- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 11 February 2016 23:28
- Hits: 4439
ฐากร ยันแจสทิ้งคลื่น 900 กสทช.เอาถึงตาย
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการชำระเงินค่าประมูล 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) งวดแรก จำนวนเงิน 8,040 ล้านบาท และ หนังสือรับรองทางการเงินจากสถาบันทางการเงิน (แบงก์การันตี) ทั้งหมด 75,000 ล้านบาท ว่าขณะนี้ ทางทียูซีได้แบงก์การันตีเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอฤกษ์ในการมาชำระเงินคาดว่าน่าจะมาภายในเดือนก.พ.นี้ ส่วนบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้ติดต่อกสทช.เพื่อขอนำเข้าอุปกรณ์ 4G แล้ว ดังนั้นจึงยังมีเวลาถึงวันที่ 21 มี.ค. 2559 แต่หากผู้ชนะประมูลไม่มาชำระเงิน กสทช.ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้แล้ว อาทิ หากจำเป็นต้องประมูลใหม่ราคาประมูลจะเริ่มต้นที่ราคาของผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว ผู้ไม่มาชำระเงินค่าประมูลจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ หากไม่มีผู้ประสงค์จะประมูลจะทิ้งคลื่นไว้ 1 ปี จึงจะประมูลใหม่ กสทช.จะดำเนินการฟ้องร้อง ผู้ทำให้รัฐเสียหายและจะเพิกถอนสิทธิบางประการ
"ขอยืนยันว่า สำนักงานจะไม่ยอมให้รัฐเสียหาย และผู้ชนะการประมูลจะต้องถูกยึดใบอนุญาตทุกประเภทที่อยู่ในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม กับทางกสทช.ด้วย หากเป็นด้านทีวีดิจิทัล ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณา หากเป็นด้านโทรคมนาคม ก็ต้องให้ทาง กทค.พิจารณา ซึ่งถือว่าผิดคุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาต ทิ้งงาน"
ส่วนกรณีที่ กรณี บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมทำหนังสือยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบวิธีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือบางรายที่ดำเนินการโอนย้ายลูกค้าของผู้ให้บริการรายอื่นผ่านร้านสะดวกซื้อ นั้นล่าสุดได้มอบหมายให้ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช.ด้านโทรคมนาคม เป็นผู้รวบรวม ข้อร้องเรียนและข้อเท็จจริงในการดำเนินการของผู้ประกอบการที่มีการกล่าวอ้างถึง ส่งให้สำนักงานภายในวันที่ 12 ก.พ. 2559 เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 16 ก.พ. 2559
ทั้งนี้ ตามประกาศฯ กสทช. ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามเงื่อนไขประกาศฯ กสทช.ต้องส่งจดหมายแจ้งเตือน ผู้ที่ถูก ร้องเรียน ให้หยุดการกระทำดังกล่าว ส่วนผู้เสียหายก็ต้องนำผลจากการพิจารณา ของ กสทช.ไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ แต่หากทำได้ผู้ประกอบการ รายอื่นก็ต้องทำได้ด้วย