- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 02 August 2014 19:06
- Hits: 3250
หึ่งล็อกสเปกกล่องทีวีดิจิตอล ตั้งเงื่อนไขเอื้อรายใหญ่ จี้กสทช.เร่งแจกคูปอง
ไทยโพสต์ ; สายลม *'สุภิญญา'ชี้ทีโออาร์ บริษัทผลิตกล่องอาจล็อกสเปกเอื้อรายใหญ่ หลังบอร์ดเคาะเงื่อนไขทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ดิจิตอลยื่นหนังสือ กสทช. เร่งแผนประชาสัมพันธ์-แจกคูปอง เผยรายได้ไม่สดใสต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้าน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกรณีที่สำนักงาน กสทช. กำหนดขอบเขตเงื่อนไขและคุณสมบัติ (ทีโออาร์) ของบริษัทผู้ผลิตกล่องที่จะเข้าร่วมโครงการคูปองทีวีดิจิตอลต้องมีทุนจดทะเบียนถึง 250 ล้านบาท ในระดับชาติ และ 100 ล้านบาทในระดับจังหวัด เนื่องจากเป็นทุนจดทะเบียนที่สูง และกังวลว่าจะเอื้อกับผู้ประกอบการรายใหญ่มากเกินไป
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีกว่า 70 บริษัท ที่ขออนุญาตผ่านมาตรฐานทางเทคนิคขายกล่องรับสัญญาณจาก กสทช. และมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านขึ้นไป ซึ่งการกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนระดับมากกว่า 100 ล้านบาทในครั้งนี้ อาจทำให้เหลือบริษัทผู้ผลิตน้อยรายที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
"การแจกคูปองเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่พอใจ ไม่ใช่การประมูลเพื่อแจกกล่องและต้องสกรีนบริษัทให้เหลือน้อยราย ซึ่งการกำหนดบริการอื่นๆ เช่น คอลเซ็นเตอร์ จุดรับซ่อมหลังการขาย ถือเป็นการสกรีนรายเล็กๆ ออกจากระบบอยู่แล้ว การไปกำหนดทุนจดทะเบียนสูงเกินเหตุ จึงดูเหมือนจงใจเอื้อรายใหญ่ และจะทำให้การฮั้วราคาเกิดขึ้นได้ง่าย" น.ส.สุภิญญากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.57 เวลา 11.00 น. ตัวแทนผู้ประกอบการช่องราย การทีวีดิจิตอลในกลุ่มธุรกิจทั้ง 24 ช่อง ได้เดินทางมาที่สำนักงาน กสทช. เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้เร่งรัดแผนประชาสัมพันธ์ และการแจกคูปองเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลให้แก่คนไทยทั้ง 22.9 ล้านครัวเรือน
นายสุภาพ คลี่ขจาย ประ ธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดิจิตอล ได้เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อ กสทช.ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 3 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ต้องการให้ กสทช. เร่งรัดแผนประชาสัมพันธ์การรับชมทีวีดิจิตอล เนื่องจากเมื่อดูจากผลสำรวจในเวลานี้พบว่า ประชาชนรู้จักทีวีดิจิตอลน้อยมาก ส่วนประเด็นที่ 2.การแจกคูปอง ซึ่งก่อนหน้านี้ระบุไว้ว่า จะเริ่มดำเนินการแจกในวันที่ 15 ก.ย.57 อยากสอบถามความเป็นไปได้ในการแจกคูปองให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากธุรกิจมีค่าใช้จ่ายที่สูง และ 3.ในการแลกคูปองอยากให้ กสทช.ดูแลเรื่องการสวมสิทธิ์และการสมยอมกันระหว่างผู้แลกกับร้านค้าในการนำคูปองทีวีดิจิตอลไปขึ้นเงินสด และ 4.ต้องการให้ กสทช.เร่งรัดให้ผู้ประกอบการโครงข่ายให้บริการทีวีดิจิตอลได้เข้าถึงพื้นที่ทั้งหมดแบบทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่มีจุดอับสัญญาณ
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ทาง กสทช.ยินดีที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของทางผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดิจิตอล ซึ่งในส่วนที่เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช.จะดำเนินการทันที ส่วนที่นอกเหนือจะทำเรื่องเสนอต่อบอร์ด กสทช.พิจารณา โดยในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ขอยืนยันว่า จะดำเนินการในเดือนสิงหาคม เพื่อให้สอดรับกับการแจกคูปองทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้.
