- Details
- Category: ปปท.
- Published: Sunday, 02 November 2014 20:45
- Hits: 10923
ปปท.สรุป 10 ข้อฮั้วฟุตซอลส่งถึงบิ๊กต๊อก แฉบ.คู่สัญญาเจ้าของคนเดียวกัน เลขาฯสพฐ.คาใจไม่แตะนักการเมือง
แฟ้มภาพ |
′เลขาฯกพฐ.′จี้ ป.ป.ท.เปิดโปงนักการเมืองอยู่เบื้องหลังงบฯสร้างสนามฟุตซอลฉาว เผย สพฐ.สืบเท็จจริง 2 จังหวัดเกือบ 100 โรงเรียน จากกรณี นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุจะส่งรายชื่อข้าราชการครูในโรงเรียน 54 แห่ง พื้นที่ จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 800 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างสนามฟุตซอลให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบสวนความผิดทางวินัย ควบคู่กับความผิดอาญาคดีฮั้วประมูลที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะรับดำเนินการไต่สวนชี้มูลความผิดนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ถ้า ป.ป.ท.ยังไม่พูดถึงนักการเมืองระดับสูงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องนี้ ตนก็ขอยังไม่ออกความเห็นกรณีของครูทั้ง 800 กว่าคนดังกล่าว จะขอดูสำนวนที่ ป.ป.ท.จะส่งมาให้ สพฐ.ก่อน ส่วนแนวทางการช่วยเหลือครูที่ตรวจรับงานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น ได้ตั้งคณะกรรมการประมวลข้อมูลและแนวทางแก้ปัญหากรณีจัดสร้างสนามฟุตซอลแล้ว มี นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน จะดูแลปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง 2 ชุด ที่ สพฐ.ส่งไปเก็บข้อมูลปัญหาที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.นครราชสีมา ได้รายงานความคืบหน้ามาแล้วหรือไม่ นายกมลกล่าวว่า ตนยังไม่ได้อ่านรายงานสรุป เนื่องจากตัวรายงานยังอยู่ที่นางรัตนา นายรังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะทำงาน 12 ชุด ลงพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณสร้างสนามฟุตซอล เพื่อสืบข้อเท็จจริงและเป็นพี่เลี้ยงแก่ครูว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างลงพื้นที่โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะลงไปสืบข้อเท็จจริงแล้ว ยังไปเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนทางกฎหมายแก่ครูด้วย แต่ไม่ใช่การแก้จากผิดเป็นถูก กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ต่อไปการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนคงต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกรรมการร่วม เช่น กรมพลศึกษา โยธาธิการจังหวัด เป็นต้น โดย สพฐ.จะตั้งงบจ่ายค่าตอบแทนให้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง 2 ชุด ที่ สพฐ.ส่งไปเก็บข้อมูลที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการเสร็จแล้วและทำรายงานสรุปเสนอเลขาธิการ กพฐ.เรียบร้อยแล้ว โดยผลการตรวจสอบเกือบ 100 โรงเรียน พบว่าทั้ง 2 จังหวัดมีทั้งโรงเรียนที่ก่อสร้างสนามฟุตซอลได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐานตามสัญญา แต่ไม่พบว่าครูมีส่วนร่วมในการทุจริต ส่วนที่สนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน เพราะครูไม่มีความรู้พอในการตรวจรับงานและเซ็นรับงานโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ล่าสุดมีผู้แจ้งเบาะแสว่า โครงการนี้เริ่มตั้งโครงการและแปรญัตติงบประมาณได้ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น ป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบโครงการทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมความเสียหายทั้งโครงการจากงบฯแปรญัตติ และจะนำเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำไปเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่เอื้อทุจริตจากงบฯแปรญัตติ โดยจะเสนอให้ สปช.วางแนวทางแก้ระบบงบประมาณไม่ให้มีการโยกงบฯได้ตามใจนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองต้องถูกปฏิรูปด้วย นอกจากนี้ ป.ป.ท.จะเสนอให้มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่สมคบกันทุจริตทั้งขบวนการ ในรูปแบบเดียวกับการปราบปรามยาเสพติด ที่เอาผิดทั้งอาญาและยึดทรัพย์ผู้อยู่เบื้องหลัง แม้ขณะจับกุมจะไม่มีของกลางยาเสพติด "จากการตรวจสอบยังพบข้อบกพร่องของโครงสร้างในระบบการศึกษาของไทย ที่ไม่มีเกราะป้องกันให้กับครู โดยงบประมาณในโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลครั้งนี้ออกมาจากต้นสังกัด คือ สพฐ. ที่ส่งไปให้โรงเรียน แต่เมื่อเกิดปัญหาครูจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ" นายประยงค์กล่าว รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท.แจ้งว่า สำนักงาน ป.ป.ท.เตรียมทำรายงานสรุปผลเบื้องต้นการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลจากงบประมาณแปรญัตติปี 2555 เสนอ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อรับทราบผลดำเนินการ ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวระบุว่า พบประเด็นข้อสงสัย 10 ประเด็น 1.บริษัทก่อสร้างที่เป็นคู่สัญญากับโรงเรียนมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น เป็นเจ้าของเดียวกัน หรือผู้รับมอบอำนาจเป็นบุคคลเดียวกัน 2.บริษัทที่เข้าประมูลอีออคชั่น เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน หรือมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน เช่น เป็นเจ้าของเดียวกัน เป็นตัวแทนจำหน่ายพื้นยางสงเคราะห์อีวีเอจากบริษัทเดียวกัน และเป็นตัวแทนขายหนังสือจากบริษัทเดียวกัน 3.โรงเรียนบางแห่งที่ไม่สามารถทำการประมูลด้วยระบบอีออคชั่น และใช้วิธีพิเศษ บริษัทที่ได้เป็นคู่สัญญาก็ยังคงเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน 4.ในวันรับซองและยื่นซองประกวดราคา กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกันจะมารับซองและยื่นซองในวันเดียวกันทุกบริษัท 5.การเคาะราคาประมูลด้วยระบบอีออคชั่น แต่ละบริษัทจะเคาะราคาสุดท้ายเท่ากันทุกโรงเรียน 6.ราคากลางและคุณลักษณะเฉพาะทีโออาร์ของทุกโรงเรียนจะมีการกำหนดจำนวนเงินและลักษณะเหมือนกันตามวงเงิน 2.5 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่แต่ละโรงเรียนเป็นผู้กำหนดราคากลางและทีโออาร์เอง 7.การก่อสร้างพื้นคอนกรีตมีราคาสูง บางแห่งมีรอยแตกร้าว พื้นเอียงไม่ได้ระดับ น่าเชื่อว่าก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และกำหนดราคาสูงกว่าราคามาตรฐาน 8.พื้นยางสังเคราะห์อีวีเอที่ใช้มีราคาสูงกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับราคาท้องตลาดในปัจจุบัน 9.พื้นยางสังเคราะห์อีวีเอไม่สามารถใช้งานได้จริง มีสภาพบิดงอ และเสื่อมสภาพในเวลาอันรวดเร็ว และ 10.พื้นยางสังเคราะห์อีวีเอเป็นวัสดุที่จะต้องใช้ในสนามที่มีหลังคา แต่กลับนำมาใช้กลางแจ้ง ซึ่งเป็นการกำหนดคุณลักษณะการใช้งานที่ไม่เหมาะสม รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในรายงานสรุปยังได้แจ้งเรื่องมติคณะกรรมการ ป.ป.ท.ที่ให้ส่งรายชื่อข้าราชการครูผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 861 คน จาก 54 สัญญาใน จ.นครราชสีมา ไปยัง สพฐ.เพื่อดำเนินการทางการปกครองและวินัย และได้ส่งสำนวนการตรวจสอบไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ให้เข้ามาดำเนินการตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ด้วย รวมทั้งยังเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในภาพรวมทั้งระบบ รายงานข่าวยังระบุอีกว่า สำหรับเป้าหมายของชุดทำงานภายใต้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 11 หน่วยงานนั้น จะนำข้อมูลมาสรุปในภาพรวมและจัดกลุ่มผู้กระทำผิดใน 3 กลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และบริษัทเอกชน นอกจากนี้ ผลจากการตรวจสอบครั้งนี้จะมีการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาช่องว่างของระเบียบ และเสนอแนะรัฐบาลให้มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแปรญัตญัติในอนาคต ด้าน นายธีรพงษ์ ศรีเดช เครือข่าย ป.ป.ช.ภาคประชาชน จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ได้ยื่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 9 แห่ง เพื่อขอเอกสารโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลกลางแจ้ง ซึ่งมีเพียงเทศบาลตำบล (ทต.) คุ้งตะเภา แห่งเดียวที่ปฏิเสธให้ข้อมูล โดยอ้างว่า สตง.กำลังตรวจสอบ แม้ว่านายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์จะมีคำสั่งให้มอบข้อมูลให้ก็ตาม แต่ ทต.คุ้งตะเภาก็ยังไม่ยอมมอบให้ ตนจึงได้ทำเรื่องแจ้งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร พร้อมขอให้นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทต.คุ้งตะเภา ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลทางราชการ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 69/2557 เรื่องของการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน และการแก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง สกัดกั้นและต่อต้านมิให้เกิดการทุจริต |