- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 19 April 2016 18:37
- Hits: 6628
TRUE ส่งตัวแทนเข้ารับเอกสารประมูลคลื่น 900 MHz เป็นรายที่ 2 เช้านี้ต่อจาก ADVANC
รายงานข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.40 น.ของวันนี้ ตัวแทนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ได้เข้ามารับซองเอกสารแสดงความจำนงขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ หลังจากวานนี้ ตัวแทน จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้เข้ามารับเอกสารดังกล่าวเป็นรายแรก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ได้มอบเอกสารคำขอรับใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้กับผู้แทนจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งได้เดินทางมารับเอกสารดังกล่าวในเวลา 10.40 น. วันนี้ โดย TRUE ถือว่าเป็นรายที่สองที่เข้ารับเอกสาร จากก่อนหน้านี้เป็นผู้แทนจาก AWN
ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ TRUE ในฐานะตัวแทนเข้ารับซองเอกสารคำขอรับใบอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กล่าวว่า บริษัทฯยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในรอบใหม่นี้หรือไม่ โดยการมารับซองเอกสารเพื่อจะนำไปศึกษา เนื่องด้วยรูปแบบของการประมูลดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น วงเงินค้ำประกัน ,เงื่อนไขการเคาะราคา หรือการเข้าประมูลเพียงรายเดียว
"วันนี้มาแค่รับเอกสาร เพราะว่ามีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างจากครั้งที่แล้ว ซึ่งเราก็คงนำไปศึกษา และน่าจะได้คำตอบอีกครั้งหนึ่ง"นายจักรกฤษณ์ กล่าว
อนึ่ง กสทช.ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล ในวันที่ 12 เม.ย.-17 พ.ค.59 และเปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลวันที่ 18 พ.ค.59 จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลวันที่ 19-22 พ.ค.59 และประกาศผลผู้เข้าร่วมประมูล วันที่ 23 พ.ค.59 โดยจะจัดให้มีการประมูลขึ้นในวันที่ 27 พ.ค.59
นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างรอ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่จะเข้ารับเอกสารเป็นรายต่อไป เนื่องจากต้องการให้ DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารของ DTAC
สำหรับ ขั้นตอนของการเคาะราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่นี้ กสทช.ได้มีการกำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ที่ 75,654 ล้านบาท โดยการเคาะราคาครั้งแรกเป็นการเคาะเพื่อยืนยันราคา และเคาะราคาครั้งต่อไปจะต้องเพิ่มขึ้นรอบละ 152 ล้านบาท ส่วนกรณีที่หากมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวก็จะต้องเคาะเพื่อยืนยันราคาเพียงครั้งเดียวก็จะถือว่าการประมูลเสร็จสิ้น
ส่วนเงื่อนไขการยื่นซองประมูลครั้งนี้ กำหนดให้วางแบงก์การรันตีสูงขึ้นมาเป็น 5% ของราคาเริ่มต้นประมูล หรือคิดเป็นวงเงิน 3,783 ล้านบาท
กสทช.ยื้อคำขอ'ทรูมูฟเอช'ใช้เครื่องวิทยุโทรคมนาคม
แนวหน้า :แหล่งข่าวระดับสูงจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงาน กสทช.ได้อนุมัติบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรูคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE รับ ใบอนุญาตใช้เครื่องวิทยุคมนาคม บนคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) 1,500 เครื่อง ตามที่ทรูฯ ได้ยื่นขอใช้เครื่องจำนวน 6,000 เครื่อง สาเหตุที่อนุมัติไม่ครบ เนื่องจากเอกสารเรื่อง การติดตั้งสถานีฐานที่อ้างอิง และผูกกับการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม 4Gบนคลื่น 900 MHz นั้นยังไม่ครบ และยังไม่ครอบคลุมการให้บริการ
"ทรูฯ ยังมีเทคโนโลยีการให้บริการ 4G ไม่ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ กสทช.จึงยังไม่อนุมัติให้ตามที่ขอถึง 6,000 เครื่องเพราะขณะนี้ทรูฯ ยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมตามที่เคยได้ประกาศไว้ หลังจากได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ทาง บริษัทมจะต้องขยายโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 900 MHz ในทันที"
