- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 03 March 2016 11:39
- Hits: 1729
ทรูพร้อมจ่ายค่าประมูลคลื่นทุ่ม 57,000ล.ขยายโครงข่าย BBL เผยแจสยังเงียบติดต่อกู้
ไทยโพสต์ : รัชดาภิเษก * ทรูฯ โว 6 ธนาคารร่วมหนุนแบงก์การันตีกว่า 73,000 ล้านบาท พร้อมทุ่มงบ 36,000 ล้านลงโครงข่าย 900 ปีนี้มั่นใจกลุ่มโมบายโตได้มากกว่า 17.3% แบงก์กรุงเทพแจง แจส ยังไม่ส่งแผน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บ.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) ได้ร่วมลงนามกับ 6 สถาบันการเงิน ในการสนับสนุนหนังสือค้ำประกัน หรือแบงก์การันตีให้กับ คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่กลุ่มทรูฯ สามารถประมูลมาได้ ส่วนวันเวลาที่จะนำเงินไปจ่ายสำนัก งานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น ยังคงมีการหาฤกษ์ดีกันอยู่ คาดว่าคงไม่เกินระยะเวลา 1-2 สัปดาห์นี้อย่างแน่นอน
สำหรับ สถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง ร่วมออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 73,036.06 ล้านบาท ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) สนับสนุนวงเงินหนังสือค้ำประกันสูงสุดถึง 50% ของมูลค่าวง เงินทั้งหมด หรือจำนวน 35,000 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สนับสนุนจำนวน 10,500 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงไทยจำนวน 4,000 ล้านบาท และธนาคารเกียรตินาคินจำนวน 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มทรูฯ ได้เตรียมงบประมาณในการลงทุนด้านโครง ข่ายไว้ทั้งหมดจำนวน 57,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และในปีนี้จะเดินหน้าขยายโครงข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์อย่างจริงจังด้วยงบลงทุน 36,000 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือน พ.ค.2559 นี้ จะมีสถานีฐานในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 16,000 แห่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเทคโน โลยีบนเสาเดิม และจะมีการเพิ่มสถานีใหม่อีกจำนวน 3,000-4,000 แห่ง ทำได้ภายในสิ้นปีนี้จะมีโครงข่ายที่เป็น 900 เมกะเฮิรตซ์ถึง 20,000 แห่ง โดยคลื่นย่านนี้จะยังคงทำทั้งส่วนที่เป็น 2จี, 3จี และ 4จี เนื่องจากเป็นคลื่นที่ใช้ในบริการด้านเสียงเป็นหลัก
ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ นั้น ก็จะมีการขยายออกไปให้ครอบคลุมพร้อมๆ กัน โดยตอนนี้มีสถานีฐาน 7,400 แห่ง ให้บริการ 4จี ประมาณ 6,000 แห่ง ขณะที่คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวน 16,000 แห่ง ส่วนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ มีจำนวน 11,000 แห่ง โดยมองว่าการขยาย โครงข่ายที่มีให้ครอบคลุมทั่วประเทศและมีบริการครบทั้ง 2จี, 3จี และ 4จี นั้น จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการทำตลาด เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของโครงข่ายที่ดีและคลื่นที่มีอยู่ ซึ่งในไตรมาส 4/2558 กลุ่มมีรายได้จากธุรกิจโมบาย 17.3% มองว่าปี 2559 นี้ ก็สามารถทำได้มากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในกระแสข่าวเรื่อง บ.ไชน่าโมบายนั้น ตนยืนยันว่ายังคงมีการลงทุนในกลุ่มอย่างต่อเนื่องตามจำนวนสัดส่วนหุ้นที่ บ.ไชน่าโมบาย ถืออยู่ 18%
นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เป็นผู้ให้ข้อมูล กรณีมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าทาง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS (แจส) ได้ขอวงเงินกู้จาก BBL เพื่อไปชำระค่าใบอนญาต 4G คลื่น 900 MHz แต่ทาง BBL ได้ให้ทาง JAS กลับไปทำแผนธุรกิจ ว่าขณะนี้ JAS ยังไม่ได้จัดส่งแผนธุรกิจมายังธนาคาร ซึ่งธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินขึ้นอยู่กับ 3 ข้อประกอบ คือ 1.คำขอผู้กู้ 2.ท่าทีของ กสทช. และ 3.แผนธุรกิจของ JAS ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ธนาคารต้องพิจารณาให้ครบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทาง JAS จะส่งหนังสือมาเมื่อไหร่.
