- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Tuesday, 08 July 2014 22:50
- Hits: 6694
สศช.ยันศก.ปีนี้ขยายตัวเพิ่ม ชี้หลังคสช.เข้ามาบริหารดีขึ้น
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 57 ให้ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นประธาน รับทราบ พบว่า ล่าสุดเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยหลายตัวปรับตัวดีขึ้น หลังจากคสช.เข้ามาบริหารประเทศ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปีมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ถึง2.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขประมาณการสูงสุดเดิมของสศช. ที่คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้หัวหน้าคสช.ยังเร่งรัดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเรื่องการท่องเที่ยวด้วย
“หัวหน้าคสช.มีความเป็นห่วงถึงภาวะเศรษฐกิจในระยะนี้ แต่ถ้าหากดูภาพรวมหลังจากวันที่ 22 พ.ค.57เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุน ก็ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน คือการดำเนินนโยบายและมาตรากรต่างของคสช. และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผน โดยจากการติดตามเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งความเชื่อมั่นก็ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ติดลบน้อยลงจากเดิม”นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า มีความเป็นไปได้ และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าหลายหน่วยงานคาดการณ์ เพราะในไตรมาสที่ 2 เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจมีสัญญาณที่จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากที่ไตรมาสแรกติดลบ 0.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องติดตามตัวเลขไตรมาสที่ 2 ในเดือนส.ค.นี้ก่อน ส่วนไตรมาสที่ 3-4 เชื่อว่า ตัวเลขต่างๆ อาจปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ โดยสิ่งที่ต้องติดตามคือ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคสช.ได้ให้ความสำคัญมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดการดำเนินงานของทุกส่วนราชการ 5 เรื่อง ที่หัวหน้าคสช.มอบหมายนั้น ประกอบด้วย เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมาสำนักงบประมาณได้ยืนยันถึงการจัดทำงบประมาณปี 58 จะสามารถจัดทำได้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.57 และสามารถบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ,การสนับสนุนภาคเอกชน โดยที่ผ่านมาคสช.ได้เร่งรัดโครงการต่างๆ ของภาคเอกชนที่เสนอขอส่งเสริมการลงทุน ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ล่าสุดได้ประชุมครั้งแรกไปแล้ว และได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาโครงการที่มีวงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชน
ขณะเดียวกันยังติดตามการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งล่าสุดยังมีคำขอค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยืนยันถึงความพร้อมเร่งรัดการพิจารณาให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้ว่าจ้างปริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยกลั่นกรอง และตรวจสอบเอกสาร เพื่อให้ขั้นตอนการขออนุญาตรวดเร็วขึ้น
ส่วนเรื่องการส่งออก คสช.ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการส่งออกข้าว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกข้าวในปีนี้ ประมาณ 10 ล้านตัน มากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 1 ของโลกได้ ขณะเดียวกันสินค้ากลุ่มของกล้วยไม้ไทยยังมีแนวโน้มเติบโต และเป็นที่นิยมสำหรับต่างชาติ จึงต้องมาพิจารณาแนวทางการส่งเสริมด้วย พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางเจาะตลาดส่งออกใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนอำนวยความสะดวกให้เอกชนด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องของการส่งออก ที่ประชุมคสช.ยังมอบหมายให้ไปพิจารณากลไกของสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนในการส่งออก และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ช่วยเหลือด้านเงินกู้ รวมทั้งยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลเรื่องการสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เหมาะสม โดยภาพรวมของการส่งออกนั้น สศช. คาดว่า ยังขยายตัวได้ประมาณ 3.7เปอร์เซ็นต์
ขณะที่เรื่องต่อมาคสช.ได้เร่งรัดการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสุดท้ายเร่งรัดดูแลภาคการท่องเที่ยว โดยให้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) สร้างความสะดวกด้านการเดินทาง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกด้วย
คสช.มอบสภาพัฒน์จัดทำแผนระยะสั้น-ยาว พัฒนาด่านชายแดนทั่วประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) วันนี้ได้รับทราบผลการประชุมผู้นำและแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยได้มอบหมายให้ สศช.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในเรื่องความร่วมมือทั้งด้านสินค้าฮาลาล ด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในอาเซียน การพัฒนาบุคลากรทั้ง 3 ประเทศ ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว และการลงทุน
ทั้งนี้ จะมีการเร่งรัดด้านการปรับปรุงด่านชายแดน โดยเฉพาะด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ในส่วนของด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ รวมถึงการพัฒนาในโครงการนำร่อง 5 โครงการ ประกอบไปด้วย การปรับปรุงด่านสะเดา, การพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือนาเกลือ จ.ตรัง, โครงการทางพิเศษมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-สะเดา, การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าที่ อ.ทุ่งสง และโครงการเมืองสีเขียว เพื่อพัฒนาเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้เลือก จ.สงขลาเป็นจังหวัดต้นแบบ
นายอาคม กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ได้มอบหมายให้ สศช.จัดทำแผนพัฒนาด่านชายแดนทั่วประเทศ โดยจัดลำดับความสำคัญของ 5 ด่านแรกจากทั้งหมด 12 ด่านที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ไปจัดทำแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวภายใน 5-10 ปี เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตสินค้า และต้องเกิดประโยชน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้ยึดหลักความรวดเร็วและปลอดภัยทั้งสินค้าและผู้โดยสาร โดย 5 ด่านที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1.ด่านสะเดา 2.ด่านปาดังเบซาร์ 3.ด่านแม่สอด 4.ด่านอรัญประเทศ(ด่านปอยเปต) 5.ด่านจ.ตราด เกาะกง
โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีด่านทั้งสิ้น 94 ด่าน ในพื้นที่ 31 จังหวัด มีด่านถาวร 39 แห่ง จุดผ่อนปรนการค้า 53 แห่ง จุดผ่อนปรนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว 1 แห่ง และจุดผ่อนปรนเพื่อการท่องเที่ยว 1 แห่ง ซังหัวหน้าคสช.ได้ให้นโยบายในการพัฒนาด่านต่างๆ บนพื้นฐาน 3 เสาหลักประชาคมอาเซียน คือ ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคมและวัฒนธรรม, ด้านความมั่นคงและการเมือง โดยให้คำนึงว่า หากจะมีการพัฒนาด่านเพื่อด้านเศรษฐกิจต้องไม่กระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม และดูเรื่องความมั่นคงในแต่ละพื้นที่ด้วย
อินโฟเควสท์