- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 09 March 2016 09:00
- Hits: 2359
กทค. ไม่อนุมัติ ADVANC ต่ออายุมาตรการเยียวยาลูกค้าคลื่น 900MHz TRUE ยื่นข้อเสนอขอเก็บค่าใช้คลื่นเดือนละ 450 ลบ. นัดเคลียร์พรุ่งนี้
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยมติที่ประชุม ไม่อนุมัติ ADVANC ต่ออายุมาตรการเยียวยาลูกค้า 8 ล้านราย โดยซิมจะดับทันทีหาก TRUE นำเงินมาจ่ายค่าไลเซ่นส์ ขณะที่ TRUE ยื่นข้อเสนอให้ใช้คลื่นไปอีก 3 เดือน แต่คิดค่าตอบแทนเดือนละ 450 ล้านบาท นัดเคลียร์ 3 ฝ่ายพรุ่งนี้ ส่วนกรณี ADVANC-DTAC กั๊กลูกค้าย้ายค่ายไป TRUE จำนวน 6 แสนราย บอร์ด กทค.สั่งเร่งจัดการภายใน 3 วัน รายละเอียดดังนี้
มีมติไม่อนุมัติการขอเยียวยาขยายเวลาการโอนลูกค้าคลื่น 900 MHz ราว 8 ล้านราย ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด หรือ ADVANC ไปอีก 3 เดือนเนื่องจากผิดกฎหมาย
โดยหาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE นำเงินงวดแรกมาชำระค่าใบอนุญาตภายในวันที่ 11 มี.ค. ซึ่งจะสามารถออกใบอนุญาตได้ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ และซิมของลูกค้า ADVANC จะดับลงทันทีภายในเวลาเที่ยงคืนของวันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม TRUE ได้มีข้อเสนออนุญาตให้ใช้สิทธิไลเซ่นส์ไปอีก 3 เดือน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชั่วคราวในการเปลี่ยนผ่านและโอนย้ายคลื่น และได้เรียกร้องขอให้ชำระค่าไลเซ่นส์ที่ประมูลได้ โดยคิดเป็นเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท
ทั้งนี้ กสทช.ได้ส่งจดหมายเชิญเพื่อนัด ADVANC TRUE รวมถึง TOT เข้ามาเจรจาเพื่อหารือข้อตกลงร่วมกันในประเด็นดังกล่าววันพรุ่งนี้ เวลา 9.30 น. โดยข้อตกลงทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอีกครั้งหลังการประชุมเสร็จสิ้น
ส่วนกรณี TRUE ร้องเรียนเข้ามาที่กสทช.ในประเด็นที่ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไม่อนุญาตให้ลูกค้า 6 แสนราย โอนย้ายค่ายไปยัง TRUE โดยอ้างติดเงื่อนไขทางเทคนิค 8 ประการ ซึ่งมติที่ประชุมลงความเห็นว่าผู้ประกอบการรายเดิมไม่มีสิทธิในการพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการรายใหม่เท่านั้น จึงจะส่งคำสั่งทางปกครองไปยัง ADVANC และ DTAC อย่างเร็วที่สุดวันนี้ และให้โอนย้ายลูกค้าที่ตกค้างทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันหลังจากได้รับคำสั่งดังกล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กทค.ไม่เยียวยาต่อลูกค้า 2G ของ ADVANC นัดพรุ่งนี้ถกข้อเสนอ TRUE ให้เช่าคลื่น 900 MHz 3 เดือน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันนี้ว่า ที่ประชุม กทค.ไม่อนุมัติให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz หลังจากที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) ผู้ชนะประมูลได้ทำหนังสือแจ้งว่าจะมาจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดแรก และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 13.39 น. โดยคาดจะออกใบอนุญาตให้ TUC ในวันที่ 14 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีผู้ใช้คลื่น 900 MHz กับโครงข่ายของ ADVANC อยู่กว่า 8 ล้านราย
นายฐากร กล่าวอีกว่า สำนักงาน กสทช.จะเชิญผู้ประกอบการ 4 ราย ได้แก่ เอไอเอส , บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN), บมจ.ทีโอที (TOT) และ TUC มาปหารือในวันพรุ่งนี้เวลา 9.30 น.เพื่อเจรจาแนวทางการคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2G คลื่น 900 MHz ในเครือข่ายเอไอเอส หลังจากสิ้นสุดมาตรการเยียวยา
สำหรับ แนวทางดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย เบื้องต้น คือ มาตรา 46 ของ พ.ร.บ.กสทช.เกี่ยวกับการให้รายอื่นเช่าใช้โครงข่ายว่าให้นำคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่ง TUC และ บริษัท แจส โมบาย จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลมาให้เช่าใช้รองรับผู้ใช้บริการในส่วนนี้ เพราะเป็นคลื่นความถี่ในย่านเดียวกับที่เอไอเอสและ AWN ให้บริการกับประชาชน ขณะที่ทีโอทีจำเป็นผู้คำนวณค่าเช่าโครงข่าย
นายฐากร กล่าวว่า TUC ไม่ต้องการผู้ใช้บริการซิมคลื่น 900 MHz ของเอไอเสต้องดับลง เพราะไม่ต้องการเป็นผู้ร้าย จึงเสนอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้ สำนักงาน กสทช.เป็นผู้ดำเนินการให้เช่าโครงข่ายเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ให้บริการ หรือ เอไอเอส จะต้องจ่ายเงินค่าเช่าให้ TUC ประเมินเบื้องต้นเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท เป็นการคำนวณจากค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้ ซึ่งมีอายุใบอนุญาต 15 ปี
