยานใหม่ทั้งหมด ไม่เกี่ยวกับพยานที่เคยขอให้สอบก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นข้าราชการประจำ 5 ปาก อาทิ อธิบดีและรองอธิบดีกรมการค้าภายใน และอีก 1 ปาก เป็นพ่อค้าข้าว เพื่อนำมาหักล้างข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวที่ว่าโครงการขาดทุน รวมถึงชี้ให้เห็นว่าการกำหนดราคาข้าว 15,000 บาทต่อตันไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ ที่ผ่านมาป.ป.ช.ไม่ยอมฟังพยานที่เป็นนักการเมือง จึงเปลี่ยนเป็นพยานที่เป็นข้าราชการและพ่อค้า เผื่อป.ป.ช.จะให้ฟังคำชี้แจงบ้าง
"แต่เมื่อป.ป.ช.ไม่รับฟัง และลงมติชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีถอดถอนแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเตรียมหลักฐานไปชี้แจงในชั้นวุฒิสภาต่อไป" นายพิชิตกล่าว
สว.ค้านเร่งเลือกปธ.วุฒิ-ชี้ผิดกม.
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 พ.ค. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 9 พ.ค. เวลา 13.30 น.เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือการให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตนและส.ว.กลุ่มหนึ่งมีแนวโน้มจะออกจากห้องประชุมหากที่ประชุมวุฒิสภาเดินหน้าเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา เพราะมองว่าขัดพ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เสี่ยงทำผิดรัฐธรรมนูญได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้สนใจลงสมัคร 3 คน ได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา และนายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี โดยนายสุรชัยมีคะแนนเสียงจากกลุ่มส.ว.สรรหา ส.ว.เลือกตั้งสายพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งน่าจะอยู่ที่ 70-80 คะแนน ส่วนพล.ต.อ.จงรักมีเสียงสนับสนุนอยู่ราว 50-60 เสียง โดยมีนายจองชัยเป็นตัวแบ่งแต้มไปราว 10-20 เสียง
ที่พรรคเพื่อไทย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงวุฒิสภาประชุมสมัยวิสามัญ และจะมีญัตติเห็นชอบให้เลือกประธานวุฒิสภาในวันที่ 9 พ.ค. ว่า การเลือกประธานวุฒิสภาทั้งที่ยังไม่เปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ เป็นการกระทำที่นอกเหนือและขัดต่อพ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภา และรัฐธรรมนูญชัดเจน ดังนั้น ตนเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายสุรชัยจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวุฒิสภา เพื่อให้ศาลสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว นอกจากนี้จะยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.เอาผิดส.ว.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย เพราะถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ประชุมโดยมิชอบ