- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Monday, 27 November 2017 22:44
- Hits: 13021
สภาพัฒน์ เตรียมชงร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้-ชายแดนใต้ในครม.สัญจร 28 พ.ย.นี้
รายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่ จ.สงขลา (ครม.สัญจร) ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เตรียมเสนอ ร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ และร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน
โดยร่างทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ตามกรอบแนวคิด ภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่มี ศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคทั้งพื้นที่ตอนในและชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน รวมทั้งมีระบบนิเวศชายฝั่งที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติและเหมาะ กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในขณะที่การผลิตภาคเกษตร ได้แก่ ยางพาราและ ปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปที่สำคัญของประเทศยังเป็นแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ ภาคใต้มีความได้เปรียบด้านสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นทาง การค้าโลก สามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ รวมทั้งภูมิภาค เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก มีเป้าหมาย ให้ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับภูมิภาคอื่นของโลก
ดังนั้น การพัฒนาภาคใต้ควรพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อรักษา ความมีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และแปรรูปภาคเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน กับภูมิภาคต่างๆ ของโลก
สำหรับ ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1. พัฒนาการท่องเที่ยวของภาคให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คุณภาพชั้นนำของโลก 2. พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว และ 4. การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก
ทั้งนี้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว คุณภาพชั้นนำของโลก ประกอบด้วย 1.ยกระดับคุณภาพบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาค เช่น ภูเก็ต สมุย พะงัน และหลีเป๊ะ เป็นต้น โดยคำนึงความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity)อย่างยั่งยืน 2.พัฒนาและสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเรือสำราญ และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อการ ท่องเที่ยวของภาคไปสู่แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก
3.พัฒนาเมืองท่องเที่ยวหลัก (ภูเก็ต) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และมีระบบขนส่งมวลชน (Monorail)เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการนักท่องเที่ยว 4.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนบกบริเวณตอนในของภาค อาทิ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และแหล่งท่องเที่ยวชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของภาค และเขต The Royal Coast ของภาคกลาง
5.พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวสำคัญของ ภาค อาทิ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและ สปา (ระนอง กระบี่ สตูล สุราษฎร์ฯ และพัทลุง) ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีฯ เมืองเก่า จ.สงขลา และ ตะกั่วป่า จ.พังงา) และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Satun Geo Park) การท่องเที่ยวผจญภัย (พัทลุง นครศรีฯ และสุราษฎร์ฯ) และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และ 6.ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เข้มแข็งและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เพื่อเป็นแหล่ง สร้างอาชีพใหม่และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ ประกอบด้วย 1.พัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราหาดใหญ่–สะเดา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City)ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน 2.พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีแบบครบวงจร จ.กระบี่ สุราษฎร์ฯ และชุมพร เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของภาค 3.พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพ และแปรผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร เวชสำอางค์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปภาคเกษตร
แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน 2.ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรกร มืออาชีพ (Smart Farmer) 3.ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของภาค เช่น ข้าว ไม้ผล และปศุสัตว์ ให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงและ ได้มาตรฐานส่งออก 4.ยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชายฝั่งให้เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานสุขอนามัยและเป็นไปตามกฎกติกาสากล
แผนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก ประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาทิ พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสายชุมพร –สุราษฎร์–นครศรีฯ–สงขลา เชื่อมโยงกับสาย The Royal Coast ของภาคกลาง 2.พัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งอันดามันและอ่าวไทย (สายท่านุ่น–พังงา–พุนพิน –ดอนสัก) (สายระนอง –ชุมพร) (สายระนอง –พังงา –กระบี่ –ตรัง) 3.พัฒนาและสนับสนุนท่าเรือสำราญในจังหวัดภูเก็ตให้เป็นท่าเรือหลัก (Homeport)ของโลก รวมทั้งพัฒนาท่าเรือแวะพัก (Port of Call)และท่าเรือมารีน่าให้มีมาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพของภาค (กระบี่ พังงา สมุย)
4.พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแปรรูปยาง หาดใหญ่–สะเดา อาทิ รถไฟฟ้าหาดใหญ่- ปาดังเบซาร์ ทางหลวงพิเศษ (Motorway) หาดใหญ่-ด่านพรมแดนสะเดา รถไฟทางคู่ชุมพร-สุราษฎร์ฯ- หาดใหญ่ และพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และ 5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภาคใต้กับเส้นทางการค้าโลก อาทิ การพัฒนาท่าเรือ ชายฝั่งอันดามัน สนามบินภูเก็ต และโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลา 2–หาดใหญ่–ปาดังเบซาร์–บัตเตอร์เวอร์ธ (มาเลเซีย)
แผนพัฒนาภาคใต้ชายแดน พัฒนาควบคู่พัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย/สิงคโปร์
สำหรับ ร่าง ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ภายหลังรัฐบาลมีโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร อ.หนองจิก การพัฒนาด้านการค้าและการท่องเที่ยว อ.สุไหงโก-ลก และ อ.เบตง เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน
"ดังนั้น การพัฒนาภาคใต้ชายแดน จึงควรมุ่งการพัฒนาขยายผลการ ดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร พัฒนาเมืองชายแดนให้เป็นเมือง การค้าและท่องเที่ยว ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน"
เป้าหมายให้เป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับ พื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้มียุทศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1.พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต 2.พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน และ 3.เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
โดย แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต ประกอบด้วย 1.พัฒนาพื้นที่ อ.หนองจิก ต่อเนื่อง อ.เมืองปัตตานี ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว และอุตสาหกรรมแปรรูปประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับภาค 2.พัฒนาและส่งเสริมการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว พืชและผลไม้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
3.พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมในการ เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งการทำปศุสัตว์ และประมง เพื่อเพิ่มผลผลิต และคุณภาพ ตลอดจนแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตให้กับภาคการเกษตร 4.ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของภาค และ 5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อาทิ การพัฒนาท่าเทียบขนส่งสินค้าชายฝั่งและท่าอากาศยานปัตตานี
แผนพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน ประกอบด้วย 1.พัฒนาด่านชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 และ สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกที่ด่านตากใบ เร่งรัดโครงการพัฒนาด่านบูเก๊ะตา ระยะที่ 2 และจัดหาที่ดินรองรับการพัฒนาด่านฯ ระยะที่ 3
2.พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงเมืองชายแดน (สุไหงโก-ลก และ เบตง) อาทิ ยกระดับมาตรฐานเขตทาง (เมืองนราธิวาส-สุไหงโก-ลก) และขยายช่องทางจราจร (เมืองยะลา-เบตง) การปรับปรุงท่าอากาศยานนราธิวาส และเร่งรัด การก่อสร้างสนามบินเบตง และการเชื่อมต่อการเดินรถไฟข้ามพรมแดนประเทศมาเลเซีย 3.พัฒนาและส่งเสริมธุรกิจการค้าชายแดน อาทิ การจัดหาที่ดินรองรับการพัฒนาการ ค้าชายแดน และการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร
4.พัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้ชายแดนให้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ อาทิ การ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวป่าบาลา-ฮาลา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และ 5.ส่งเสริมความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของภาคกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจด้านตะวันออกของประเทศมาเลเซีย
แผนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ประกอบด้วย 1.พัฒนาและสนับสนุนทักษะฝีมือแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน 2.ส่งเสริมการให้ความรู้และความเข้าใจในการดูแลอนามัยแม่และเด็ก 3.สนับสนุนการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าและบริการ อาทิ สินค้า OTOP สินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น อาหารและบริการฮาลาล และกลไกประชารัฐเพื่อเชื่อมโยง ตลาดการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกภาค และ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมเพื่อสร้างความ เข้มแข็งชุมชนและอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติ.
อินโฟเควสท์