ทั้งนี้ ภายในเดือนพ.ค.นี้คาดว่าทรู จะมีจำนวนสถานีฐาน 16,000 แห่งและในสิ้นปีจะมีจำนวน 22,000 แห่งซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 97% ครอบคลุมต่อจำนวนประชากร
อย่างไรก็ตาม ทรูฯ ในสัปดาห์หน้าทรูฯ จะยื่นขอ ใบอนุญาตใช้เครื่องวิทยุคมนาคม บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อีกครั้ง โดยขอเพิ่มอีก 20,000 เครื่อง
AIS ซุ่มรับซองแย่งคลื่น 900
ไทยโพสต์ : ซอยสายลม * เอไอเอส ดอดยื่นซองร่วมประมูลคลื่น 900 รอบใหม่รายแรก หลัง คสช.ใช้ ม.44 ประกาศให้มีการจัดประมูลรอบใหม่ 27 พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2559 นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ตัวแทนบริษัทแอด วานซ์ ไวเลส เน็ตเวิร์ค (เอดับบลิวเอ็น) ซึ่งอยู่ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำ กัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้มารับเอกสารเพื่อขอรับใบอนุญาต ความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 895-905/940-950 เมกะเฮิรตซ์ หรือการประมูล 4จี เป็นรายแรก ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.) หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ประกาศให้มีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ในวันที่ 27 พ.ค.2559 นี้
ทั้งนี้ กสทช.ได้ทำตามคำสั่ง คสช.เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม จากกรณีที่ได้มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ ตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม โดยจะกำหนดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เริ่มประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประ มูล ในวันที่ 12 เม.ย.-17 พ.ค.2559 และเปิดยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลวันที่ 18 พ.ค.2559 จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลวันที่ 19-22 พ.ค.2559 และประกาศผลผู้เข้าร่วมประมูล วันที่ 23 พ.ค.2559 โดยจะจัดให้มีการประมูลขึ้นในวันที่ 27 พ.ค.2559 นี้
สำหรับ ราคาประมูลในรอบแรกกำหนดไว้ที่จำนวน 75,654 ล้านบาทและต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวน 3,783 ล้านบาท ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชน หรือเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมมีอำนาจดำเนินการเพิ่มเติมหรือแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ กฎการประมูล และกำหนดการประมูลคลื่นความถี่ตามบัญชีท้ายคำสั่งนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อนดำเนินการต่อไป.
ADVANC พร้อมให้บริการ 4G ครอบคลุม 77 จังหวัดในไทย,ยอดลูกค้าพุ่งกว่า 6 ล้านราย
นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ขณะนี้เอไอเอสพร้อมประกาศให้บริการ AIS 4G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว โดยใช้เวลาขยายเครือข่ายสั้นที่สุดเพียง 3 เดือน หลังจากได้รับใบอนุญาตเมื่อเดือนธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการ AIS 4G ADVANCED แล้วกว่า 6 ล้านราย
"นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยและโลก ที่ใช้เวลาในการขยายเครือข่ายเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา"นายปรัธนา กล่าว
นายปรัธนา กล่าวอีกว่า เอไอเอสยังเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 4.5G ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps ภายในเดือนเม.ย.นี้ อย่างแน่นอน และยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพเครือข่ายในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนที่เตรียมไว้ราว 40,000 ล้านบาท
กสท.ระบุกรณีปรับ JAS ไม่กระทบไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอล MONO เหตุคนละนิติบุคคล
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตั้งคณะทำงานตรวจสอบความเสียหายจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ไม่จ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHZ และตรวจสอบใบอนุญาตอื่นในกลุ่มบริษัทเดียวกันนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของช่องโมโนทีวีที่บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิตอลทีวี เพราะเป็นคนละนิติบุคคล และคุณสมบัติของช่องโมโนไม่มีปัญหา
"การตรวจสอบไม่ได้มีผลกระทบใดๆ กับโมโน"พ.อ.นที กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) ซึ่งมีนายพิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้นใหญ่ 71.99% และเป็นประธานกรรมการบริษัท
นายกสมาคมนักวิเคราะห์ ชี้ JAS เบี้ยว 4G ทำให้ประเทศชาติเสียหน้าครั้งใหญ่ ระบุเปิดประมูลใหม่ต้องรัดกุม
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้สัมภาษณ์หลังงานเปิดซื้อขายหุ้นวันแรกของ TPBI ถึงกรณี แจส โมบาย เบี้ยวจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ทำให้ประเทศเสียหน้าครั้งใหญ่ พร้อมเห็นด้วยก.ล.ต.แก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์คุมเข้มตลท. แต่ไม่เห็นด้วยกรณีให้รัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของตลท. แจงกรณีรัฐบาลใช้ ม.44 เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าลงทุนยาว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
กรณี บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระค่าใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz ทำให้ประเทศชาติเสียหน้าครั้งใหญ่และความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง กรณีนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่ผู้ชนะการประมูลไม่นำเงินมาชำระ ซึ่งจะต้องมีการเร่งชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับต่างประเทศที่กำลังจับตามองเรื่องนี้
ส่วนการจัดประมูลใหม่จะต้องรัดกุมมากขึ้นและต้องแก้ไขกติกาที่มีปัญหา เช่น ผู้ประมูลจะต้องมีศักยภาพแท้จริงที่สามารถนำเงินมาชำระได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์ทำงานลำบาก เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะ JAS ชี้แจงว่าผลเสียหายต่อ JAS เพียงแค่ยึดเงินประกันการประมูล ขณะที่กสทช.ประเมินมูลค่าเสียหายมากกว่านั้น ทำให้ต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้
ส่วนประเด็นการ ก.ล.ต.รับฟังความคิดเห็นแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ในการคุมเข้มตลาดหลักทรัพย์นั้น เห็นด้วยทั้งในส่วนที่ก.ล.ต.จะออกเกณฑ์ให้ตลาดหลักทรัพย์ปฏิบัติ สามารถออกบทลงโทษตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลที่สามารถทำได้ และกรณีที่มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ใหม่เหลือตัวแทนก.ล.ต. 2 คน และตัวแทนโบรกเกอร์ 2 คน แต่กรรมการที่เหลือก.ล.ต.ต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน จากที่ผ่านมากรรมการตลาดหลักทรัพย์ไม่มีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าวเลย
แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็น รัฐเพียงแค่เข้ามาดูแลในเรื่องการออกกฎเกณฑ์เท่านั้นเพียงพอแล้ว
จากรัฐบาลจะมีการใช้อำนาจ ม.44 ในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำให้ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่รัฐจะมีการลงทุนทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยเติบโต และมีผลให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ขณะที่เม็ดเงินระยะสั้นที่เข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยช่วงนี้จะลงทุนต่อในระยะยาว แต่ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากร่างดังกล่าวไม่ผ่านจะมีผลต่อการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กทค.คาดเคาะราคาตั้งต้นประมูลใหม่คลื่น 900 MHz พรุ่งนี้ก่อนทำประชาพิจารณ์
พ.อ.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) กทค.จะพิจารณาหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ และระบุราคาตั้งต้นประมูล
ขณะนี้ กทค.มีตัวเลขที่จะตัดสินอยู่ 3 ตัวเลข ได้แก่ ราคา 7 หมื่นล้านบาท, ราคา 7.5 หมื่นล้านบาท และ ราคา 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อได้ข้อสรุป รวมทั้งหลักเกณฑ์ประมูลแล้วก็จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและสรุปตัวเลขราคาตั้งต้นที่เป็นทางการอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กทค.เชื่อว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย.นี้แน่นอน
