WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ADVANC

ADVANC ฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ใช้คลื่น 900MHz ของ JAS ระหว่างที่ยังไม่จ่ายเงินค่าไลเซนส์

   บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าได้ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ใช้คลื่น 900MHz ของ JAS ระหว่างที่ยังไม่จ่ายเงินค่าไลเซนส์ เพื่อคุ้มครองลูกค้าให้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง หลัง กสทช. แจ้งยุติการใช้คลื่น 2G ในเที่ยงคืนวันที่ 15 มี.ค. รายละเอียดดังนี้

     ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในสองชุดความถี่ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และปัจจุบันได้ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ 900 MHz ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่จำนวนหนึ่งรายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 พร้อมทั้งแจ้งให้ (เอไอเอส) ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการเดิมจะต้องยุติการให้บริการในเวลา 00.00.01 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2559 นั้น

      เอไอเอสขอให้ความมั่นใจว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวตามแผนที่วางไว้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีผลกระทบน้อยที่สุด โดยสรุปได้ดังนี้

    1.การจัดทำแคมเปญแลกเครื่องให้แก่ลูกค้า โดยจัดเตรียมเครื่องโทรศัพท์ที่รองรับระบบ 3G และ 4G เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำเครื่องเดิมที่เป็นระบบ 2G มาแลกได้ฟรี โดยมีการดำเนินการแลกรับเครื่องผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมดของเอไอเอส รวมถึงขยายบริการไปยังอบต. ทั้ง 7,500แห่งทั่วประเทศ

    2. การดำเนินการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของประชากรทั้งหมด และสามารถให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ใน 42 จังหวัด ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยจะขยายให้ครอบคลุมหัวเมืองใน 77 จังหวัด ภายในกลางปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปีนี้

      3. การร่วมมือกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการโรมมิ่งลูกค้า 2G ที่เหลืออยู่ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว

      4.การทำหนังสือเรียกร้องไปยังกสทช. เพื่อขอให้พิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 900 MHz ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เวลาในการประชาสัมพันธ์และการทำเรื่องโอนย้ายลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บนระบบ 2G โดยยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นการกระทบสิทธิการใช้คลื่นของผู้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz รายใหม่

     ทั้งนี้ เอไอเอสได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 14 มีนาคม 2559 คัดค้านคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ที่ไม่อนุมัติให้ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เอไอเอสยังคงให้บริการในช่วงคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ซึ่งยังไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกสทช.ที่ต้องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้ประโยชน์และสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบถึงผลการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป                                

กสทช.ปัด ADVANC ขอเช่าคลื่น 900 MHz ชุด 1,ย้ำย้ายลูกค้า 2G ก่อนสิ้น 15 มี.ค.

    นายฐากร ตัณสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่า ที่ประชุมมีมติไม่ขยายมาตรการเยียวยาที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ขอให้คณะกรรมการ กสทช.อนุญาตให้บริษัทใช้คลื่นความถี่ 900MHz ชุดที่ 1 จำนวน 5MHz  โดย กสทช.ขอให้ประชาชนดำเนินการย้ายบริษัทผู้ให้บริการหรือย้ายหมายเลขให้แล้วเสร็จภายในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 15  มี.ค.ซึ่งขณะนี้ลูกค้าของไอเอเอสคงเหลืออยู่กว่า 3 แสนเลขหมาย

     "อยากฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้บริการของบริษัทเอไอเอสในคลื่นของย่าน 2G ให้ดำเนินการโอนย้ายเลขหมายหรือโอนค่ายมือถือให้แล้วเสร็จภายใน 15 มีนาคมก่อนเที่ยงคืน"นายฐากร กล่าว

    นายฐากร กล่าวว่า ทาง กสทช.ได้แจ้งให้ทางเอไอเอสให้ส่งเอสเอ็มเอสเพื่อแจ้งเตือนประชาชนตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง กสทช.เชื่อมั่นว่าการแจ้งผู้ใช้บริการย้ายค่ายหรือเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่อื่นนั้นสามารถทำได้วันละ 6 หมื่นเลขหมาย หากเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการแจ้งไปยังบริษัท ผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมาก

    ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ กสทช.เชื่อว่าจาก 3 แสนเลขหมายยังมีผู้ใช้บริการ 2G อยู่จริงเพียง 1 แสนเลขหมายเท่านั้น และเหตุผลที่ให้ยุติบริการในคลื่น 900MHz เพื่อให้เป็นไปตามหลักการเดียวกันกับมติ กทค.ที่เคยใช้ปฏิบัติกับกรณีคลื่น 1,800 MHz ซึ่งระบุว่าเมื่อมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้วมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถือว่าสิ้นสุดลง

    "ไม่จำเป็นต้องขยายมาตรการเยียวยา เพราะจากรายงานทั้งหมด 3 แสนกว่าเบอร์โอนวันละ 6 หมื่น และเรามั่นใจว่าเป็นซิมที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ครึ่งต่อครึ่งซึ่งประชาชนคงไม่ประสงค์จะย้ายไปตรงไหนแล้ว อาจเป็นซิมที่ใช้งานน้อยหรือไม่ได้ใช้งานเลย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้เดือดร้อนใดๆ"นายฐากร กล่าว

     อย่างไรก็ตาม กสทช.จะมีติดตามปัญหาการใช้บริการตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค.นี้ ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่ และหากพบว่ามีปัญหาการใช้งานประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านศูนย์คอลเซนเตอร์ เลขหมาย 1200 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

    นายฐากร เปิดเผยว่า วันนี้ กทค.ยังมีมติรับรองออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สามและใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHzให้กับบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.59-15 มี.ค.74 รวมระยะเวลา 15 ปี และทางบริษัทแจ้งว่าจะมีการส่งแผนและโปรโมชั่นต่างๆ ก่อนที่มีการเปิดให้บริการในเดือน พ.ค.ต่อไป

   ส่วนการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกของบริษัท แจสโมบาย นั้น นายฐากร ระบุว่า ยังไม่ได้รับติดต่อจากทางบริษัท แค่ทราบจากข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทสามารถหาแหล่งเงินจากต่างประเทศได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่คงต้องรอหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการภายในวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์นี้ก่อน

อินโฟเควสท์

ADVANC ดิ้นขอ กสทช.รีบโอนลูกค้าไป AWN -เช่าคลื่น 900MHz ที่ JAS ชนะประมูล แก้ซิมดับ

   นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า บริษัทขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้บริษัทใช้คลื่นความถี่ 900MHz ชุดที่ 1 จำนวน 5MHz เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นส่วนที่ทาง แจส โมบาย ชนะประมูล แต่ยังไม่ได้มาจ่ายค่าใบอนุญาต เนื่องจากลูกค้า 2G ของเอไอเอสใช้งานอยู่ในความถี่ชุดที่ 1 ดังกล่าว โดยบริษัทยินดีชำระค่าใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แก่ประเทศต่อไป

     ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าการเข้าใช้คลื่นดังกล่าวจะไม่เป็นการริดรอนสิทธิผู้ได้รับใบอนุญาตในชุดที่ 2 รวมถึง กสทช.เองก็ต้องการความต่อเนื่องในการให้บริการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีข้อจำกัดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดสัมปทาน

     ส่วนกระแสข่าวข้อเสนอของทาง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ยินยอมให้ กสทช.นำคลื่นความถี่ 900MHz ที่ทางบริษัทลูกของ TRUE เป็นผู้ถือใบอนุญาตมาให้เอไอเอสใช้งานชั่วคราวแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้รูปแบบที่ บมจ.ทีโอที จะต้องสนับสนุนอุปกรณ์ 2G และเอไอเอสดูแลระบบบริหารจัดการนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอนี้โดยตรงจาก TRUE แค่เป็นเพียงการเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม เอไอเอสเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่สามารถเป็นไปได้จริงทั้งในแง่กฎหมาย เนื่องจากยังเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่ กสทช.ต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการให้ผู้อื่นมาร่วมใช้คลื่นความถี่หรือไม่ อีกทั้งในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้เวลาอันสั้น

   "ผมยืนยันว่า กสทช.ทำได้เพียงแต่จะกล้าทำหรือเปล่า และยังไม่ระรานสิทธิของ TRUE"นายสมชัย กล่าว

    นายสมชัย กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้เอไอเอสจะเข้าหารือกับ กสทช. เบื้องต้นอันดับแรกจะขอโอนย้ายลูกค้าเอไอเอสผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่น 900 MHz จำนนวน 4 แสนรายไปเป็นลูกค้าบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีใบอนุญาตใช่คลื่น 2100MHz (3G) โดยอัตโนมัติเป็นกรณีพิเศษที่ลูกค้าไม่ต้องแสดงตน ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาซิมดับหลังจากทาง TRUE เข้ารับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แล้วในวันนี้

     แต่หาก กสทช.ไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ทางเอไอเอสจะขอเสนอเช่าใช้คลื่นความถี่ 900MHz ชุดที่ 1 จำนวน 5 MHz ในส่วนที่ แจส โมบาย เป็นผู้ชนะประมูลเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะโอนย้ายลูกค้าได้ทัน อย่างไรก็ตาม ที่สดหาก กสทช. ไม่อนุญาตตามที่บริษัทร้องขอ ทางเอไอเอสก็จะยังคงเดินหน้าในแนวทางของบริษัทเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากซิมดับ คือ  จัดเครื่องทดแทนให้ฟรีสำหรับลูกค้าที่ยังคงต้องการใช้บริการกับบริษัท แต่จะต้องอัพเกรดบริการไปเป็น 3G หรือ 4G

    และในระยะนี้ยังให้ลูกค้าคลื่น 1800 MHz ภายใต้ AWN ยังถือเครื่องโทรศัพท์ 2G เพื่อใช้งานบนเครือข่ายของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC)หรือดีแทค ที่เอไอเอสร่วมโรมมิ่งมาไว้แล้ว โดยมั่นใจช่องทางนี้รองรับได้ถึง 8 ล้านเลขหมาย ขณะเดียวกันบริษัทเดินหน้าขยายเครือข่าย 3G และ 4G อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแก้จุดบอดของการใช้โครงข่าย 1800MHz ของ DTAC เพื่อให้ลูกค้าเอไอเอส 2G ไม่ได้รับผลกระทบ

      "ถ้า กสทช.ไม่อนุญาตแนวทางที่เราเสนอ วิธีดูแลลูกค้าเอไอเอสเราจะทำ 3 step ที่เราวางแผนไว้แล้ว เรามั่นใจว่า 3 Solution จะช่วยลูกค้า 4 แสนรายซิมไม่ดับ"นายสมชัย กล่าว

    นายสมชัย กล่าวว่า แนวทางทั้ง 3 ทางบริษัทเสียค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในปีนี้ จึงมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ทั้งในแง่รายได้และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปัจจุบันเอไอเอสยังคงเหลือลูกค้าที่ใช้เบอร์ในระบบ 2G คลื่น 900 MHz ราว 4 แสนราย และลูกค้า AWN ที่ยังคงถือเครื่องมือถือ 2G อีกราว 7.6 ล้านราย

    สำหรับ กระแสข่าวข้อเสนอของ TRUE ที่ให้ กสทช.นำคลื่นความถี่ 900 MHz มาให้เอไอเอสใช้งานต่อชั่วคราวนั้น  ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอนี้โดยตรงจากทรูมูฟ เป็นแต่เพียงการเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น อีกทั้งบริษัทฯยังเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่สามารถเป็นไปได้จริง ทั้งในแง่ของกฎหมาย เนื่องจากยังเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ที่กสทช. ต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการให้ผู้อื่นมาร่วมใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือไม่ อีกทั้งในทางปฏิบัติ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันสั้น  เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าเอไอเอส ใช้งานอยู่บนคลื่น 900 MHz ช่วงที่ 1 ซึ่งยังว่างอยู่ มิใช่ช่วงความถี่ของทรูมูฟเอช (ช่วงที่ 2)

