- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 20 December 2015 17:15
- Hits: 3907
เอไอเอส ยอมแพ้-4 จี 900 แพงเว่อร์ แจส-ทรูทุ่มชนะ รวม 1.5 แสนล้าน
'เอไอเอส' แจงยอมแพ้ ประมูล 4 จีคลื่น 900 ชี้ราคาแพงเกินจริง หลัง'แจส-ทรู' คว้า 2 ใบอนุญาต เคาะราคารวม 151,952 ล้านบาท ใช้เวลา 88 ชั่วโมง ระบุศึกษาเพื่อกำหนดราคาประมูลที่เหมาะสม รวมทั้งผลลัพธ์และความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ ขณะที่ 'ดีแทค'เผย จะนำเงินที่ใช้ประมูลไปลงทุนพัฒนาเครือข่าย ในอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าที่สุด ส่วน'กสทช.'เตือนผู้ใช้คลื่น 900 เดิม เร่งถ่ายลูกค้าก่อนใบอนุญาตใหม่มีผล หวั่นซิมดับ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9153 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยผลการประมูล 4 จี คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่สิ้นสุดไปเมื่อเวลา 00.20 น.ของวันที่ 19 ธ.ค. ว่าผู้ชนะการประมูล คือบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะใบอนุญาตชุดที่ 1 ราคา 75,654 ล้านบาท และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะใบอนุญาตชุดที่ 2 ราคา 76,298 ล้านบาท
โดยมีรอบการประมูลทั้งสิ้น 198 รอบ ใช้เวลาประมูลรวม 65 ชั่วโมง 55 นาที ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล มีราคาประมูลรวมของคลื่นความถี่ 2 ชุดเท่ากับ 151,952 ล้านบาท โดยภายหลังจากที่สิ้นสุดการเสนอราคาประมูลจากผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 ราย ประกอบ ด้วย 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ 4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิ เคชั่น จำกัด คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ประชุมเพื่อสรุปผู้ชนะประมูลเป็นเวลา 30 นาที
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่ไม่ชนะ การประมูลประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาในชุดคลื่นความถี่สุดท้ายที่ 2 ในราคา 75,976 ล้านบาท และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาชุดสุดท้ายในชุดที่ 1 ที่ราคา 70,180 ล้านบาท ผลที่ออกมาถือเป็นโอกาสเปิดตลาดให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินธุรกิจซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันสูงและยังสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการกทค. เพื่อรับรองผลการประมูลในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ และจะประกาศผล อย่างเป็นทางการภายใน 7 วัน
"ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขกสทช. ในการชำระเงินประมูลงวดแรก 50% ของมูลค่าคลื่นความถี่ภายใน 90 วัน จากนั้นกสทช.จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ในส่วนของผู้ให้บริการรายเดิมที่ใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ หากไม่มีการโอนถ่ายลูกค้าออก ภายหลังจากที่กสทช. ออกใบอนุญาตให้รายใหม่จะส่งผลให้ลูกค้าเดิมที่ใช้คลื่น 900 ไม่สามารถใช้ได้หรือซิมดับทันที" พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. และ กทค. กล่าวว่าจากนี้ต้องดูภายหลังออกใบอนุญาต 4 จีคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ว่าจะมีการแข่งขันของผู้ที่ชนะเสนอราคาใบอนุญาตอย่างไรบ้าง ส่วนดีแทคที่ไม่ชนะการประมูล ยังมีสัญญาสัมปทานเหลืออีก 3 ปี ซึ่งมองว่าจะไม่ยอมถอยในตลาดโทรคมนาคมง่ายๆ แต่อาจจะต้องเริ่มมองหาคลื่นความถี่ผ่านรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกัน โดยราคาที่ดีแทคเสนอนั้นก็ค่อนข้างสูงถึง 70,000 ล้านบาท จึงมองเห็นเจตนาแข่งขันจนวินาทีสุดท้าย เมื่อเทียบกับการเสนอราคาของคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์เมื่อช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เปิดเผยว่า ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 4 ปีและต้องครอบคลุมประชากร 80% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4 จี จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีแพ็กเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และ ผู้มีรายได้น้อยคือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาทอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากรับทราบผู้ชนะการประมูล บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจงทันทีว่าการที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อ ถือเป็นการตัดสินใจที่บริษัท ได้พิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ เนื่องจาก เอไอเอสเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเป็นจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนในบริษัท ดังนั้นการวางแผนในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความรอบคอบ มีการศึกษาและพิจารณาถึงความเสี่ยง โอกาส ความน่าจะเป็นในหลายๆ ประการ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ในครั้งนี้ เอไอเอสได้ศึกษาเพื่อกำหนดราคาประมูลที่เหมาะสมทางธุรกิจว่าควรเป็นเท่าไร อย่างไร รวมทั้งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาร่วมคาดการณ์ถึงผลลัพธ์และความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประมูลในครั้งนี้ ทั้งในกรณีที่เอไอเอสชนะการประมูลหรือหากคู่แข่งชนะการประมูล ราคาที่ได้ไปมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงหากราคาในการประมูลสูงกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทได้ศึกษาไว้ จะมีแผนรองรับอย่างไรต่อไปซึ่งในกรณีนี้เมื่อราคาการประมูลขึ้นไปสูงเกินกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทกำหนดไว้ จึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ
อย่างไรก็ตาม เอไอเอส มองว่าในอนาคตยังจะมีการประมูลคลื่นความถี่อื่นๆ ตามที่กสทช.ประกาศไว้ อาทิ คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.กสทโทรคมนาคม หรือ แคท ในอีก 3 ปีข้างหน้าและคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์/2600 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นต้น สำหรับลูกค้าของเอไอเอสที่ยังใช้งานในระบบ 2 จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนไม่มากและบริษัทมีการเตรียมแผนงานและมั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกค้าทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ได้โพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กส่วนตัวมีข้อความว่า "ผมออกจากห้องประมูลแล้วครับ" ครั้งที่แล้วอดหลับอดนอน 33 ชั่วโมง เพื่อประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ไปในราคา 40,986 ล้านบาท มาครั้งนี้อดหลับอดนอน 88 ชั่วโมง เพื่อประมูลคลื่น 900 MHz ด้วยราคา 75,976 ล้านบาท และไม่ได้คลื่น ซึ่งก็ไม่เป็นไร
"ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้คลื่นนี้ไปครอบครองและขอขอบใจทีมงาน เอไอเอสทุกคน ทั้งพนักงานและตัวแทนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เข้ามาร่วมทำงานนี้อย่างเต็มกำลัง ความสามารถ ในฐานะซีอีโอ เอไอเอส ผมอยากบอกทุกคนว่า ดีใจมาก ที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับองค์กรและบุคลากรของเอไอเอสที่ถือว่าเป็นมืออาชีพอย่างมากๆ รู้จักดูแลผลประโยชน์ของลูกค้า พนักงานและผู้ถือหุ้นตลอดจนสังคมและประเทศชาติได้อย่างสมดุล และเหมาะสมกับสถานการณ์จริงทางธุรกิจที่สุด ผมขอเรียนยืนยันกับท่านลูกค้าเอไอเอส กว่า 40 ล้านรายว่า ขอให้ท่านมั่นใจในทีมงานเอไอเอสทุกคนที่จะมุ่งมั่นทำงานต่อไปอย่างเต็มที่เพื่อให้ท่านสามารถใช้ชีวิตได้มากกว่าในโลกดิจิตอลปัจจุบัน"
ส่วนนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคขอขอบคุณทุกกำลังใจและขอประกาศรุกให้บริการ 4 จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ด้วยการเร่งขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทุกจังหวัดทั่วไทยโดยเร็วที่สุดเพื่อลูกค้า สำหรับเงินที่จะนำไปประมูล จะนำกลับมาเป็นเงินที่ลงทุนพัฒนาเครือข่ายและรุกทำการตลาดที่เข้มข้นในการให้บริการ 4 จี และ 3 จี ของสังคมไทย โดยลูกค้าดีแทค จะได้ใช้บริการ 4 จี และ 3 จี คุณภาพ ในอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าที่สุด
"ดีแทคมั่นใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมด ที่ถือครองมากพอที่จะให้บริการทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องดีแทคได้เปิดให้บริการทั้งคลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 850 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยทั้งหมดมีจำนวนแบนด์วิธเพียงพอในการให้บริการแก่ลูกค้าสำหรับการใช้งานทั้งด้านเสียง และอินเตอร์เน็ตบนมือถือทั้ง 4 จี, 3 จี และ 2 จี โดยขณะนี้ดีแทคได้เปิดให้บริการ 4 จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์จากคลื่นในระบบใบอนุญาตและยังเปิดให้บริการ 4 จี บนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ อีก 15 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งทุกจังหวัดทั่วไทยต้องครอบคลุมด้วยสัญญาณดีแทค 4 จีภายในปีหน้า รองรับการเติบโตการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือสำหรับลูกค้าทั่วประเทศ ดีแทคขอให้สัญญาว่าจะนำบริการที่ดีที่สุดมาสู่ลูกค้าของ ดีแทคทุกคน" นายลาร์ส นอร์ลิ่ง เผย