- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 01 February 2016 23:47
- Hits: 3590
กสทช.จัดระบบดูแลเงินในซิม
บ้านเมือง : นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ โมบายล์เพย์เมนท์ (Mobile Payment)เนื่องจากปัจจุบันการทำธุร กรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคหากเกิดความเสียหายจากการใช้เงินที่อยู่ในซิมและชำระค่าสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โมบายล์เพย์เมนท์ ในประเทศไทยอยู่ภายในกรอบการดูแลของ ธปท. ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ซึ่งอยู่ในส่วนของบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด โดยจะเน้นเรื่องธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเงินของธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันนวัตกรรมทางการเงินและการใช้ช่องทางของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการมีรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น มีการเติมเงินในซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งเปลี่ยนจากเงินในซิมเป็นแต้มเพื่อแลกซื้อสินค้า ซึ่งในแต่ละวันจะมีประชาชนเติมเงินในซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินกว่า80 ล้านเบอร์ หากมีการเติมเงินซิมละ50 บาท เท่ากับจะมีเงินที่เข้าไปอยู่ในซิมรวมทั้งสิ้นวันละ400 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ธปท. และสำนักงาน กสทช. จึงหารือร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมของการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้
"ในอนาคตก็มีความเป็นได้ที่จะเห็นธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แข่งขันให้บริการMobile Payment เพราะปัจจุบันคนไม่ได้เติมเงินในโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้โทรศัพท์อย่างเดียวอีกต่อไป การเติมเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนและความถี่ในการเติมเงินจะมีนัยสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเข้ามาดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นี่คือความปลอดภัยของผู้บริโภคและการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างดี และถือเป็นรากฐานในการพัฒนาไปสู่ยุคดิจิตอล อีโคโนมี อย่างแท้จริง"นายก่อกิจ กล่าว