- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Monday, 20 November 2017 19:17
- Hits: 10317
สภาพัฒน์ เผยจีดีพี Q3/60 โต 4.3% สูงสุดรอบ 4 ปีครึ่ง พร้อมปรับคาดการณ์ปี 60 เป็นโต 3.9% จากเดิม 3.5-4% ส่วนปี 61 คาดโต 3.6-4.6%
สภาพัฒน์ เผยศก.ไทย Q3/60 โต 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส หรือ 4 ปีครึ่ง รับส่งออกโตถึง 12.5% หลังการลงทุนเอกชนฟื้นตัว พร้อมปรับคาดการณ์จีดีพีปี 60 เป็นโต 3.9% จากเดิม 3.5-4% ส่วนปี 61 คาดโต 3.6-4.6% ด้านส่งออกปีนี้เพิ่มเป้าเป็นโต 8.6% จากเดิมที่ 5.7% ปีหน้าคาดโต 5% ฟากนำเข้าปีนี้คาดโต 13% จากเดิม 10.7% ปีหน้าคาดโต 7% ด้านเงินเฟ้อทั่วไปปี 60 อยู่ที่ 0.7% ส่วนปี 61 อยู่ที่ 0.9-1.9% ชี้ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดบ.นโยบาย เหตุต้องรอดูเสถียรภาพทางศก.เป็นหลัก
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 3.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ขณะที่การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือขยายตัว 12.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 51,490 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าสินค้าที่ 3.8% และปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ 8.8% โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ
นอกจากนี้ ได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560 ว่าะขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจากค่ากลางเดิมที่ 3.7% จากประมาณการเดิมที่อยู่ในกรอบที่ 3.5-4% ส่วนจีดีพี ปี 2561 คาดจะเติบโต 3.6-4.6%
ด้านตัวเลขส่งออกสินค้าปี 2560 คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.6% จากเดิมคาดขยายตัวได้ 5.7% ส่วนปี 2561 คาดส่งออกจะชยายตัว 5% ขณะที่การนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 13% จากเดิมคาดขยายตัว 10.7% และคาดว่าจะขยายตัวได้ 7% ในปี 2561 ด้านดุลการค้าปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 29.4 พันล้านดอลลาร์ จากปีนี้คาดว่าจะเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดเกินดุล 28.9 พันล้านดอลลาร์
“เศรษฐกิจไทยปี 2561 จะมีแรงส่งจากการขยายตัวดีของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน สาขาเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน และการปรับตัวดีของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5% ลดลงจากปีนี้ เนื่องจากฐานค่อนข้างสูง”นายปรเมธี กล่าว
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 38.1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเกินดุล 46.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9-1.9% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% ขณะที่การลงทุนเอกชน คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 2.2% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% ในปีหน้า ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 1.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาด 8% และปีหน้าคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 11.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.2%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปีหน้า ควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวการผลิตนอกภาคเกษตร โดยดูแลการส่งออกให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินการตามโครงการลงทุน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง การสนับสนุนการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาการขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนโครงกาพรัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การดำเนินการตามมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผ็ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2561 สศช.คาดค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วง 34-35 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากปีนี้ที่คาด 34 บาทต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัญ และการส่งสัญญาณการปรับทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศสำคัญอื่นๆ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 52.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากการที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น
สำหรับ มาตรการช้อปช่วยชาติจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 4% หรือไม่นั้น มองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และคาดว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคมากกว่า โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่ออกมาเพื่อมุ่งหวังให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 4% ด้านมาตรการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักย์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะต้องทำให้คนจนหมดประเทศนั้น มองว่า เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ดังนั้นจะต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพ ให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้มีรายได้ต่ำให้พ้นจากเส้นความยากจน
