WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

7958

ทรูฯจ่ายค่าใบอนุญาต 4Gงวดแรกแล้วกสทช.จ่อปิดระบบ 2Gคลื่น 900

   แนวหน้า : ทรูฯพร้อมขยายโครงข่าย 4G หลังได้รับ ใบอนุญาต กสทช. 14 มี.ค. ‘ศุภชัย’กังวล กทค.เตรียมปิดระบบ 2G คลื่น 900 ทำผู้ใช้ บริการเดือดร้อน เชื่อการโอนไปให้ไปใช้ โครงข่าย "ดีแทค" คงรองรับไม่ไหว ด้าน "เอไอเอส" เตรียมเคลื่อนไหวขอให้ บริการต่อ

    ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรก จำนวน 8,040,000,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 อีก 562,800,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,602,800,000 บาท มาชำระให้กับ สำนักงาน กสทช.

      นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้วางหลักประกันการประมูลจำนวน 644,000,000 บาท ไว้กับกสทช.แล้ว จึงเหลือเงินที่จะนำมาชำระ 7,958,800,000 บาท พร้อมกันนี้ได้นำหนังสือ ค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงิน (แบงก์การันตี) ประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 73,036,060,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล

       ขั้นตอนจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำเรื่อง เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ให้กับ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ต่อไป ส่วนเงินค่าประมูลงวดแรกที่ได้รับจำนวนทั้งสิ้น 8,602,800,000 บาท สำนักงานฯ จะรีบนำส่งกระทรวง การคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

      นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารทรูฯ กล่าวว่า หลังจากได้รับ ใบอนุญาตจากสำนักงานกสทช.อย่างเป็นทางการ ทียูซีจะขยายโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 900 MHz ในทันที ซึ่งภายในเดือนพ.ค.นี้คาดว่าจะมีจำนวนสถานีฐาน 16,000 แห่ง และในสิ้นปีจะมีจำนวน 22,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 97% ครอบคลุมต่อจำนวนประชากร โดยบริษัทมีแผนจะเปิดให้บริการในทุกระบบตั้งแต่ 2G-4G ซึ่งจำนวนสถานีฐานที่จะสร้างใหม่นี้มีปริมาณ เทียบเท่าจำนวนสถานีฐาน ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่เคยให้บริการ 2G เดิมที่อยู่ในระบบสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

      อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ 900 MHz บริษัทมีความกังวลใจมาตลอดหากทียูซีได้รับใบอนุญาตจะส่งผลให้ลูกค้า 2G ในระบบ900 MHz ในระบบเดิมจะไม่สามารถใช้งานได้ (ซิมดับ) กว่า 3-4 ล้านราย ซึ่งถือเป็นผลกระทบต่อประชาชนโดยกว้าง ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบ 2จีจากสัมปทานไปสู่ใบอนุญาต

      ทั้งนี้ จากที่มีการหารือร่วมกัน 4 ฝ่ายคือ ทียูซี เอไอเอส บริษัท แอดวานซ์ ไวรเลส เน็ทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) และทีโอทีในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งทียูซีได้ยื่นข้อเสนอให้ เอไอเอสเช่าโครงข่าย 900 MHz ต่อไปอีก 3 เดือนหรือจนถึงสิ้นเดือนพ.ค.นี้ แต่หลังจากที่หารือร่วมกันแล้วไม่ได้ข้อยุติ ทียูซียินดีไม่คิดค่าเช่าโครงข่ายใดๆ แก่เอไอเอส ยินยอมให้เอไอเอสใช้คลื่นฟรีในช่วงที่อยู่ระหว่างการโอนย้าย ซึ่งอยากให้เอไอเอสมาใช้โครงข่าย 900 MHz ของทียูซี

      ส่วนกรณีที่เอไอเอสไปลงนาม เอ็มโอยูโรมมิ่งสัญญาณ 2G กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เอาลูกค้า 2จี จำนวน 8 ล้านรายไปใช้ระบบ 1800 MHz ของดีแทคนั้น ในส่วนตัวอยากให้ยอมรับว่า โครงข่ายดีแทคบนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในประเทศทั่วถึงได้เหมือนคลื่น 900 MHz ที่เอไอเอสเคยให้บริการเมื่อก่อนดังนั้นการโรมมิ่งดีแทคอาจทำให้ลูกค้า 3-4 ล้านรายที่อยู่บริเวณชายขอบไม่สามารถใช้งานได้ เพราะจำนวนสถานีฐานเอไอเอสมี 16,000 แห่งครอบคลุม 100% เทียบเท่ากับคลื่น 850 MHz ของทรูมูฟที่มีจำนวนสถานีฐานเท่ากัน ต่างกับดีแทคที่มีโครงข่ายไม่เยอะมาก

        ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว ในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค. จะมีการประชุมบอร์ด กทค.เพื่อรับรองมติออกใบอนุญาต 4G ให้แก่ ทียูซี ซึ่งตามเงื่อนไข เมื่อออกใบอนูญาตแล้ว คลื่น 900 เดิมที่ เอไอเอสให้บริการอยู่ต้องปิดระบบ ขณะเดียวกัน เอไอเอส จัดงานแถลงข่าว เวลา 09.30 น. ประกาศจุดยืน ลูกค้าต้องใช้งานได้ต่อเนื่อง และรวมพลังพนักงานในวันดังกล่าวเช่นกัน

                บรรยายใต้ภาพ

                        จ่ายแล้ว : ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ของ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรกมาชำระให้กับผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แล้ว เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559

TRUE จ่ายค่าไลเซ่นส์ 900 MHz งวดแรกครบ 8.6 พันลบ.แล้วพร้อมวางแบงก์การันตี

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แวล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 ในช่วงความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรก จำนวน 8,040,000,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 562,800,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,602,800,000 บาท มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช.ครบทั้งหมดแล้ว

    ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้วางหลักประกันการประมูล จำนวน 644,000,000 บาทไว้แล้ว จึงเหลือเงินที่จะนำมาชำระในวันนี้ 7,958,800,000 บาท พร้อมทั้งนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือ วงเงิน 73,036,060,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มามอบให้แก่ สำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขด้วย

          อินโฟเควสท์

เปิดทางเซ้งไลเซนส์ทีวีดิจิตอล AIS ปัดข้อเสนอทรูหันเช่าคลื่นแจส

    ไทยโพสต์ : พหลโยธิน 8 * บอร์ด กสทช.ลงมติไม่เลื่อนจ่ายงวด 3-ขยายอายุไล เซนส์ทีวีดิจิตอล พร้อมเสนอให้เปลี่ยนโอนถือครองใบอนุญาตได้ ฟากซิม 900 ยังเจรจาไม่จบ เอไอเอส ยื่นโมเดลใหม่ขอเช่าใช้คลื่นล็อตของแจสโมบาย

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทร ทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา มีมติไม่อนุมัติการเลื่อนจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 3 เนื่องจากเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ชนะการประมูลจะต้องนำเงินมาจ่ายตามกำหนดเวลา กสทช.ไม่สามารถเลื่อนเวลาให้ได้เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ รวมถึงไม่อนุมัติการขอขยายอายุเวลาใบอนุญาตมากกว่า 15 ปี ด้วยเหตุผลของประกาศ กสทช.ในกิจการโทร ทัศน์ระบุให้ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี และเงื่อนไขก็กำหนดให้หลังจากมีการมอบใบอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงส่วนเริ่มต้นและสิ้นสุดของอายุสัญญาได้

   ส่วนการขอคืนใบอนุญาต โดยที่ไม่จ่ายเงินงวดที่เหลือนั้น ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติในคำขอดังกล่าว ซึ่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 42 กำหนดให้ผู้ที่รับใบอนุญาตจะต้องชำระเงินทั้งหมดของค่าใบอนุญาต แม้จะขอเลิกกิจการก็ตาม แต่ทั้งนี้กรรมการ กสทช.เสนอแนวทางให้ โดยอาจทำการเปลี่ยนโอนผู้ถือครองใบอนุญาตได้ ซึ่งต้องไปแก้ไขเพื่อโอนผู้ถือไลเซนส์ในมาตรา 43 เบื้องต้นจะต้องมีผู้ที่เห็นด้วยที่ต้องการเปลี่ยนโอนใบอนุญาตทำหนังสือเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีการแก้ไขส่วนนี้

