- Details
- Category: กสทช.
- Published: Friday, 06 November 2015 19:08
- Hits: 2791
กสทช.ยอมถอยยุติคำครหาเปิดช่องฮั้วราคาเลื่อนประมูล 4จีคลื่น 900MHz
แนวหน้า : บอร์ดกทค.สั่งกสทช. เลื่อนประมูล 4 จีคลื่น 900 MHz จาก 12 พฤศจิกายน เป็น 15 ธันวาคมตามเดิม หลังถูก นักวิชาการสับแหลกเปิดประมูลใกล้คลื่น 1800 MHz หวั่นเปิดช่องฮั้วราคา เร่งส่งหนังสือถึง "อุตตม" รายงานครม. วงในชี้นายกฯ สั่ง หลัง "สมเกียรติ" แนะเลื่อนป้องกันฮั้วประมูล
นายฐากร ตัณฐสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการโทรคมนาคม (กทค) วาระพิเศษว่าที่ประชุมมีมติ เลื่อนการประมูล 4จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่สำนักงาน กสทช.จัดให้มีการประมูลในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตามเดิมซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยมีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือการเลื่อนวันประมูลดังกล่าวไปยังนายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ด่วนที่สุดเพื่อเสนอต่อครม.รับทราบต่อไป
สาเหตุการเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกไป เนื่องจากมีบทความของนักวิชาการต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเห็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ถึงแม้ว่าสำนักงาน กสทช.จะชี้แจงการป้องกัน การสมยอมราคา หรือการฮั้วประมูล แต่หากมีการประมูล ในวันที่ใกล้กันกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะส่ง ผลกระทบด้านราคาต่อการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อาจทำให้การแข่งขันด้านราคาลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงาน กสทช.พิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งผลดีและผลเสียแล้ว และเพื่อเป็นการรับข้อสังเกต ของภาคประชาชนและองค์กรทุกภาคส่วน จึงมีมติ กทค.ให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิมที่กำหนดคือ วันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตามที่ ครม.ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้
"เราอ่านบทความบทวิเคราะห์ทั้งหมด ข้อเสนอ ขององค์กรข้อเสนอทุกภาคส่วนข้อเสนอใดมีเหตุผล เราก็รับฟัง ซึ่งกสทช.มั่นใจว่าการเลื่อนดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และนักลงทุน โดย การเปิดประมูลคลื่นย่าน 900 MHz และอาจจะเปิด ให้บริการแก่ประชาชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ขณะเดียวกันการโอนย้ายเลขหมายจะทำให้มีระยะเวลา เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีก 1 เดือน เหตุผลการเลื่อนประเด็นที่ 1.เหตุผลเงินที่เราจะประมูลพร้อมกันที่จะประหยัดได้ 70 กว่าล้านบาท ก็ต้องนำกลับมาใช้ ก็ถือว่า ไม่ประหยัด ส่วนประเด็นที่ 2.เนื่องจากนักวิชาการ ท้วงติงเราก็ต้องเอามาชั่งน้ำหนัก ผมก็ไม่อยากเลื่อนแต่เมื่อมีการท้วงติง ก็ต้องรับฟัง แล้วแต่บอร์ดกทค.ถ้ามีการฟ้องร้องใครจะรับผิดชอบ"
นายฐากร กล่าวอีกว่าส่วนกรอบระยะเวลาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในการพิจารณาคุณสมบัติ ยังคงเป็นวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2558 ประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติ 20 พฤศจิกายน 2558 และการรองรับผลการประมูลและประกาศผลผู้ชนะ การประมูล ไม่เกินวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ซึ่งจะสามารถออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ได้ภายในเดือนมกราคม 2559
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงไอซีทีเสนอเรื่องการเลื่อนประมูล 900 MHz เข้าที่ประชุมครม.เพื่อรับทราบต่อไป ทั้งนี้ การเลื่อนประมูลดังกล่าว เป็นไปตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ที่ต้องการให้เลื่อนประมูลออกไปถึงแม้จะมีมติอนุมัติกรอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เนื่องด้วยมีความคิดเห็นจากนักวิชาการที่ทำให้ นายกฯ เกิดการเปลี่ยนใจและเป็นสาเหตุให้เลื่อนการประมูล ดังกล่าวออกไป
โดยบทวิเคราะห์ของ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า การประมูลได้มูลค่าสูงหรือต่ำจะไม่มีผลต่ออัตรา ค่าบริการของผู้บริโภค เพราะเป็นการตัดส่วนกำไรมาจาก ผู้ชนะการประมูลเข้ารัฐเท่านั้น ดังนั้น แนวทางที่สมควรดำเนินการคือ ให้มีการประมูลคลื่นความถี่แยกเป็นสองกลุ่มในเวลาที่แตกต่างกันอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูล
นายฐากร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีช่องทีวีดิจิตอลช่องไทยทีวียุติออกอากาศหรือเกิดจอดำไม่สามารถรับชมได้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เป็นการดำเนินการที่ช่องไทยทีวีเข้าใจคลาดเคลื่อนโดย กสทช.ยังไม่มีหนังสือคำสั่งเป็นทางการให้ยุติการออกอากาศเนื่องจากไม่ชำระเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 288 ล้านบาท แต่หากภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ช่องไทยทีวียังไม่นำเงินประมูลงวดที่ 2 มาชำระต่อ กสทช.ได้สำนักงาน กสทช.ก็จะมีหนังสือแจ้งพักใช้ใบอนุญาตพร้อมทวงเงินค่าประมูลและต้องยุติการออกอากาศ ช่องไทยทีวีอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนกำหนดที่ กสทช. จะเจรจาร่วมกับช่องไทยทีวีตามที่ศาลปกครองนัดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันในการหารือ
อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล ได้ถือครอง ใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องรายการข่าว อย่างช่องไทยทีวี และช่องรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว อย่างช่องโลก้า โดยเปลี่ยนเป็น MVTV family โดยทั้งนี้ทั้ง 2 ช่องต้องชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 จำนวนรวม 288 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือ 60,000 ต่อวัน และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในอัตรา 2% จากรายได้รวมต่อปี และค่าปรับนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
บรรยายใต้ภาพ
เลื่อนประมูล : ฐากร ตัณฐสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงมติคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการโทรคมนาคม (กทค) วาระพิเศษที่ให้ เลื่อนการประมูล 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558