ส่วนคลื่นคลื่นถี่ในส่วนของแจส โมบาย นั้น หากยังไม่มาจ่ายเงินค่าใบอนุญาต ก็ให้ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการแทน
ในวันนี้ที่ประชุม กทค. มีมติรับทราบตามที่ TUC เสนอแนวทางดังกล่าวเป็นการคุ้มครองชั่วคราวโดยไม่ให้ใช้มาตรการเยียวยา แต่ให้ใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำหรับกรณีการเปลี่ยนผ่านก่อนการเปิดบริการคลื่นความถี่ 900 MHz เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรืออาจจะเปลี่ยนซิมแต่ใช้เบอร์เดิม สามารถใช้ค่ายไหนก็ได้ หรือเปลี่ยนเครื่องเพื่อรองรับ 3G ก็ดำเนินการเปลี่ยนได้ทันที.โดยต้องเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นชอบเสียก่อน และให้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 10 มี.ค.นี้
"เป็นมาตรการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้ซิมดับ วันนี้ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ว่าต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ประชาชน และเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ...ขอย้ำว่าเป็นมาตรการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่มาตรการเยียวยา"นายฐากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเจรจาไม่ได้ กสทช.จะพิจารณาตามมาตรา 63 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากยังไม่สามารถตกลงกันได้อีกก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44
กรณีของบริษัท แจส โมบาย จำกัด นั้น นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ทางแจสฯยังไม่ได้ติดต่อมายังสำนักงาน กสทช. แต่จะติดต่อกลับมาแจ้งความคืบหน้าในวันที่ 17 หรือ 18 มี.ค. นี้ ตามที่ได้แจ้งมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง กสทช.ยังเปิดโอกาสไปถึงวันที่ 21 มี.ค.นี้ซึ่งเป็นกำหนดสิ้นสุดการชำระเงิน
นายฐากร ยังกล่าวถึงเรื่องที่ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ทำหนังสือมายัง กทค.ร้องเรียนว่า เอไอเอส หรือ AWN และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น(DTAC) หรือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ปฏิเสธให้ลูกค้าโอนย้ายไปค่ายอื่น ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าค้างระบบอยู่กว่า 6 แสนราย ดังนั้น มติ กทค.จึงมอบหมายให้สำนักงานออกคำสั่งทางปกครองกับเอไอเอส หรือ AWN และ DTAC หรือ ดีแทคไตรเน็ต ต้องให้ลูกค้าโอนย้ายไปทรูมูฟเอช หรือ เรียลมูฟ เพราะถือเป็นผลกระทบโดยตรงของลูกค้า
อินโฟเควสท์
ถึงกุมขมับโอนย้ายค่ายไม่หมู
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือโทรศัพท์มาร้องเรียนผ่าน โทร.1200 จำนวนมาก เกี่ยวกับการโอนย้ายค่ายมือถือแต่เลขหมายเดิมล่าช้ามาก บางรายมากกว่า 7 วัน ซึ่งช้ากว่าที่ กสทช.กำหนดว่า การโอนย้ายจะแล้วเสร็จภายใน 3 วัน ซึ่ง กสทช.กำลังเร่งแก้ไข และได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมาหารือเบื้องต้น และได้กำชับให้ดำเนินการตามประกาศ กสทช.เคร่งครัด เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ค่ายมือถือได้ทยอยเปิดให้บริการ 4 จี เมื่อช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา และมีการแข่งขันการออกโปรโมชั่นหลากหลาย เพื่อแย่งชิงลูกค้าระหว่างกัน ทำให้ผู้บริโภคหลายราย ต้องการย้ายค่ายมือถือแต่เลขหมายเดิมจำนวนมาก ทำให้ค่ายมือถือต้องหาช่องทางในการโอนย้ายลูกค้าให้ได้ เช่น บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด หรือค่ายทรูมูฟ เอช ก็ใช้ช่องทางร้านค้าสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในการแจ้งโอนย้ายลูกค้า จนมีผลทำให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช.ให้พิจารณารายละเอียดและขั้นตอนการโอนย้ายว่าถูกต้องหรือไม่
ขณะที่ทรูมูฟเอช ได้ชี้แจ้งว่า การโอนย้ายลูกค้าจากค่ายอื่นๆ มายังค่ายทรูมูฟเอชนั้น ได้ลงนามเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการแสดงตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2554 จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดและทำได้ และเมื่อลูกค้าได้แจ้งโอนย้ายแล้ว ใช้เวลามากกว่า 7 วัน เนื่องจากทางค่ายมือถือเดิมไม่ยินยอม ทุกค่ายต่างยื้อลูกค้าไว้ ดังนั้น ทางสำนักงาน กสทช.จึงได้เสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา 18 ก.พ.นี้ว่าวิธีโอนย้ายลูกค้าด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นช่องทางที่ถูกต้องหรือไม่.
ที่มา : www.thairath.co.th วันที่ 15 Feb 2016 - 05:30