- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 21 November 2021 10:25
- Hits: 12336
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 - 2565
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สามของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 - 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2564 ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2564 ร้อยละ 1.1 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.3
ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.2เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่าย ในขณะที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน ลดลงร้อยละ 14.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 21.8 การใช้จ่ายหมวดบริการลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทน ลดลงร้อยละ 8.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะลดลงร้อยละ 15.6 อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 2.7 การปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้
สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจากระดับ 38.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นระดับ 34.9 รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัวร้อยละ 1.0 และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการขยายตัวสูงร้อยละ 47.1 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิด-19
ขณะที่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 3.6 การขยายตัวของการใช้จ่ายรัฐบาลสอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 638,678 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 23.0(คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำอยู่ที่ร้อยละ 23.8 สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.6ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 19.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเงิน 219,740 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.9 การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
ตามการลงทุนภาครัฐที่ลดลงร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาล ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ อยู่ที่ร้อยละ 24.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 30.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ ขยายตัวร้อยละ 3.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรก การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ
ในด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 67,249 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 36.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ (ร้อยละ 16.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 8.7) รถกระบะ (ร้อยละ 18.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ25.3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 26.1) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 10.4) อาหารสัตว์ (ร้อยละ19.6) ยางพารา (ร้อยละ 99.5) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 59.8) และข้าว (ร้อยละ 16.5) เป็นต้น
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น ตู้เย็น (ร้อยละ 6.0) เครื่องดื่ม (ร้อยละ 5.2) ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 24.7) และน้ำตาล (ร้อยละ 2.4) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 24.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 21.6 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 57,985 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 41.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่สามเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (304.7 พันล้านบาท)รวม 9 เดือน มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ขยายตัวร้อยละ 17.9 และร้อยละ 26.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 26,365 ล้านดอลลาร์ สรอ. (833,601 ล้านบาท)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการส่งออกของประเทศคู่ค้าสำคัญ
(%YoY) GDP มูลค่าการส่งออกสินค้า
2562 2563 2564 2562 2563 2564
ทั้งปี ทั้งปี Q2 Q3 ทั้งปี ทั้งปี Q2 Q3
สหรัฐฯ 2.3 -3.4 12.2 4.9 -1.5 -13.5 51.0 23.7
ยูโรโซน 1.4 -6.4 14.2 3.7 -2.5 -7.1 46.7 -
สหราชอาณาจักร 1.4 -9.8 23.6 6.6 0.9 -13.5 21.7 12.9
ออสเตรเลีย 1.9 -2.5 9.7 - 5.3 -7.4 47.6 50.3
ญี่ปุ่น 0.0 -4.7 7.6 - -4.4 -9.1 42.5 20.4
จีน 6.0 2.3 7.9 4.9 -0.1 4.0 30.4 23.9
อินเดีย 4.8 -7.0 20.1 - -0.1 -14.8 86.1 38.6
เกาหลีใต้ 2.2 -0.9 6.0 4.0 -10.4 -5.5 42.1 26.5
ไต้หวัน 3.0 3.1 7.4 3.8 -1.5 4.9 37.4 30.1
ฮ่องกง -1.7 -6.1 7.6 5.4 -4.1 -0.5 26.9 22.4
สิงคโปร์ 1.3 -5.4 15.2 6.5 -5.2 -4.1 33.5 19.3
อินโดนีเซีย 5.0 -2.1 7.1 3.5 -6.8 -2.7 55.9 50.9
มาเลเซีย 4.4 -5.6 16.1 -4.5 -3.4 -2.3 50.6 15.9
ฟิลิปปินส์ 6.1 -9.6 12.0 7.1 2.3 -8.1 36.6 12.7
เวียดนาม 7.2 2.9 6.6 -6.2 8.4 6.9 34.7 2.9
ที่มา: CEIC รวบรวม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรม สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการก่อสร้าง และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าและสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ ปรับตัวลดลง ขณะที่สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ ขยายตัว และสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 8.1 โดยดัชนีผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 37.8) ข้าวเปลือก (ร้อยละ 12.1) ยางพารา (ร้อยละ 4.4) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 11.9) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(ร้อยละ 11.9) ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 6.7) เป็นต้น ด้านหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 15 ร้อยละ 2.2 ในขณะที่หมวดประมงลดลงร้อยละ 6.7 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.7ในไตรมาสก่อนหน้า
โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 27.1) กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 20.2) สุกร (ลดลงร้อยละ 9.6) กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 9.2) และไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 1.8) เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.7) ยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7) อ้อย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4) เป็นต้น
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 2.9 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของอุปสงค์ในประเทศ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่การผลิต และปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 0.8
โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 28.3 ในไตรมาสก่อนหน้าและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ร้อยละ 4.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 4.3 สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
สำหรับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.31 ต่ำกว่าร้อยละ 62.73 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 60.41 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ลดลงร้อยละ 11.2) การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 5.9) และการผลิตจักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 39.4) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่น การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 61.2) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 14.1) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 2.4) เป็นต้น
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงร้อยละ 18.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการท่องเที่ยวในประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยในไตรมาสนี้มี รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.010 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 91.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 86.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามภายในประเทศขยายตัวเป็นวงกว้าง ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 45,398 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.46 ต่ำกว่าร้อยละ 8.24 ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าร้อยละ 26.69 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีบริการขนส่งร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 20.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลง ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำและบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า และการเริ่มฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และบริการไปรษณีย์ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 23.2 สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
สอดคล้องกับกิจกรรมการผลิตทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการผลิตไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.3 ตามการปรับตัวลดลงของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจร้อยละ 11.5 ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ส่วนดัชนีการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านแรงงานพบว่าสัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานจากมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 4.4ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการรักษาระดับการจ้างงานและจูงใจให้แรงงานเข้าระบบประกันตนมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.1
สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (14.3 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9,337,543.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.0 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564
เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.5 ต่อ GDPเทียบกับการเกินดุลร้อยละ 4.0 ต่อ GDP ในปี 2563
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565
เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก(1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน (2) การฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า (4) การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และ (5) ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ
GDP รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงและสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม
(2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในปี 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของกรอบรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 แต่ยังมีแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
2.การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 4.4 ในปี 2564 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 4.2 เทียบกับร้อยละ 4.3 ในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 4.8 ในปี 2564 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 624,340 ล้านบาท และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 วงเงิน 468,833 ล้านบาท (รวมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน)
- มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 16.8 ในปี 2564 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0 ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการดำเนินมาตรการเปิดประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว
โดยในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เทียบกับ 1.3แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 238.0 ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เทียบกับร้อยละ 10.0 ในปี 2564
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดย (i) การดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค (ii) การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง (iii) การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และ (iv) การเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
โดย (i) การเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ (ii) การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และ (iii) การประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
โดย (i) การติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการ และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า (ii) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และ (iii) การดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า
โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม (iii) การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (iv) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และ (v) การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต (5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ (ii) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง (iii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ
รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต (iv) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (v) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ (vi) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ (vii) การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น
โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ (7) การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
เอกสารประกอบ
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=QGDP_report