      "ไม่อยากให้มองว่า กสทช.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เนื่องจาก กสทช.เอง ยังคงติด ข้อกฎหมายในการใช้อำนาจ หากต้องการให้หลายๆ เรื่อง มีแนวทางแก้ไขนั้น ต้องไปพิจารณาที่ข้อกฎหมาย ซึ่งเรื่องการขอเปลี่ยนมือผู้ถือไลน์เซนส์อาจทำได้ แต่ก็ต้องขอให้ สนช.พิจารณาส่วนนี้ด้วย ไม่อยากให้ถึงกับใช้มาตรา 44" นายฐากรกล่าว

     ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการด้านกิจการ โทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า หลังการหารือ แผนมาตรการเพื่อ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำหรับกรณีการเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดบริการคลื่น 900 เมกะ เฮิรตซ์นั้น ล่าสุด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ได้เสนอว่า รูปแบบที่บริษัทจะขอเช่าใช้คลื่นนั้น บริษัทต้องการใช้เพียงจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น และเป็นช่วงคลื่นในล็อต แรก คือชุดความถี่ 895-905/ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นในส่วนที่บริษัท แจสโมบาย บรอด แบนด์ จำกัด ประมูลใบอนุญาตมาได้

     ทั้งนี้ เหตุผลที่ บมจ.เอไอเอส ต้องการใช้ช่วงคลื่นล็อตแรกนั้น เนื่องด้วยบริษัทได้ทำการจูนสัญญาณไว้แล้ว หากให้เปลี่ยนเป็นล็อตที่ 2 อาจทำไม่ทัน อีกทั้งปัจจุบันลูกค้าที่ยังค้างอยู่บนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ที่เป็นซิมการ์ด 2จี มีอยู่จำนวน 400,000 เลขหมาย ส่วนจำนวน 8 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นจำนวนผู้ใช้งานนั้นเป็นกลุ่มที่ซิมการ์ดเป็น 3จี แล้ว และได้มีการทำโรมมิ่งสัญญาณกับคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์.

 ถามหาความกล้าหาญ 'ทีโอที'เอไอเอสเข็นเซ็นสัญญาธุรกิจกันเสียที

   'เอไอเอส' ค้นใจ'ทีโอที' เรียกหาความกล้าหาญ ปิดจ็อบเซ็นสัญญาร่วมธุรกิจที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีให้เสร็จเสียที ปฏิเสธเตะสกัดคู่แข่ง หลังพลาดประมูลคลื่น 900 และอาจเสียฐานลูกค้า 2 จีไป ยืนยันสัญญาเป็นลักษณะวินวิน ได้ประโยชน์ทั้งคู่จึงต้องผลักดันให้จบเสียที

      นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ เอไอเอสยังคาดหวังว่าสัญญาการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างเอไอเอสและบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จะสำเร็จลุล่วงได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพราะกระบวนการดังกล่าวใช้เวลายาวนานมากว่า 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก่อนประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้สำเร็จ เอไอเอสอยากเป็นพันธมิตรกับทีโอทีมากเพียงไร หลังประมูลได้คลื่นมาแล้ว ก็ยังเหมือนเดิม

     เขาบอกว่า ข้อเสนอล่าสุดในการทำสัญญาธุรกิจระหว่างเอไอเอสและทีโอที ประกอบด้วย 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1. สัญญาเช่าใช้คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ของทีโอทีจำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเอไอเอสเสนอผลตอบแทนปีละ 3,900 ล้านบาท และมีสิทธิใช้งาน 80% ของเครือข่ายทั้งหมด อีก 20% ทีโอทีสามารถนำไปหารายได้เพิ่มเติม

       2. แผนความร่วมมือในการบริหารจัดการเสาสัญญาณมือถือ 13,800 ต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในข้อพิพาทระหว่างกันว่ากรรมสิทธิ์ของเสาจะเป็นของใคร ซึ่งความตั้งใจของเอไอเอสคือการตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) บริหารเสาสัญญาณร่วมกัน แต่สิ่งที่ทีโอทีเป็นห่วงในขณะนี้คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนต้องใช้เวลาระยะหนึ่งตามเงื่อนไขรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ทีโอทีกำลังต้องการรายได้มาเลี้ยงตน ซึ่งเอไอเอสก็เข้าใจ ล่าสุดจึงตกลงที่จะจ่ายค่าเช่าเสาให้กับทีโอที ในอัตราปีละ 3,600 ล้านบาท ซึ่งในทางปฏิบัติถือว่ายอมรับว่าเสาเป็นของทีโอที แต่การจ่ายเงินต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าแผนความร่วมมือเรื่องเสา จะต้องนำไปสู่การตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างกัน และในอนาคต เอไอเอสมีแผนจะนำเสาของเอไอเอสอีกจำนวน 14,000 ต้น เข้ามารวมในบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ด้วย

