- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 12 November 2015 12:04
- Hits: 2782
4 ค่ายแข่งเดือด ประมูลคลื่น'4จี' ทะลุ 5 หมื่นล้าน!
ประมูลเดือดมือถือคลื่น '4 จี'กลุ่มจัสมิน, ดีแทค, เอไอเอส และทรู 4ค่ายยักษ์ใหญ่เคาะราคากันมันหยดตั้งแต่เช้ายันดึก ยอดเงินทะลุ 5 หมื่นล้าน จากราคา ตั้งต้นที่ 1.5 หมื่นล้าน ทั้งที่คาดการณ์มูลค่าไว้แค่เพียง 3.3 หมื่นล้านเท่านั้น แต่บิ๊กกสทช.ยันไม่กระทบผู้บริโภค ชี้สัญญาระบุชัด ต้องราคาถูกกว่า '3 จี'รออีก 7 วันถึงจะประกาศผลผู้ชนะการประมูล คาดเปิดใช้ได้ต้นปีหน้า ภายใน 4 ปีต้องให้บริการได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั่วประเทศ และต้องครอบคลุมร้อยละ 80 ภายใน 8 ปี
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9115 ข่าวสดรายวัน
ประมูล4จี - 4 ตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการคลื่นความถี่ เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4 จี ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ บรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือด จนราคาประมูล 2 ใบอนุญาตทะลุขึ้นไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่สำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 พ.ย. ที่สำนัก งานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัทแจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 2.บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และ 4.บริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยมีพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รวมทั้งกรรมการกสทช. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. มาร่วมเปิดการประมูลครั้งนี้ ส่วนตัวแทนจาก 4 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลเดินทางเข้ามาร่วมประมูลกันพร้อมเพรียง เริ่มจาก นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการเอไอเอส เป็นตัวแทนจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ, นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มจัสมินฯ จากบริษัทแจส โมบายฯ, นายลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค จากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต และนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรูฯ จากบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลฯ
จากนั้นเวลา 09.00 น. ตัวแทนการประมูล 4 บริษัท มีการจับสลากเลือกห้องการประมูล รวมทั้งจับสลากยูสเซอร์ และพาสเวิร์ดที่ใช้ในการประมูล โดยบริษัททรู ได้ห้องที่ 1, บริษัทแจสโมบายฯ ห้องที่ 2, บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ห้องที่ 3 และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ ห้องที่ 4 นอกจากนี้มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น นอร์เวย์ จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู), องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชีย และแปซิฟิก คณะกรรมการธรรมาภิบาลการประมูลคลื่นความถี่ฯ, ผู้แทนจากภาครัฐทุกหน่วย และสื่อมวลชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประมูลด้วย
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนการประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 15,912 ล้านบาท โดยกำหนดให้ใช้วิธีการประมูลในรูปแบบของการเปิดประมูลชุดคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ พร้อมกันทั้ง 2 ชุดคลื่นความถี่ และดำเนินการประมูลหลายรอบ ซึ่งราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ผู้เข้าร่วมการประมูลจะเสนอราคาสำหรับชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการจะประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิจะเสนอราคาชุดคลื่นความถี่ชุดใดชุดหนึ่งก็ได้ แต่มีโอกาสเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ได้เพียงชุดเดียว การประมูลแต่ละรอบผู้เข้าร่วมการประมูลจะมีเวลา 15 นาทีในการเสนอราคา
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประมูลรอบแรก ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกรายจะต้องเสนอราคาในชุดคลื่นความถี่ชุดใดชุดหนึ่งที่ราคา 16,708 ล้านบาท จากนั้นหากเสนอราคาจะต้องเสนอราคาครั้งละ ร้อยละ 5 ของราคาเริ่มต้นที่ 15,912 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 796 ล้านบาท แต่เมื่อราคาถึง 19,890 ล้านบาท การเสนอราคาจะปรับเป็นเสนอราคาครั้งละ ร้อยละ 2.5 ของราคาขั้นต่ำ 15,912 ล้านบาท คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งละ 398 ล้านบาท