     "ที่ TRUE เสนอให้เอไอเอสใช้คลื่น 900 MHz ชุดที่ 2 นั้น ในทางปฏิบัติโครงข่าย 2G เป็นของทีโอที ซึ่งเอไอเอสได้เจรจากับทีโอทีที่จะเช่าใช้โรมมิ่ง และเอไอเอสเป็นผู้บริหารจัดการ ดังนั้นในทางปฏิบัติทำไม่ได้จริง สิ่งที่ทรูเสนอเป็นแค่คำพูดสวยหรู"นายสมชัย กล่าว

อินโฟเควสท์

ADVANC ขอ กสทช.ใช้คลื่น 900 MHz ชุดที่ 1 ของ JAS ในช่วงที่ยังไม่มาจ่ายค่าไลเซ่นส์งวดแรก เพื่อเคลียร์ลูกค้า 4 แสนราย

    บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จัดงานประกาศจุดยืนให้ลูกค้า 2G ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยยื่นข้อเสนอขอขยายระยะเวลาเยียวยาต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นรอบที่ 3 เพื่อขอใช้คลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz ในส่วนของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือJAS ที่ยังไม่ชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรก โดยปัดข้อเสนอของ TRUE ที่จะให้ใช้คลื่นฟรี 3 เดือน เนื่องจากอาจผิดข้อกฎหมาย โดยมีนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ให้ข้อมูล มีสาระสำคัญดังนี้

    เมื่อวันที่ 11 มี.ค.59 บริษัทฯได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช.คัดค้านมติที่ไม่อนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาเยียวยามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคออกไป โดยจะขอใช้คลื่น 900 MHz ในส่วนที่ JAS ประมูลได้จำนวน 5 MHz ในช่วงระยะเวลาก่อนกำหนดครบชำระ 21 มี.ค.นี้ เพื่อติดต่อกับลูกค้า 2G ที่ตกค้างอีกเพียง 4 แสนราย

      "ตามประกาศของกสทช. เมื่อจัดสรรคลื่นความถี่กับผู้ชนะประมูลรายใหม่แล้วจะหยุดให้บริการของผู้ให้บริการรายเดิมทันที แต่ในส่วนของ JAS ยังไม่มีการติดต่อเข้าชำระเงิน ดังนั้นควรจะให้มีการใช้บริการต่อไปจนกว่าจะถึงเส้นตาย 21 มี.ค. เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองผู้บริโภคใช้งานอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีข้อจำกัดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยบริษัทฯยินดีจะนำส่งรายได้ให้แก่รัฐตามหลักเกณฑ์ของประกาศคุ้มครองเช่นเดิมทุกประการ"

    ด้านกระแสข่าวที่ TRUE เสนอให้บริษัทฯใช้งานต่อแบบชั่วคราวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แนวทางดังกล่าวไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะติดข้อกฎหมายที่เข้าข่ายการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ ขณะที่ในทางเทคนิคไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันสั้นเนื่องจากปัจจุบันลูกค้าของบริษัทฯใช้งานอยู่บนคลื่น 900 MHz ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนที่ JAS ประมูลได้

   สำหรับ แนวทางการแก้ไขให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากกสทช.ปฏิเสธที่จะขยายระยะเวลาเยียวยา ประกอบด้วย

  1.ให้ลูกค้าที่ซิมดับไปรับอัพเกรดเครื่องมือถือฟรี ณ ที่ทำการอบต. และเทศบาลทั่วประเทศ

  2.ลูกค้า 8 ล้านเลขหมายสามารถใช้งานบนเครือข่ายของ DTAC ที่บริษัทฯได้เจรจาความร่วมมือโรมมิ่งไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่ม

   หาก กสทช.ไม่อนุญาต จะทำให้เกิดปัญหาซิมดับกับลูกค้า 4 แสนราย ซึ่งไม่มีนัยด้านผลประกอบการ เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานน้อยและอยู่ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่

   อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีความเป็นห่วงและจะเร่งเจรจากับกสทช.เพื่อให้ขอขยายเวลาไปอีก 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย                                                

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!