- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 22 July 2014 17:19
- Hits: 3152
รายงานพิเศษ : กทค.เห็นด้วยกับคำสั่ง คสช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่
พ์แนวหน้า : รายงานพิเศษ : กทค.เห็นด้วยกับคำสั่ง คสช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ ยอมรับ..พรบ.จัดตั้ง กสทช.มีจุดอ่อนและอุปสรรค
หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ พร้อมทั้งสั่งให้มีการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานในกิจการของรัฐในทุกกระทรวงและทุกองค์กรของรัฐ รวมทั้งเรื่องของการ จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีหลายส่วนอาจมองว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งมุมมองนั้นอาจเกิดการวิเคราะห์ภายใต้เงื่อนไขของข้อมูลที่มีข้อจำกัด
ทั้งนี้ มีหนึ่งมุมมองต่อนโยบายของ คสช.ที่น่าสนใจของคนที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้โดยตรง คือ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
โดยกล่าวว่า คสช.เดินมาถูกทางแล้ว จากการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 94/2557 เรื่องการระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับจากฅวันที่มีคำสั่ง และให้ กสทช. ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มีจุดอ่อนและอุปสรรค รวมทั้งไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย และทำให้ผู้ปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีความยุ่งยาก และเกิดอุปสรรค โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในมาตรา 45 ที่ว่า “ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่.....” ทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะสามารถใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลคลื่นความถี่นั้นอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและเป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอไปในบางกรณี อีกทั้งยังพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบางประการ ส่งผลให้กิจการในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ต้องเข้าประมูลไปด้วย อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และพบว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมโลก
ประธาน กทค. มีความเห็นว่า คสช. มาถูกทางที่ให้มีการปฏิรูปกฎหมายโทรคมนาคมก่อน โดยเฉพาะในส่วนของการจัดสรรคลื่นความถี่ ก่อนที่จะขับเคลื่อนในส่วนอื่นๆต่อไป อีกทั้งในคำสั่ง คสช. ยังมีการนำประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือประกาศ ห้ามซิมดับ มาใช้คุ้มครองผู้บริโภค จึงชัดเจนแล้วว่าประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์ต่อประชาชนและสาธารณะอย่างแท้จริงเนื่องจากทำให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการดำเนินการของ กทค. เป็นไปด้วยความถูกต้อง และถูกทางแล้ว และยังได้ปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ว่า กสทช. จะคืนคลื่นความถี่ให้แก่ CAT และ TOT เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ดร.เศรษฐพงค์ ยังระบุอีกว่า ในส่วนของ กทค. ในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม หรือ USO ซึ่งได้ทำโครงการขยายโครงข่ายบริการโทรศัพท์ และอินเตอร์เนตอย่างทั่วถึง ใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และหนองคาย และจะดำเนินการในจังหวัดที่เหลือต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดให้มีโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรคมนาคมและสารสนเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย ภายหลังจากการให้บริการเครือข่าย 3G บนความถี่ย่าน 2.1 GHz เพียงไม่นานพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตได้มีการขยายโครงข่ายออกไปในหลายพื้นที่มากขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการบนเครือข่าย 2.1 GHz มีจำนวนทั้งสิ้น 43.7 ล้านเลขหมาย เป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ถึง 25.6 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสิ้นประมาณ 94 ล้านเลขหมาย(ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และ Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าเพิ่มของธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย จากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้
ผลทางตรง 1.รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz นำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้แก่กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศ 4.1 หมื่นล้านบาท 2.ค่าธรรมเนียมในการกำกับดูแล (regulatory fees) ของผู้ประกอบการบนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz 3 พันล้านบาท/ปี ผลทางอ้อม 1.การลงทุนรวมในอุปกรณ์โครงข่าย เช่น core network และสายเคเบิลในช่วง 3-5 ปีแรกภายหลังการประมูล 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟน ในปี 2014 ซึ่งเติบโตร้อยละ 30 ต่อปีจากช่วงก่อนการประมูล 3G ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 3.มีมูลค่าการใช้งานอินเตอร์เนตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2014 ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโต 26% จากปีก่อนหน้า 4.มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Banking ในปี 2556 ที่ผ่านมา เช่น การโอนเงิน และการชำระค่าบริการต่างๆ ประมาณ 7 แสนล้านบาท 5.มูลค่าตลาดของ Internet Data Center ในปี 2014 ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% เมื่อเทียบจากปี 2012 ด้วยดีมานด์จากลูกค้าองค์กรเมื่อการดึงข้อมูลทำได้เร็วขึ้นจาก 3G 6.เม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งดึงดูดให้เกิดการสร้างแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์บนมือถือในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น 7.ในปี 2014 กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะมีการใช้สื่อดิจิตอลในการโฆษณามากขึ้น คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 5.8 พันล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มจากปี 2013 ประมาณ 38%
นอกจากการเติบโตทางภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกระทบต่อเนื่องกันไป ดังนั้นการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเตอร์เนตความเร็วสูง ที่แสดงจากอัตราการเข้าถึงบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากิจการโทรคมนาคม สามารถผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเตอร์เนตความเร็วสูงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่
ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนและกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ การเติบโตดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาแนวทางการศึกษาพื้นฐานของประเทศ ช่วยลดช่องว่างทางสังคม โดยโครงการ USO ที่แล้วเสร็จใน 2 จังหวัดนำร่องดังกล่าว จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ในพื้นที่ห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะช่วยผลักดันมิติแห่งการเรียนรู้ให้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาในสังคม อันจะส่งผลถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของประเทศไทยด้วย