"จากนั้นโปรแกรมในการประมูลจะประมวลผล และจะประกาศผลการประมูลของรอบนั้นๆ ภายในเวลา 5 นาทีก่อนการประมูลรอบต่อไปจะเริ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาแต่ละรอบประมาณ 20 นาที ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประมูลมีสิทธิไม่เสนอราคาได้ 3 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการประมูล โดยสามารถใช้สิทธิได้ 2 วิธี คือ 1.แจ้งใช้สิทธิ และ 2.ไม่เสนอราคาตามระยะเวลาที่กำหนด" รองประธานกสทช.กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประมูลแต่ละล็อต หรือแต่ละชุดคลื่นความถี่ จะสิ้นสุดลงในรอบการประมูลช่วงสุดท้าย เมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเสนอราคาอีก และเมื่อการประมูลทุกล็อตสิ้นสุดลง จะถือว่าสิ้นสุดขั้นตอนการประมูลชุดคลื่นความถี่ ในขณะที่ผู้แทนผู้เข้าร่วมการประมูลเมื่อเข้าห้องประมูลแล้วจะไม่สามารถออกนอกพื้นที่ที่กำหนดจนกว่าจะสิ้นสุดการประมูล ซึ่งสำนักงาน กสทช.จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมประมูลในห้องประมูลเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังมีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณหน้าห้องประมูลอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเคาะราคาผ่านไป 3 ชั่วโมง การแข่งขันเคาะราคาเป็นไปอย่างดุเดือดจากเข้าร่วมประมูลทั้ง 4 บริษัท โดยการแข่งขันเคาะราคารอบที่ 9 ราคาประมูลรวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 40,182 ล้านบาท
ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.อ.ธเรศกล่าวว่า ภาพรวมการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ในขั้นต้น ปรากฏแล้วว่ายอดการประมูลเกินกว่าเป้าหมายที่กสทช.วางไว้ 33,146 ล้านบาท โดยผ่านมาถึงรอบที่ 13 ราคาประมูลรวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 42,172 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เกิน 100% ของมูลค่าคลื่นที่ประเมินแล้วทั้ง 2 ใบอนุญาต สะท้อนให้เห็นว่าคลื่นความถี่เป็นที่ต้องการที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ขณะเดียวกันผลประโยชน์หรือรายได้ที่ส่งเข้ารัฐจะมากขึ้น แต่จากราคาประมูลที่สูงนี้ จะไม่ทำให้อัตราค่าบริการต้องสูงตามไปด้วย เนื่องจาก กสทช.ได้กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วเป็นเงื่อนไขแนบพร้อมกับหลักเกณฑ์การประมูล ซึ่งผู้ที่ได้ใบอนุญาตต้องทำอัตราค่าบริการให้ถูกกว่า 3 จีบนคลื่น 2100 เมกะเฮิร์ตซ์
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประกาศผลการประมูลภายใน 7 วัน หรือไม่เกินวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดย กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูลภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล โดยใบอนุญาตคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จะมีอายุ 18 ปี การชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวดโดยงวดแรกชำระร้อยละ 50 ส่วนงวดที่ 2 และ3 ชำระร้อยละ 25 คาดว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะเปิดให้บริการได้ก่อนเดือนม.ค.ปีหน้า ส่วนการขยายโครงข่ายตามที่กสทช.กำหนดไว้ 4 ปีต้องครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 50 และ 8 ปีต้องครอบคลุมร้อยละ 80 ของพื้นที่ประชากรประเทศไทย
ต่อมาเวลา 19.30 น. พ.อ.เศรษฐพงค์เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ระบุว่า จากการแข่งขันเคาะราคาประมูลที่มีต่อเนื่อง และยืดเยื้อมากว่า 9 ชั่วโมงของผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 บริษัท ทำให้คณะกรรมการกทค.ประชุมวาระพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาการสิ้นสุดเวลาประมูลที่กำหนดไว้เวลา 21.00 น. โดยคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ที่ขยายเวลาการประมูลไปจนกว่าจะได้บทสรุปว่าผู้เข้าร่วมรายใดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพราะมีข้อกังวลว่าหากให้สิ้นสุดเป็นไปตามกำหนดเวลาเดิม 21.00 น. ของวันที่ 11 พ.ย. และกลับมาเคาะราคาประมูลกันใหม่ในวันที่ 12 พ.ย.นั้น เกรงว่าผู้เข้าร่วมประมูลจะมีการสื่อสารระหว่างกัน และจะทำให้กทค. และกสทช.ตอบสังคมได้ยากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 21.00 น. จบการประมูลในรอบที่ 33 ราคาประมูลรวม 2 ใบอนุญาตทะลุไปแล้ว 51,724 ล้านบาท ซึ่งกสทช.ได้ให้มีการพักการประมูล 30 นาที และจะกลับมาเคาะราคาประมูลอีกครั้งในเวลา 21.30 น. โดยจนถึงขณะนี้ผ่านมา 11 ชั่วโมงนับตั้งแต่เปิดการประมูลในเวลา 10.00 น. ซึ่งการแข่งขันเคาะราคายังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุด เพราะผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 บริษัทต้องการเป็นผู้ชนะการประมูล
ประมูล 4G ยืดเยื้อเกิน 22 ชม.ราคารวมทั้ง 2 ใบอนุญาตทะลุ 7 หมื่นลบ.
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีผู้ชนะการประมูลอย่างชัดเจน หลังจากแข่งขันมีระยะเวลารวมกว่า 22 ชั่วโมงแล้ว และมีเงินที่ได้จากการประมูลรวมทั้ง 2 ใบอนุญาตสูงถึง 70,032 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเมินสถานการณ์มองว่ายังมีผู้แข่งขันบางรายเก็บสิทธิการยกเว้นไม่เคาะราคา(Waiver)ในแต่ละรอบไว้อยู่ จึงมีการเคาะราคาแข่งกันขึ้นมาอีกรอบ อย่างไรก็ตามจะสามารถรู้ได้ว่าเสร็จสิ้นการประมูลอย่างชัดเจน ผู้แข่งขันทั้งหมดจะต้องใช้ Waiver ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยแต่ละรายจะมีสิทธิใช้ทั้งสิ้น 3 ครั้ง และผู้ประกอบการไม่ได้เสนอราคาเข้ามาเพิ่มแล้ว ซึ่งจะเป็นการยืนยันการประมูล
หากการประมูลเสร็จสิ้น ทาง กทค.จะรับรองผลการประมูลดังกล่าวภายใน 7 วัน และหลังจากนี้จะต้องเป็นหน้าที่ของกสทช.ที่จะเข้าไปกำกับดูแลในเรื่องค่าบริการ ซึ่ง กสทช.กำหนดไว้ว่าจะต้องมีราคาค่าบริการจะต้องถูกกว่า 3G ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯจะเดินหน้าให้บริการ 4G อย่างเต็มที่ ประกอบกับ เชื่อว่าผู้ประกอบการได้คำนึงถึงการลงทุนในด้านต่างๆไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเสนอราคาประมูล จึงไม่น่ามีการเอาเปรียบผู้บริโภค
อินโฟเควสท์