พ.อ.เศรษฐพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะทำงานตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่แจส โมบาย บรอดแบนด์ไม่ชำระเงินประมูลนั้น จะมีการหารือเป็นนัดแรกในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่ง กสทช.ได้มอบหมายคณะทำงานชุดนี้ไปแล้ว จึงต้องรอผลการสรุปผล ส่งมาให้ก่อนที่ กสทช.ว่าจะดำเนินการใดๆ ต่อไป
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การทิ้งใบอนุญาตของแจส โมบาย บรอดแบนด์นั้นทาง กสทช.กำลังดำเนินการอยู่แล้วในการรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของรัฐ ดังนั้น ต้องรอให้กสทช.แก้ปัญหาก่อนตามมาตรการที่ กสทช.ได้วางไว้ โดยรัฐไม่ได้กังวลเรื่องของรายได้ที่จะได้รับลดลง เพราะ กสทช. มีมาตรการชดเชยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
อินโฟเควสท์
ทีโอที 3จี'เดินหน้าจับมือ'เอไอเอส' เชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ ช่วยให้บริการครอบคลุมขึ้น
แนวหน้า : ผู้บริหาร 'ทีโอที' นำร่องในความร่วมมือกับ 'เอไอเอส' แล้ว โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เชื่อมต่อโครงข่าย โทรศัพท์ TOT 3G กับโครงข่าย AIS 3G เพื่อแก้ปัญหาโครงข่ายโทรศัพท์ไม่ครอบคลุมช่วยใช้งานด้านดาต้ามีความเร็วที่สูงขึ้น
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ TOT 3G ระบบ 2100 MHz เปิดเผยว่า ทีโอที จับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เครือเอไอเอส)เชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ TOT 3G คลื่น 2100 MHz กับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS 3G คลื่น 2100 MHz แล้ว โดยลูกค้า ผู้ใช้บริการ TOT 3G สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงสุดของระบบ 3G ในอัตราค่าบริการเดิม ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถตั้งค่าเครื่องโทรศัพท์เพื่อใช้งานโรมมิ่งโครงข่าย AIS 3G ได้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา
'ทีโอที'มีความตั้งใจที่จะมอบบริการที่ดีให้กับลูกค้า TOT 3G คลื่น 2100 MHz ให้มีคุณภาพการใช้งานที่ดีที่สุดด้วยการจับมือกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN เพื่อเปิดให้บริการข้ามโครงข่าย AIS 3G คลื่น 2100 MHz สำหรับลูกค้าผู้ใช้ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ TOT 3G ทั้งแบบเติมเงิน และแบบรายเดือน ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้บริการของ TOT 3G คลอบคลุมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประโยชน์จากการใช้งานด้านดาต้ามีความเร็วที่สูงขึ้น และสามารถให้บริการได้ทั้ง Voice Data MMS และ SMS"
นายมนต์ชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปิดให้บริการข้ามโครงข่ายระบบ 2G คลื่น 900 MHz ของลูกค้าที่ใช้บริการโรมมิ่งโครงข่ายระบบ 2G ที่มีอยู่ประมาณกว่า 2 แสนราย ทีโอที จะทยอยดำเนินการ ปรับเปลี่ยนการโรมมิ่งให้กับลูกค้าจาก โครงข่าย 2G เป็น โครงข่าย AIS 3G แบบอัตโนมัติทั้ง 2 แสนกว่าราย โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ครั้งที่ 2 วันที่ 11 เม.ย. และครั้งที่ 3 วันที่ 14 เม.ย. 2559 โดยจะปิดให้บริการโรมมิ่ง โครงข่ายระบบ 2G คลื่น 900 MHz ทั้งหมดในวันที่ 14 เม.ย. 2559 เป็นต้นไป
สำหรับ อัตราค่าบริการโรมมิ่ง โครงข่าย AIS 3G จะเป็นอัตราค่าบริการเดิมตามแต่ละแพ็กเกจที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ อย่างไรก็ตาม ลูกค้าในบางแพ็กเกจ ควรระมัดระวังการใช้งานอินเตอร์เนตบน โครงข่ายโรมมิ่ง เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้บริการสูงขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากวิธีการโรมมิ่งโดยวิธีอัตโนมัติแล้ว ลูกค้ายังสามารถตั้งค่าโรมมิ่งได้ด้วยตนเอง โดยสอบถามการใช้งานและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tot3g.net และ Call Center โทร. 1777