กลุ่มวิชาชีพวิทยุ-ทีวีรวมตัวค้านหั่นราคาคูปองทีวีดิจิตอลเหลือ 690 บาท
นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทผู้ประมูลช่องดิจิตอลทีวีชั้นนำ บีอีซี-มัลติมีเดีย, ช่อง7, แกรมมี่, อาร์เอส, ทรูวิชั่น, ไทยรัฐทีวี, New TV, พีพีทีวี, และตัวแทนผู้จัด, ผู้ผลิตรายการแถวหน้า อาทิ กันตนา, บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น, ทีวีธันเดอร์ ฯลฯ มีมติเตรียมเปิดแถลงการณ์และยื่นจดหมายร้องเรียนต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางการทำงานของ กสทช.โดยตรง
โดยเฉพาะการประกาศกลับมายืนราคา 690 บาท ของคูปองแลกกล่องทีวีดิจิตอล ทั้งที่ผลประชาพิจารณ์ทั่วประเทศชัดเจนว่าประชาชนต้องการราคา 1,000 บาท เพื่อได้อุปกรณ์การรับชมที่มีคุณภาพดีที่สุด และเป็นราคาที่สมเหตุผลกับเทคโนโลยีความคมชัดแบบ HD สุดท้ายหากราคาคูปองไม่สอดคล้องกับกลไกตลาด ผู้บริโภคจะเดือดร้อนต้องเพิ่มเงินส่วนต่าง จะส่งผลทำให้ประชาชนเมินใช้คูปองแลกกล่อง สุดท้ายธุรกิจทีวีก็จะสะดุดทั้งอุตสาหกรรม
“นโยบายที่ล่าช้าและเปลี่ยนไปมาของ กสทช.ทำให้เวลานี้ผู้ประกอบการเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งผู้ที่เข้าประมูลช่องทีวีดิจิตอลทั้งระบบ SD และ HD ทั้งผู้ผลิตรายการ โดยเฉพาะช่อง HD ทั้งหลาย เขาไม่มีความเชื่อมั่นว่าราคาคูปอง 690 บาทจะทำให้ประชาชนเข้าถึงคุณภาพที่ดีที่สุดของระบบการออกอากาศแบบ HD ได้ จากการประชาพิจารณ์ทั้งจากภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าประชาชนต้องการสิ่งที่ดีที่สุด และรองรับเทคโนโลยีที่มันสมัยที่สุด คือราคา 1,000 บาท เพราะข้อมูลต้นทุนราคากล่องที่ กสทช.และฝ่ายคัดค้านได้มาเพื่อสนับสนุนราคา 690 บาทนั้น เป็นราคาของกล่องรุ่นสแตนดาร์ด หรือ SD เท่านั้น"
สำหรับ ประเด็นที่บางกลุ่มเกรงว่าการให้ราคาคูปอง 1,000 บาทจะทำให้ราคากล่องในตลาดมีราคาสูงเกินจริงนั้น นางจำนรรค์ กล่าวว่า เขาไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริงของตลาด ยิ่งเปิดการแข่งขันเสรีทั้งรายใหญ่รายเล็ก ยิ่งจะทำให้ราคาทั้งระบบถูกลง แต่ทำไมต้องไปปิดกั้นสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงคุณภาพของการรับชมที่เขาควรได้รับ เงินที่ได้จากการประมูล คือเงินของผู้ประกอบการ เมื่อประมูลแล้วก็คาดหวังให้ กสทช.คืนให้กับประชาชน โดยแจกให้เยอะที่สุด เร็วที่สุด ในราคาที่ทำให้ประชาชนได้ของคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีสู่ระบบดิจิตอลทั้งระบบโดยเร็วที่สุด
“กสทช.ควรจะห่วงและฟังผู้ประกอบการที่เป็นตัวจริงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประมูลช่อง,ผู้จัด, ผู้ผลิตรายการ เหล่านี้ พวกเราต้องการให้เกิดการรับชมทีวีดิจิตอลโดยเร็ว และเข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึงอย่างมีคุณภาพเสียก่อน ส่วนอื่นๆจึงจะได้รับผลพลอยได้เกิดขึ้นตามมา แต่เวลานี้ผู้ประกอบการตัวจริงกำลังจะตายแล้ว จากการได้ข้อมูลผิดๆแล้วนำมากำหนดเป็นนโยบายโดยไม่ฟังเสียงประชาชนและผู้ประกอบการตัวจริง"นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าว
ทั้งนี้ มติของการประชุมสมาชิกและกรรมการสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพฯ มีมาตรการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการดำเนินงานของ กสทช.ด้วยการเตรียมแถลงการณ์และยื่นจดหมายถึงหัวหน้า คสช.ในสัปดาห์หน้า และเตรียมยื่นจดหมายถึงกสทช.เพื่อขอชะลอการชำระค่าประมูลช่องรายการ และค่าธรรมเนียมต่างๆจนกว่าจะมีมาตรการหรือแผนงานที่ชัดเจนเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการช่องดิจิตอลทีวีที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานที่ล่าช้าของ กสทช.
อินโฟเควสท์
กสทช. ห้ามผู้ค้ากล่องทีวีดิจิตอลเรียกสำเนาบัตรประชาชนจากผู้ซื้อ
กสทช. ปรามผู้ประกอบการขายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลห้ามเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนจากลูกค้า
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัวแทนผู้บริโภค เรียกประชุมผู้ประกอบการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล เพื่อชี้แจงนโยบายที่ไม่ต้องการให้มีการเรียกเก็บสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากชาวบ้าน หลังจากมีข่าวว่า บริษัท โซกู๊ด โกลบอล จำกัด เรียกเก็บบัตรประชาชน จนชาวบ้านบางส่วนเกรงว่า อาจจะถูกนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน จากที่ก่อนหน้า กสทช.ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท วินเนอร์ ดิจิตอล และบริษัท การศึกษาก้าวไกล มาแล้ว