TRUE รอฤกษ์จ่ายไลเซ่นส์ 900 MHZ งวดแรก 1-2 สัปดาห์นี้ มั่นใจปี 60 กำไร-จ่ายปันผลได้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) ในเครือ TRUE จะจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ในงวดแรก พร้อมวางแบงก์การันตีงวดที่เหลือได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเซ็นสัญญากับ 6 สถาบันการเงินเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินในวันนี้ โดยปฏิเสธว่าไม่ได้รอดูว่า บริษัท แจส โมบาย จำกัด จะสามารถชำระเงินได้หรือไม่ แต่ต้องการรอฤกษ์ดีเท่านั้น
วันนี้ TUC ลงนามกับ 6 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเกียรตินาคิน เพื่อออกหนังสือค้ำประกันวงเงินถึง 73,036.06 ล้านบาท โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นผู้สนับสนุนวงเงินหนังสือค้ำประกันสูงสุดถึงเกือบ 50% ของมูลค่าวงเงินทั้งหมด เพื่อนำไปยื่นพร้อมการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz งวดแรกเป็นเงิน 8,040 ล้านบาท ที่ TUC ชนะการประมูลเมื่อเดือน ธ.ค.58 ให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
นายศุภชัย กล่าวว่า ในปี 60 บริษัทจะสามารถทำกำไรและจ่ายเงินปันผลได้ หลังจากปีนี้ยังมีความไม่แน่นอน เพราะต้องรับภาระการลงทุนโครงข่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะการให้บริการ 4G ทำให้มีภาระต้นทุนสูง ส่วนอัตราการเติบโตรายได้ปีนี้คาดว่าจะรักษาให้ใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อนที่มีการเติบโต 17.3%
ทั้งนี้ บริษัทตั้งป้าในช่วง 3 ปี(ปี 59-61) จะมีรายได้จากส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)สัดส่วน 33% ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือประมาณ 33% จากปัจจุบันอยู่ที่ 21% และมี EBITDA Margin ไม่ต่ำกว่า 40% จาก 30% ในปัจจุบัน ขณะที่ตั้งงบลงทุนวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 5.7 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้
ในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนถึง 4 หมี่นล้านบาท เพื่อวางโครงข่ายคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับทุกระบบ 2G, 3G และ 4G ได้ 1.6 หมี่นสถานีฐานภายในเดือน พ.ค. 59 และเพิ่มเป็น 20,000 สถานีฐานภายในปลายปี 59 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนโครงข่ายคลื่นความถี่ 1800 MHz ระบบ 4G โดยติดตั้ง 6,000 สถานีฐานภายใน พ.ค.59
สำหรับ แหล่งเงินลงทุนมาจากการได้ Vender Financing จากซัพพลายเออร์ 3 รายคือ หัวเหว่ย อิริคสัน และ ZTE ที่ให้เงื่อนไขค่อนข้างดีมากและทำให้ราคาต้นทุนอุปกรณ์ถูก เพราะไชน่า โมบาย ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TRUE (ถือ 18%) ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากที่ไชน่า โมบาย เป็นผู้วางโครงข่ายใหญ่ที่สุดกว่า 1.5 ล้านสถานีฐานในจีน
ปัจจุบันบริษัทมีโครงข่ายคลื่น 1800 MHz ที่เป็นระบบ 2G จำนวน 7,400 สถานีฐาน โครงข่ายคลื่น 850 MHz จำนวน 16,000 สถานีฐาน โครงข่ายคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 11,000 สถานีฐาน
“การมีคลื่นความถี่ที่พร้อม และได้รับการสนับสนุนการเงินพร้อม ทำให้บริษัทมีศักยภาพ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีทั้งคลื่นความถี่สูงและคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้โครงข่ายของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด"นายศุภชัย กล่าว อินโฟเควสท์