- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 13 September 2015 15:46
- Hits: 5881
7 รายยื่นเอกสารชิงประมูลคลื่นความถี่ ‘ครม.-กสทช.’สกัดฮั้ว 4G
แนวหน้า : ยอดผู้สนใจประมูลคลื่น 1800 MHz เพิ่มเป็น 7 บริษัทแล้ว ขณะที่ “หมอลี่” หนุนจัดประมูลคลื่น ย่าน 900 MHz ห่างกับ 1800 MHz ประมาณ 1 เดือน ชี้หากพร้อมๆ กันจะเพิ่มความเสี่ยงการฮั้วประมูล ทำรัฐได้ประโยชน์น้อยลง
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2558 สำนักงาน กสทช.จัดประชุมชี้แจงและให้คำปรึกษาการกรอกเอกสารเพื่อยื่นความประสงค์เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4G ในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์(MHz) เกี่ยวกับภาพรวมการประมูลคลื่นความถี่ การเตรียมตัวก่อนยื่นคำขอเอกสาร ข้อแนะนำการจัดทำและกรอกเอกสาร รวมถึงตอบข้อซักถามและข้อสงสัยจากบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูล ซึ่งได้เปิดให้บริษัทที่สนใจเข้ารับเอกสารตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมี 7 บริษัทเข้ารับเอกสารแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายเดิมจากเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ และมีรายใหม่คือบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด
สำหรับ 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวเคชั่น จำกัด บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัท ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวเคนิเคชั่นส์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด
ทั้งนี้ กสทช.ยังเปิดให้บริษัทที่สนใจขอรับเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลได้จนถึงวันที่ 28 ก.ย. จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ และประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลเพื่อจัดการประมูลในวันที่ 11 พ.ย. คาดว่าหลังจากนี้จะมีบริษัทอื่นสนใจเข้ารับเอกสารเพิ่มเติม
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์แล้ว ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการขยายโครงข่ายโทรศัพท์หลังได้รับใบอนุญาตให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้นกว่าเดิมเป็น 4 ปี ต้องครอบคลุมประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ 8 ปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ส่วนวันจัดประมูลนั้นจะสรุปอีกครั้งในการประชุม กสทช. วันที่ 16 ก.ย.
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ สำนักงาน กสทช.จะเน้นการอธิบายชัดเจนเกี่ยวกับการประมูลที่เตรียมไว้ 2 แบบ คือ การประมูลใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมการได้ถูกต้องครบถ้วน ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ยืนยันว่า จะนำคลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มาประมูลเพิ่มเติมเป็นใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ และจะดำเนินการให้ทันก่อนวันที่ 25 ก.ย. แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะจัดประมูลใบละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ เพียง 2 ใบอนุญาต
มีรายงานแจ้งว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ซึ่งจะเป็นการจัดภายหลังการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นเวลาเดือนเศษ โดยเหตุผลที่มีการกำหนดระยะเวลาการประมูลห่างจากกัน ก็เพื่อจะทำให้มีการแข่งขันราคากันเต็มที่ ในขณะที่ถ้าจัดใกล้กันจะเหมือนการเสนอขายของในจำนวนที่มากกว่าคนซื้อ การแข่งขันก็จะไม่เกิด
“มติดังกล่าวต่างจากแนวทางของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยแนะนำให้ประมูลทั้ง 2 ย่านคลื่นความถี่เร็วที่สุด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนวคิดที่จะจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กันจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประมูลวันเดียวกันโดยแบ่งเช้า-บ่าย ประมูลถัดจากกัน 1 วัน”
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือหมอลี่ แสดงความเห็นว่า การกำหนดวันจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ห่างจากการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการจัดประมูลในช่วงเวลาใกล้กัน เนื่องจากหากมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองในช่วงเวลาใกล้กันก็เท่ากับจะมีจำนวน
ใบอนุญาตรวมกัน 4 ใบอนุญาต คือคลื่นความถี่ย่านละ 2 ใบอนุญาต ก็จะทำให้เสี่ยงกับมีจำนวนคลื่นมากกว่าหรือเท่ากับจำนวน
ผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้นั้นก็กำหนดไว้ที่อัตราเพียงร้อยละ 80 ของราคาที่ประเมินได้เท่านั้น หากไม่เกิดการแข่งขันจึงย่อมจะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากการประมูลอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือ การประมูลในเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมสมยอมหรือฮั้วประมูลกันได้ หากมีการตกลงแบ่งคลื่นความถี่กันในระหว่างผู้เข้าร่วมการประมูล
“ผมก็สนับสนุนให้จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ห่างกันสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันการฮั้วราคา”
สำหรับ วันประมูลของคลื่นย่าน 900 MHz กำหนดไว้ที่ 15 ธ.ค. ซึ่งมีการรายงานต่อคณะกรรมการเตรียมการ ด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว
ทีมศก.นัดถก‘กสทช.’เคลียร์คลื่นความถี่
แนวหน้า : นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.ย. 2558 นี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะไปหารือกับกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามตนไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ที่ผ่านมาก็มีโอกาสได้หารือกับผู้บริหาร กสทช.บ้างแล้ว ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนการประมูลเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานเศรษฐกิจดิจิทัล และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของประเทศไทย
สำหรับ การจัดสรรคลื่นความถี่ หรือการประมูล 4G จะมีขึ้นในวันที่ 11พย.2558 ตามแผนเดิมจะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่ไม่ได้มีการใช้งานของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 5 (MHz)มาจัดสรรด้วย แต่ยังติดขั้นตอนของบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT (ผู้ให้สัมปทานกับดีแทค)หรือในขั้นตอนด้านกฎหมายเพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวง ไอซีที พร้อมจะช่วย บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการเร่งขั้นตอนด้านกฎหมายเพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุม ครม.
“ไอซีทีมีความเห็นว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz สำหรับให้บริการ 4G ควรมีความถี่อย่างน้อยใบอนุญาตละ 15 MHz ดังนั้น จึงพร้อมจะสนับสนุน กสท ในการทำเอกสารสำหรับคืนคลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันกับกรอบเวลาประมูลของกสทช.”นายอุตตม กล่าว
ส่วนคลื่นที่ไม่ได้ใช้งานในส่วนที่เหลือของดีแทคอีก 20 MHz ที่ทาง กสทมีความประสงค์ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อให้บริการ 4G LTE เองนั้น ทาง ไอซีที ก็จะรับไปพิจาณาแต่อย่างไรก็ดีต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้งด้วย
มีรายงานแจ้งว่า สำหรับการเปิดประมูลใบอนุญาต 4G ในย่าน 1800 MHz นั้น จะมีการจัดสรรจำนวน 2 ใบอนุญาต หรือใบอนุญาตละ 12.5 MHz รวมเป็น 25MHz หาก ดีแทค และ กสท สามารถคืนคลื่นได้ทันจะทำให้การประมูลครั้งนี้ จะมีการจัดสรรคลื่น รวมเป็น30 MHz