WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TDRIดร.สมเกยตข้อคิดเห็นต่อการแข่งขันในการประมูลคลื่น 4G (900 MHz)

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

    การประมูลคลื่น 4G ในย่าน 900 MHz เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชน เช่นเดียวกับการประมูลคลื่น 4G ในย่าน 1800 MHz  เนื่องจากเกิดการแข่งขันกันในระดับสูงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทย ที่ผ่านมา คนไทยไม่คุ้นเคยกับการแข่งขัน ทั้งที่การแข่งขันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมมากมาย  เช่น การประมูลคลื่น 4G ทั้ง 2 ครั้งสร้างรายได้มหาศาลแก่รัฐบาล  ซึ่งลดความจำเป็นในการเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน  ในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค   นอกจากนี้ การประมูลดังกล่าวยังไม่สร้างภาระที่สูงเกินไปแก่ผู้ประกอบการ เช่น มูลค่าคลื่น 4G ในย่าน 1800 MHz ที่ AIS ประมูลได้ เพื่อนำไปประกอบธุรกิจ 18 ปี เทียบเท่ากับกำไรสุทธิของบริษัทเพียง 1.13 ปีเท่านั้น ส่วนมูลค่าการประมูลคลื่นในย่าน 900 MHz อาจสูงกว่าที่คาดหมายไปมาก แต่ก็น่าจะเกิดจากการวางแผนทางธุรกิจอย่างรอบคอบของผู้ประกอบการแล้ว

     ผู้เขียนหวังว่า การประมูลคลื่น 2 ครั้งล่าสุด ตลอดจนการประมูลคลื่นโทรทัศน์ดิจิทัลที่ผ่านมา จะเป็น มาตรฐานใหม่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ตลอดจนการที่รัฐจะดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับเอกชน  เพราะประชาชนได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นประโยชน์อย่างไร 

     ตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา รัฐได้สร้าง อภิมหาเศรษฐีขึ้นมาหลายราย โดยให้ใช้ทรัพยากรสาธารณะและอภิสิทธิ์ต่างๆ  ทั้งในธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องขออนุญาต อนุมัติหรือเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ   การได้ทรัพยากรสาธารณะมาประกอบธุรกิจในราคาถูกมาก จึงทำให้นักธุรกิจเหล่านั้นได้กำไรมหาศาล โดยไม่ได้ให้ผลตอบแทนแก่รัฐอย่างเหมาะสม และไม่ได้ลดค่าบริการให้แก่ประชาชน  สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นเสมือน ใบอนุญาตให้พิมพ์ธนบัตรและทำให้นักธุรกิจของไทยจำนวนหนึ่งต้องวิ่งเข้าหาอำนาจรัฐ เพื่อแสวงหาความได้เปรียบในการแข่งขัน

      จากการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนยังพบด้วยว่า มีความพยายามของนักธุรกิจการเมืองในการกีดกันการแข่งขัน  หรือใช้วิธีที่ไม่โปร่งใสในการแข่งขันมาโดยตลอด เช่น พยายามให้รัฐใช้วิธีการคัดเลือก (beauty contest) แทนการประมูล เพราะเอื้อต่อการวิ่งเต้นมากกว่า  หรือให้ประมูลโดยไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เช่น การประมูลคลื่น 3G ในปี 2555  ซึ่งในกรณีหลังนี้ ปปช. ยังผิดพลาดที่ไปรับรองว่า มีความโปร่งใส เพราะมีการเคาะราคาถึง 7 ครั้ง

     ความพยายามในการกีดกันการแข่งขันของนักธุรกิจการเมืองยังสะท้อนอยู่ในบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกล้มไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และในร่างกฎหมาย กสทช. ในปัจจุบัน ที่ล้วนมีบทบัญญัติที่พยายามไม่ให้เกิดการประมูลคลื่นอย่างโปร่งใสเพื่อป้องกันความพยายามกีดกันการแข่งขันดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

       ประการแรก รัฐไม่ควรยกทรัพยากรสาธารณะ และสิทธิประโยชน์ในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้แก่นักธุรกิจ โดยไม่ผ่านการแข่งขัน เช่น ไม่ควรยกโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน หรือกรุงเทพฯ-พัทยา ให้แก่เอกชนรายใหญ่บางราย ดังที่เป็นข่าว ทั้งที่ไม่เคยปรากฏว่าเอกชนเหล่านั้นมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้เลย

      ประการที่สอง การมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดหรือแสดงความตั้งใจเข้าสู่ตลาด ก็สามารถมีผลในการแข่งขัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค รัฐจึงควรปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด   รัฐบาลปัจจุบันมีความใกล้ชิดกับธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ดังจะเห็นว่า สามารถชักชวนมาร่วมกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่ควรระวังไม่ให้ธุรกิจเหล่านั้นชี้นำให้รัฐปิดกั้นการแข่งขัน เพื่อรักษาประโยชน์ของตน

    ประการที่สาม อาจมีบริษัทที่ชนะการประมูล แต่ภายหลังประสบปัญหาในการดำเนินการธุรกิจ เช่น ขาดทุน หรือต้องปิดกิจการลงไป ดังตัวอย่างของบางบริษัทในธุรกิจโทรทัศน์ดิจิทัล ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการคาดการณ์ธุรกิจที่ผิดพลาด ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากการประมูล  ในอนาคต หากเกิดปัญหาดังกล่าว นักธุรกิจการเมืองที่ไม่ต้องการให้มีการแข่งขัน อาจฉวยโอกาสโฆษณาชวนเชื่อให้รัฐกลับไปใช้วิธีการอื่นแทนการประมูลอีก  สื่อมวลชนและประชาชนจึงควรรู้เท่าทันเรื่องดังกล่าว และไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักธุรกิจการเมือง

http://tdri.or.th/tdri-insight/4g-900-mhz-somkiat/

​เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

​​โทร.02-2701350 ต่อ 113 หรือ 083-0648163​

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!