- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 10 January 2017 23:18
- Hits: 9622
สำนักงาน กสทช.เสนอ กทค.ทบทวนมติให้ผู้รับใบอนุญาต 1800,900 MHz คิดค่าบริการเป็นวินาที
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 ม.ค.60) มีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2560 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาคือ เรื่องทบทวนมติการกำกับอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีและพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เรื่องพิจารณาผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการช่วงประกาศมาตรการเยียวยาฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz และเรื่องร่างประกาศมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง
วาระนี้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอ กทค. พิจารณาทบทวนมติครั้งที่ 10/2559 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย พร้อมทั้งเตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมฯ เมื่อครั้งที่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริการเสียงและบริการข้อมูลโดยเฉลี่ยแล้วต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz รวมทั้งจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง
ต่อมาคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อทวงถามในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า การเรียกเก็บค่าบริการเป็นวินาทีเป็นวิธีการคำนวณค่าบริการที่เป็นธรรมและสามารถทำได้จริง และ เพื่อให้การดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อประชาชนในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ และเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคที่จะได้ใช้บริการโทรศัพท์โดยมีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที อีกทั้งสำนักงาน กสทช. ยังได้นำเสนอข่าวต่อสื่อมวลชนว่าอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีอีกด้วย ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯ จึงขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการ และขอได้โปรดเร่งรัดให้มีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามจริงเป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมมีมติกำหนดให้ผู้ให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นย่าน 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต
ถัดมาในการประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการของคณะทำงานฯ ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอ กล่าวคือ อัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย รวมถึงอัตราค่าบริการส่วนเกิน และรายการส่งเสริมการขายประเภทบริการ (on top) ของผู้รับใบอนุญาตบนคลื่น 2.1 GHz 1800 MHz และ 900 MHz จะต้องไม่เกินอัตราอ้างอิงที่กำหนด โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องระบุอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการไว้ในเงื่อนไขรายการส่งเสริมการขาย และระบุคลื่นความถี่ที่ใช้ในการให้บริการควบคู่ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจก่อนเลือกใช้รายการส่งเสริมการขายนั้นๆ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตจะต้องคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีบนคลื่นย่าน 2.1 GHz ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ด้วย
อย่างไรก็ดี ภายหลังสำนักงาน กสทช. ได้จัดประชุมหารือกลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในเวลาต่อมา ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ โดยมี กสทช. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 29/2559 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน กสทช. ได้นำผลการศึกษาของคณะทำงานฯ เสนอ กทค. เพื่อพิจารณา โดยผลการศึกษาดังกล่าวเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในลักษณะเดิม เพียงแต่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ลดระดับการกำกับดูแลลง ว่าให้มีรายการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่อัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการต้องไม่เกินอัตราอ้างอิง ส่วนแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีนั้น ก็มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันคือ ให้ผู้รับใบอนุญาตต้องมีรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมไม่น้อยกว่าครึ่งที่คิดค่าบริการประเภทเสียงเป็นวินาทีและบริการอินเทอร์เน็ตเป็น KB
อย่างไรก็ตาม แนวทางของคณะทำงานฯ ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอนั้น ขัดกับมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ซึ่งกำหนดให้บังคับผู้รับใบอนุญาตจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอขอทบทวนมติ ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ก็ได้จัดทำวาระเสนอที่ประชุมพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการใหม่ที่จะบังคับใช้กับรายการส่งเสริมการขายและบริการเสริมในตลาดเพียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่บังคับใช้กับทุกรายการส่งเสริมการขายและทุกบริการเสริมดังเช่นแนวทางเดิม
ประวิทย์ แนะจับตา กทค.ประชุม 11 ม.ค.ห่วงเลิกมติคิดค่าโทรตามวินาที
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า ให้จับตาการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่จะจัดประชุมในวันพุธที่ 11 ม.ค.60 นี้ว่าจะมีการทบทวนมติ กทค.ที่กำหนดคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย เมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 หรือไม่ และหากทบทวนด้วยการมติยกเลิกมติดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะขัดกับประกาศประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งถือเป็นกฎหมายหรือไม่
พร้อมเสนอบทความเรื่อง"คิดค่าโทรเป็นวินาที ข้อเสนอเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย" ระบุว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) ได้ลงมติเห็นชอบรายงานการศึกษาเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริงโดยคิดเป็นวินาที เมื่อ 6 ม.ค.58 และต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.58 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ในระยะแรกรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ผู้ให้บริการจัดทำโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาทีเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ในระยะที่สองต้องปรับแก้วิธีคิดค่าบริการให้เป็นวินาที โดยต้องทำให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน แม้ต่อมาผู้ให้บริการจะจัดทำโปรโมชั่นทางเลือกแบบคิดค่าบริการเป็นวินาที ซึ่งมีจำนวนน้อย และมีอัตราค่าบริการแพงขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีท่าทีที่จะดำเนินการต่อในระยะที่สองแต่อย่างใด
จนกระทั่งเมื่อ 20 เม.ย.59 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สปท.จึงมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช.ว่า ทางคณะกรรมาธิการได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรแก่เวลาที่ผู้ให้บริการจะคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง และเป็นไปตามที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยแถลงต่อสื่อมวลชนว่า ค่าโทรบนคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่จัดประมูลไปนั้นจะคิดตามจริงเป็นวินาที จึงขอให้เร่งรัดการคิดค่าโทรเป็นวินาทีทั้งระบบโดยเร็ว
ข้อเสนอเรื่องการคิดค่าโทรตามการใช้งานจริง จึงมีที่มาจากทั้ง สปช. และ สปท. โดยได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว มิใช่เป็นการเรียกร้องลอยๆ ของกลุ่มผู้บริโภคที่ขาดเหตุผลแต่อย่างใด
"ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่า ผู้ให้บริการจะได้ประโยชน์ และผู้บริโภคจะเสียประโยชน์หากคิดค่าโทรเป็นวินาทีนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า หากผู้ให้บริการได้ประโยชน์จากการคิดค่าโทรเป็นวินาทีจริงๆ คงแย่งกันทำเสียนานแล้วโดยภาครัฐไม่ต้องเสนอ เพราะเอกชนนั้นทำเพื่อประโยชน์หรือกำไรสูงสุดอยู่แล้ว แต่การที่เอกชนพากันคัดค้าน เพราะข้อเท็จจริงจากสหภาพยุโรปสรุปว่า ผู้ให้บริการได้ค่าบริการส่วนเกินจากการปัดเศษที่มากกว่าการใช้งานจริงไปถึงร้อยละ 24 การคิดค่าโทรตามจริงจะทำให้ผู้บริโภคได้เวลาคืนมาโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หมายความว่าผู้ให้บริการจะขาดรายได้ที่ไม่เป็นธรรมจากที่เคยปัดเศษค่าโทรนั่นเอง"
เรื่องการปัดเศษค่าโทรนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติห้ามในกฎหมายความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และรัฐสภาสเปนได้บัญญัติห้ามในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2549 ส่วนโปรตุเกสได้บัญญัติห้ามไว้ในกฤษฎีกาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางธุรกิจต่อผู้บริโภค จะเห็นได้ว่า การคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที หรือการห้ามปัดเศษค่าโทร เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิใช่ผู้ให้บริการ และการปัดเศษค่าโทรนั้น กฎหมายในหลายประเทศถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
แนวคิดเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงในหลายประเทศ เป็นไปตามหลักการว่า ผู้บริโภคไม่ต้องชำระค่าบริการในส่วนที่ไม่ได้ใช้บริการ ดังนั้นการปัดเศษอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วย หลายท่านที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ อาจไม่ทราบว่า ทุกครั้งที่เชื่อมต่อ ค่ายมือถือก็มีการปัดเศษจากกิโลไบต์เป็นเมกะไบต์เช่นกัน ซึ่งรุนแรงกว่าการปัดเศษวินาที เพราะการปัดเศษวินาที คือปัดให้เต็ม 60 วินาที อย่างเก่งคือปัดขึ้น 60 เท่า แต่การปัดเศษอินเทอร์เน็ตนั้น ปัดให้เต็ม 1,024 กิโลไบต์ คือปัดพันเท่า และเคยมีบางโปรโมชั่นที่ปัดเป็น 100 เมกะไบต์ด้วยซ้ำ นั่นคือปัดแสนเท่า
ในประกาศประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz นั้น สำนักงาน กสทช. ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า มีการกำหนดให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง การพยายามบิดเบือนข้อความเพื่อให้คิดเป็นนาทีได้ จึงขัดกับประกาศประมูลซึ่งถือเป็นกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันจับตามองว่า อะไรที่จะมามีอิทธิพลเหนือกฎหมาย
ADVANC -TRUE ค้านคิดค่าโทรเป็นวินาที ชี้กระทบพฤติกรรมการใช้งาน-โปรฯเหมาจ่าย วอนกทค.ทบทวนมติ
บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ขอชี้แจงกรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะประชุมเพื่อพิจารณาคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามมติกทค.เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ว่า บริษัทฯ น้อมรับมติกทค.และจะปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมกทค.ดังต่อไปนี้
1.การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz บริษัทฯ ประเมินว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70-80 ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกการส่งเสริมการขายที่เป็นแพคเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช.กำหนดมาใช้ในการคำนวณ ได้แก่ คลื่น 2100 MHz หรือ 3จี คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ คลื่น1800 MHz 900 MHz หรือคลื่น 4 จี กสทช.กำหนดให้คิดต่ำกว่า นาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์ บริษัทฯ นำมาหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์ การคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัทฯ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกแพคเกจหรือโปรโมชั่น ในราคาเหมาจ่าย เพราะยิ่งโทรนานเท่าไหร่ ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
2. บริษัทฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4 จี และคลื่น 3 จี ซึ่งสำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 โดยบริษัทฯ ยืนยันว่าแนวทางเหมาะสมที่สุด คือ คิดอัตราค่าบริการโทรตามจริงเป็นวินาทีและการคิดเป็นเหมาจ่าย ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น ถ้าผู้บริโภคต้องการใช้บริการที่คิดอัตราค่าโทรตามจริงเป็นวินาที บริษัทฯ พร้อมยินดีสนับสนุน
3. บริษัทฯ ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามมติกทค.ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้กทค.ยืนยันใช้มติวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ดังเดิมต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น
ด้านบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่าตามที่ กทค.จะจัดประชุมเพื่อพิจารณาคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามมติกทค.เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 นั้น ทรูมูฟ เอช พร้อมจะปฎิบัติตามมติกทค.ทุกประการ แต่ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมดังต่อไปนี้
1. การคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ย่าน1800 MHz และ 900 MHz บริษัทฯ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70-80 ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะบริษัทฯ อาจมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องยกเลิกแพคเกจและโปรโมชั่นเหมาจ่ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน บริษัทฯจะนำอัตราค่าบริการตามอัตราที่กสทช. กำหนดมาใช้ในการคำนวณ ได้แก่ คลื่น 1800 MHz 900 MHz หรือคลื่น 4จี กสทช.กำหนดให้คิดต่ำกว่านาทีละ 69 สตางค์ หรือสูงสุดได้ไม่เกินนาทีละ 68 สตางค์ บริษัทฯหารเฉลี่ยแล้วตกวินาทีละ 1.13 สตางค์ ส่วนคลื่น 2100 MHz หรือ 3 จี คิดค่าบริการนาทีละ 82 สตางค์ จะหารออกมาเป็นวินาทีละ 1.37 สตางค์ ซึ่งการคิดอัตราค่าบริการเป็นวินาที เพียงทางเดียวเช่นนี้ บริษัทฯ ประเมินว่าส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เลือกบริการโทรนานๆ แต่เสียค่าบริการในราคาเหมาจ่ายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ไม่สอดคล้องกลไกตลาดและการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
2. บริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์ขอให้กทค. และ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว ทั้งยังเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อย ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งคลื่น 4 จีและคลื่น 3 จี สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสม ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด โดยให้มีทั้งการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีและการคิดเป็นเหมาจ่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ตามความจำเป็น
3. บริษัทฯ ยินดีปฏิบัติตามมติกทค. ทุกประการ แต่หากมติดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกลุ่มที่เรียกร้องให้ กทค. ใช้มติวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จะต้องแสดงความรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น
อินโฟเควสท์