       3. ข้อตกลงว่าด้วยการเช่าใช้อุปกรณ์ 2 จีของทีโอที ซึ่งเอไอเอสได้ส่งมอบอุปกรณ์ไปแล้วตามเงื่อนไขสัมปทานเดิม โดยเอไอเอสเสนอผลตอบแทนอีกปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี

     โดยสรุปผลตอบแทนที่เอไอเอสเสนอไปนั้น ทำเงินให้ทีโอทีปีละ 9,500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของทีโอทีได้ ถือเป็นทางออกในระยะยาว การที่ทีโอทีไม่รีบดำเนินการ ปล่อยเวลายืดเยื้อมานาน นับว่าเสียโอกาสมากพอแล้ว การเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

      แม้ความร่วมมือระหว่างกันต้องติดขัดกับระเบียบ ข้อกฎหมายของรัฐวิสาหกิจมากมายเพียงใด แต่ผมคิดว่าเราผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาหมดแล้ว ตอนนี้เหลือเพียงความกล้าหาญในการเดินทางทำโครงการความร่วมมือให้สำเร็จ จากการพูดคุยกับพนักงานทีโอทีในทุกระดับ ผมยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องการร่วมธุรกิจกับเอไอเอสต่อไป เพื่อความอยู่รอด เพื่อนำรายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กร แต่ที่ทีโอทียังขาดคือความกล้าหาญในการตัดสินใจ ซึ่งน่าจะถึงเวลาแล้ว

       เมื่อถูกถามว่า ด้วยความปรารถนาดีและความพยายามทั้งหมดของเอไอเอส หากที่สุดยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จะมีทางออกอย่างไร เขาตอบว่า เอไอเอสมีทางออกในการทำธุรกิจเสมอ หากร่วมมือกับทีโอทีไม่สำเร็จ ก็มีทางเลือกอื่นๆ อีกไม่นานก็น่าจะมีการนำเอาคลื่นใหม่ๆทั้งคลื่น 2300 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ออกมาประมูล

    ล่าสุดที่เอไอเอสพลาดประมูลใบอนุญาต 4 จี บนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นเดิมของเอไอเอสที่ให้บริการ 2 จีอยู่ แต่เราก็เร่งแก้ปัญหาเต็มที่ นอกจากการเร่งเปลี่ยนมือถือให้ลูกค้าใหม่ เพื่อให้ใช้บริการได้ต่อเนื่อง รวมทั้งทุ่มลงทุนยกระดับโครงข่ายให้ดีขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่จะย้ายมาจาก 2 จีที่ยังมีใช้บริการอยู่ 12 ล้านเลขหมายแล้ว เรายังเพิ่งบรรลุข้อตกลงโรมมิ่ง 2 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ของดีแทคด้วย ซึ่งจะช่วยรองรับลูกค้าที่ยังไม่เปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนซิม ให้ใช้บริการต่อได้ และนี่เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราพยายามหาทางรอดให้ธุรกิจเสมอ

    แต่แม้เชื่อว่า จะมีทางออกเสมอ เขายังยืนยันว่าความร่วมมือกับทีโอที เป็นสิ่งที่เอไอเอสต้องการ เพราะได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ทีโอทีมี อย่างการเช่าอุปกรณ์ 2 จีของทีโอทีต่อ แม้เอไอเอสกำลังพยายามยุติการให้บริการ 2 จีอยู่ก็ตาม แต่อุปกรณ์ เช่น ไฟเบอร์ออพติก ทรานสมิทชั่น ก็เป็นประโยชน์ต่อเอไอเอสในการบริหารโครงข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อการให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบมีสาย ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของเอไอเอส

   เมื่อถูกถามว่า ความพยายามผลักดันการเซ็นสัญญาให้สำเร็จ ถือเป็นการสกัดคู่แข่งที่เพิ่งประมูลคลื่นความถี่ 900 ได้และกำลังเข้ามาแย่งฐานลูกค้า 2 จีหรือไม่ เขายืนยันคำตอบเดิมว่า ความร่วมมือกับทีโอทีถือเป็นข้อเสนอแบบ Win-Win คือได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เอไอเอสออกมาผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง.

   ที่มา : www.thairath.co.th    

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!