- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 24 April 2017 10:01
- Hits: 5128
กสท.ขยายเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ ออกไปอีก 5 ปี ย้ำแนวปฎิบัติยึดตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่
ผศ. ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันที่ 18 เม.ย. 2560 มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ชี้แจงทำความเข้าใจกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เกี่ยวกับกรอบแนวทางปฏิบัติ กรอบระยะเวลาสำหรับการดำเนินการ และแนวการกำกับดูแลของ กสทช.
โดยระยะเวลาในการใช้งานหรือถือครองคลื่นความถี่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้นับต่อไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2560 โดยสิ้นสุดลงวันที่ 3 เม.ย. 2565 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559
นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐจะต้องถือปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยให้ทำความเข้าใจ โดยเน้นย้ำกรณีประสงค์จะทำสัญญาให้บุคคลอื่นเข้าร่วมดำเนินการ ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินการ พ.ศ.2556 การจัดทำผังรายการจะต้องเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 และ เนื้อหารายที่ออกอากาศต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื้อหาต้องไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. 2551 หรือกำหนดให้มีรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคผู้พิการ และคนด้อยโอกาส
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท. ได้เห็นชอบอัตราการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และบริษัท เอเอสทีวี(ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งได้เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณโทรทัศน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย