- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 08 November 2017 17:25
- Hits: 5024
กสทช.เผยอยู่ระหว่างพัฒนาแอปฯ Net Care จำกัดเวลาใช้งานเน็ตบนมือถือของเด็ก คาดใช้งานจริง ธ.ค.60
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กิจกรรมของเด็กในยุคปัจจุบันจะอยู่หน้าจอโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้เด็กมีสมาธิสั้น มีพัฒนาการช้า และพูดได้ช้า สำนักงาน กสทช. จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช ร่วมมือให้ข้อมูลความรู้การเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในสังคมออนไลน์ เพื่อให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ดีเติบโตตามวัย ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ‘อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก’ ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยหวังให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากการเลี้ยงลูกผ่านจอผ่านไปยังกลุ่มผู้ปกครองอย่างกว้างขวางมากขึ้น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างแพร่หลาย และทั่วถึงมากขึ้น ทั้งการรับชมสื่อทางโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดยมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Mobile broadband subscribers มากกว่า 66 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างกันน้อยลง กลายเป็นสังคมก้มหน้า ขณะที่ผู้ปกครองก็ใช้วิธีเลี้ยงลูกผ่านจอสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตแทนการทำกิจกรรมอื่นภายในครอบครัว เช่น เล่นกับลูก การรณรงค์ให้ความรู้ผู้ปกครองถึงภัยจากการใช้จอเลี้ยงลูกเป็นเวลานานจะช่วยให้เด็กได้รับสื่ออย่างพอดีและเหมาะสม มีพัฒนาการสมวัย
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีมาตรการที่พร้อมให้ความร่วมมือในโครงการดังกล่าว ได้แก่ 1. จะขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ Warning บนกล่องอุปกรณ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครอง ตระหนักว่าไม่ควรให้เด็กอายุ 0-2 ปี ใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าว
2. จะขอความร่วมมือไปยังบริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจัดทำในรูปแบบ Welcome message แสดงบนหน้าจอประมาณ 3-5 วินาที ขณะเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน ให้ผู้ใช้งานได้ตระหนักและพึงระวังเสมอว่า 'อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก' ซึ่งการรณรงค์ผ่านช่องทางนี้ คาดว่าจะมีประสิทธิภาพและเข้าถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน มีการใช้งานแอปพลิเคชั่นไลน์มากถึงร้อยละ 94 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือประมาณ 62.12 ล้านบัญชี ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีการใช้งานเฉลี่ยในแต่ละวันมากถึง 70 นาทีต่อคน
3. จะขอความร่วมมือให้เพิ่มคำแนะนำในการใช้งานสำหรับเด็ก 0-5 ปี ในคู่มือการขาย เพื่อให้พนักงานขายแจ้งให้ผู้รับบริการได้รับทราบ
4. สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชัน Net Care เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจำกัดช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเด็กได้ รวมทั้งบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม และจะใช้งานได้จริงเดือนธันวาคม 2560 ก่อนมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
และ 5. จัดทำแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอรายการโทรทัศน์โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมวิชาชีพ สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการวางแผนก่อนการผลิตรายการ (Pre – Production) ขั้นผลิตรายการ (Production) และขั้นตอนหลังการผลิตรายการ (Post - Production)
ส่วนมาตรการต่อไปที่สำคัญในการรณรงค์เด็กไทยคุณภาพดี ยุค 4.0 ที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ เตรียมการศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ฯ โดยจะมีการปรับหมวด “รายการที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมทุกวัย” ให้มีรายการที่เน้นสื่อสร้างสรรค์มากขึ้น และเหมาะสมสำหรับเยาวชน เช่น การปรับรายการการ์ตูนไม่ให้มีเนื้อหารุนแรง และให้มีการ์ตูนสำหรับเด็กประมาณ 1 ชั่วโมง ในช่วงระหว่าง 16.00-18.00 น.ของวันธรรมดา และช่วงเช้าของวันเสาร์ - อาทิตย์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย