- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 26 July 2014 08:48
- Hits: 3073
3 ค่ายหอบเอกสารพบ กสทช.ชี้แจงผู้ถือหุ้นโปร่งใส
แนวหน้า : ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2557 กสทช.ได้เรียกตัวแทนผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 รายเข้าพบเพื่อประชุมและหารือเรื่องการตรวจสอบผู้ถือหุ้นของต่างชาติในสัดส่วน การถือหุ้นไม่เกิน 49% ว่าเป็นตามกฎหมายหรือไม่ และให้เป็นไปตามประกาศของ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อหาการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น เข้าชี้แจงสัดส่วนหุ้นเป็นรายแรก ลำดับต่อมาคือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตามลำดับ เอกสารที่ผู้ประกอบได้นำมาชี้แจงอาทิ ภาพรวมการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการถือหุ้น และการถือครองธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ ฯลฯ
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ระบุเพียงว่า การตรวจสอบการถือหุ้นของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นการทำตามกฎกติกาที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติรายใดรายหนึ่ง ซึ่งจะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการถือหุ้นทั้งทางตรง ทางอ้อม การถือหุ้นไขว้ และการตั้งบริษัทนอมินี (ถือหุ้นแทน)ด้วย
โดยขั้นตอนต่อไปนี้หลังจากเอกสารมาชี้แจงแล้ว จะรวบรวมเอกสารเพื่อนำเข้าอนุกรรมการเตรียมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์หรือการประมูล 4G เพื่อนำมาพิจารณาผู้มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์คัดเลือกให้เข้าประมูล แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะมีคำสั่งให้ชะลอการประมูลออกไปแต่กทค.ก็ต้องเตรียมการประมูลไว้ก่อน
แหล่งข่าวจากห้องประชุม กล่าวว่า การตรวจสอบทำอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำและมีอำนาจในการบริหารจัดการของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การตรวจสอบโครงสร้างของผู้ถือหุ้นนั้น แม้จะมีการตัดสินหรือสรุปว่าผู้ประกอบการ รายใดเป็นต่างด้าว แต่ในท้ายที่สุดผู้ที่ตัดสินคือ กระทรวงพาณิชย์ ส่วนผู้ที่ชี้ขาดคือศาลแพ่ง ซึ่งก็ต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ยื่นฟ้อง กสทช.ไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด