- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 29 November 2020 14:20
- Hits: 10474
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีนายเอกัส สุพาร์แมนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าร่วมในฐานะประธานที่ประชุม พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมสำคัญรายอื่น ๆ ประกอบด้วย ดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย นายอะลาดิน ดี ริลโล รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เจ้าหน้าที่และผู้แทนระดับอาวุโสของ 3 ประเทศ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน โดยการประชุมฯ มีสาระสำคัญดังนี้
รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศรับทราบรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมตลอดปี 2562 - 2563 ของแผนงาน IMT-GT โดยมีโครงการสำคัญที่คืบหน้า อาทิ การเจรจาจัดทำความตกลงกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนข้ามพรมแดนในพื้นที่แผนงาน IMT-GT (FoC in CIQ) ที่ดำเนินการในส่วนสาระสำคัญแล้วเสร็จและมีกำหนดจะลงนามในช่วงการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงาน IMT-GT ในปี 2564 การจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเมืองยางพาราร่วมกันของ 3 ประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยางระหว่างกัน โครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จังหวัดยะลา
ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2564 โครงการก่อสร้างทางด่วนเปกันบารู-ดูไม ในอินโดนีเซีย การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกันในระดับอนุภูมิภาค การพัฒนาขีดความสามารถในอุตสาหกรรมฮาลาล และการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบรายสาขาของสภาเทศมนตรีสีเขียวเพื่อดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2562 – 2579) โดยถือเป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียวซึ่งประเทศไทยมีเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นเมืองนำร่อง รวมถึงแผนบูรณาการระบบการขนส่งสีเขียวซึ่งได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จในพื้นที่จังหวัดกระบี่และภูเก็ตและอีก 5 เมืองอื่น ๆ ในอนุภูมิภาค IMT-GT
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบผลการศึกษาทบทวนการดำเนินงานภายใต้แผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 – 2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ 2579 ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการนำเสนอโครงการของแผนงานในอนาคตว่าควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างแท้จริงและขยายการมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมทั้งยังได้รับทราบผลการศึกษาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย 2 ฉบับคือ ผลการประเมินและทบทวนระเบียงเศรษฐกิจแผนงาน IMT-GT และผลการศึกษาแนวทางความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและความร่วมมือในแผนงาน IMT-GT ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับกลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการวางแผนระดับชาติและระดับพื้นที่ที่ต้องสอดคล้องกัน การจัดทำมาตรการส่งเสริมระบบห่วงโซ่คุณค่าข้ามพรมแดนที่ต้องเข้มข้นมากขึ้นและส่งเสริมให้พื้นที่แผนงาน IMT-GT เป็นแหล่งลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ยาง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชียและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 26 แผนงาน IMT-GT โดยมีสาระสำคัญคือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือและฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แสดงผลการดำเนินงานและร่วมกันยินดีกับความสำเร็จของการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา รวมทั้งระบุแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปอาทิ การนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการผลิตและการตลาดของสินค้าและอุตสาหกรรมการเกษตร การส่งเสริมให้นำขั้นตอนการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสาธารณสุขมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลให้เข้มแข็ง นำไปสู่การยอมรับมาตรฐานฮาลาลร่วมกันและการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในอนุภูมิภาคให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และการพัฒนาหลักสูตรการเสริมทักษะใหม่สำหรับแรงงานในอนุภูมิภาค
รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรเทาและฟื้นฟูผลกระทบจาก COVID-19 ของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่ง ซึ่งต่างมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเน้นย้ำในเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อช่วยกันรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19และร่วมกันแสวงหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานทุกสาขาความร่วมมือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนสีเขียวและเศรษฐกิจสีเขียวและการปรับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ในครั้งนี้จะนำไปรายงานต่อที่ประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 13 แผนงาน IMT-GT ในปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นในโอกาสเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน IMT-GT ณ รัฐกลันตัน ในช่วงปลายปี 2564 ต่อไป
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารการประชุมที่ลิงก์นี้ http://tiny.cc/26thIMTGTMM-Doc
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