ขณะที่สถานการณ์ด้านดอกเบี้ยนั้น มองว่า แม้ว่าประเทศอื่นจะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ประเทศไทยนั้นมองว่า ยังไม่มีความจำเป็นดังกล่าว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ ภาวะของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยนโยบายการเงินจะต้องดูแลด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย ขณะที่ไตรมาส 4 มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้สูงต่อเนื่อง จากการเร่งลงทุนโดยเฉพาะจากภาครัฐ ที่เตรียมความพร้อมในการลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561
'สมคิด' พอใจจีดีพี Q3/60 โต 4.3% แย้มหาก Q4/60 โตถึง 4-5% จะสร้างความมั่นใจต่อศก.ไทยมากขึ้น
สมคิด' พอใจศก.ไทย Q3/60 โต 4.3% แย้มหากจีดีพี Q4/60 โตได้ถึง 4-5% จะสร้างความมั่นใจต่อภาพรวมศก.ไทยมากขึ้น ประกาศปี 61 เดินหน้ากระตุ้นศก.ฐานราก ปี 61 เป็นปีแห่งการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง พร้อมเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง หนุนศก.โตก้าวกระโดด
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับภาคเอกชน ในงาน Workshop on Compettiveness and inclusive Growth : Navigation towards Thailand 4.0 ในวันนี้ว่า วันนี้ได้หารือกับภาคเอกชน ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยวันนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ประกาศตัวเลขออกมาที่ 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสนั้น เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เนื่องจากไทยเติบโตจากระดับ 0.8% มาจนถึงระดับ 4.3% ได้นั้น ถือว่าเกิดกว่าที่คาดไว้ที่ 4% ซึ่งยอมรับว่า ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีเม็ดเงินลงทุนค่อนข้างมาก
“ถ้าไตรมาส 4 ปีนี้ตัวเลขการเติบโตทำได้ถึง 4-5% ก็จะยิ่งเสริมสร้างความมั่นใจ เกิดโมเมนตัมที่แข็งแกร่ง ตอนนี้มันสะท้อนแล้วว่า ภาพของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปได้ดีมาก โดยเฉพาะตอนนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเราลงไปท้องถิ่นได้ ก็จะทำให้อำนาจซื้อแข็งแกร่งมากขึ้น ท้องถิ่นจะมีอำนาจมากขึ้น นอกจากนี้ไม่ว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาราคา การพัฒนาชุมชน เอสเอ็มอี จะต้องแข็งแกร่งแน่นอน เราจะพยายามต่อยอดไปให้ได้”นายสมคิด กล่าว
นอกจากการสร้างความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่นในปี 2561 จะมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะเป็นแรงดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนไทยจำนวนมาก ประกอบกับภาครัฐมีแผนเร่งรัดการใช้จ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้นั้น จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคการส่งออก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอย่างแน่นอน
“EEC ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องการอุ้มรายใหญ่ เราต้องฟังให้จบ EEC คือตัวเชื่อมไปยังซัพพลายเชญ ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกษตรภาคตะวันออกขายผลไม้ได้ เส้นทางสัญจร โครงสร้างพื้นฐานสะดวก ดังนั้นเวลาจะฟังต้องฟังให้จบ และคิดให้ทะลุ และก็ยังยืนยันว่า เราพยายามทำท้องถิ่นให้แข็งแกร่ง เราพยายามจูน พยายามเชื่อมกับ องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อร่วมกันพัฒนา ให้ไปคิดโครงการ เดินหน้าเงินลงทุนงบประมาณที่มีอยู่ เพราะมันจะก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชนต่อไป ขณะที่สังคมเราก็ต้องดูล ด้านเกษตรก็พยายามดำเนินการ ซึ่งยอมรับว่า การยกระดับ ไม่ใช้เรื่องง่าย ด้านผู้มีรายได้น้อยเราก็พยายามเข้าไปช่วยเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดได้ เราต้องการให้คนไทยมีรายได้ ซึ่งกระทรวงการคลังก็มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน”นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พยายามชักชวนให้ WEF เดินทางมาจัดเวทีสัมมนาในเมืองไทย โดยเน้นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพ เนื่องจากในอนาคตจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ 4.0
“วันนี้ภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐเองจะต้องเตรียมความพร้อม ว่าเราจะสู่ภายนอกประเทศได้ แข่งขันได้ หากวันนี้เราไม่เตรียมความพร้อมอะไรเลย อนาคตจะสู้คนอื่นไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่เราทำวันนี้ก็หวังว่า จะส่งผลดีต่อการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย Index WEF ดีขึ้นในอนาคต จากปีนี้อยู่อันดับ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก จากปี 2559 อยู่อันดับที่ 34 ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้น”นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ประยุทธ์ 5 ว่า เรื่องดังกล่าว ขอให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าท่านจะพิจารณาจากความเหมาะสมเป็นหลัก และขอยืนยันว่า การปรับครม.นั้นไม่ใช่เพราะว่า บุคคลที่ถูกปรับไม่ดี แต่ปรับเพื่อความเหมาะสมมากกว่า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย