- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 16 September 2018 21:30
- Hits: 11308
นายกฯ ประชุมบอร์ด กนพ.รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษรายพื้นที่-สั่งเพิ่มประโยชน์การค้า-ท่องเที่ยว
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการคัดเลือกของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้บริษัทผู้ได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากและจังหวัดกาญจนบุรี รวม 2 ราย และให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุตามกฎกระเบียบและขั้นตอนของทางราชการต่อไป โดยจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทฯ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
นอกจากนี้ กนพ. พิจารณาการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจากเดิม แปลงที่ 1 ให้เอกชนเป็นผู้เช่า แปลงที่ 2 ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้เช่า ต่อมาเมื่อมีแปลงที่ดินเพิ่มขึ้น จึงให้เพิ่มเติมในสัญญาว่า ให้เอกชนสามารถนำแปลงที่ดินที่เพิ่มมานี้ไปอยู่ในสัญญาเช่าของเอกชนด้วย
พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดนราธิวาสได้ทำเรื่องผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เป็นเรื่องของความมั่นคง น่าจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่จะให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดูแลในเรื่องการจัดหาที่ดินในครั้งนี้ ซึ่ง กนพ. ก็เห็นชอบในหลักการให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดซื้อที่ดินในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ตามระเบียบของทางราชการต่อไป
นอกจากนี้ กนพ. เห็นชอบเรื่องแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก และรับทราบตามที่ สศช. รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษรายพื้นที่ต่าง ๆ ทั้ง 10 แห่ง ที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ เช่น เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ การจัดตั้งศูนย์ OSS และส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2562 – 2563 เกือบทั้งหมด ด้านความคืบหน้าในการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ณ 30 มิถุนายน 2561 มีจำนวน 52 โครงการ เงินลงทุน 9,059 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการที่มากที่สุด 4 อันดับแรกอยู่ที่จังหวัดตาก สงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร สำหรับนิติบุคคลตั้งใหม่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ณ 30 มิถุนายน 2561 มีจำนวน 2,817 ราย
สำหรับ เรื่องการปรับอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการเช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น เป็นไปตามประกาศของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นสูตรการคำนวณใหม่ จากเดิม ที่คิดแบบเหมาแปลง เป็น การคิดเป็นรายบล็อก จึงทำให้มีการปรับราคาลงมา ซึ่งอัตราดังกล่าวน่าที่จะจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจจะไม่ใช่เป็นการลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีในเรื่องการค้า การท่องเที่ยวต่าง ๆ เพิ่มเติม เป็นแบบอเนกประสงค์ในบางพื้นที่ซึ่งจะมีความเหมาะสมกว่า ซึ่ง สศช. และ สกท. จะต้องไปศึกษาเพื่อนำมาปรับปรุง Position ของแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เหมาะสมอีกครั้ง
นายทศพร กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง โดยจะต้องทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีหลายรูปแบบ เพราะบางเขตพื้นที่น่าจะมีศักยภาพให้มากกว่านี้ จึงต้องมาคิดเรื่องการส่งเสริมการลงทุน ว่าพื้นที่ใดจะเน้นเรื่องการค้าขาย หรือบางพื้นที่อาจจะต้องเน้นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
"นายกรัฐมนตรีได้ให้ทุกหน่วยงานไปดูการใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนอกจากด้านอุตสาหกรรม อยากให้มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องของการค้า การท่องเที่ยวในบางพื้นที่ด้วย"
อินโฟเควสท์