- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 10 September 2015 09:19
- Hits: 4449
กสทช.ยืนยันเดินหน้าประมูล 4 จีตามกำหนด-เตรียมหารือรมว.ไอซีที 14 ก.ย.นี้
มติชนออนไลน์ : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่า ในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้ผู้ที่สนใจเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 28 กันยายน 2558 โดยจนถึงขณะนี้พบว่าขณะนี้มีผู้มาของรับเอกสารขอเข้าร่วมประมูลแล้วทั้งสิ้น 6-7 ราย ซึ่งหากไม่นับบริษัทลูกที่มาขอ พบว่าหลักๆมีผู้มาขอใบอนุญาตเข้าประมูล 4 จี ทั้งสิ้น 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัท จัสมิน อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ขณะที่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ยังอยู่ระหว่างสอบถามรายละเอียดและตัดสินใจว่าจะเข้าประมูลด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนผู้ที่สนใจเข้าประมูลดังกล่าว ที่มีมากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่ กสทช. เปิดประมูล จำนวน 2 ใบอนุญาต นั้นน่าจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในการประมูลอย่างแน่นอน ซึ่งการประมูล 4จี นั้นถือเป็นการประมูลที่ต้องใช้เงินสูง ทาง กสทช. จะหาโอกาสไปคุยกับทางสถาบันการเงินในเข้าใจถึงอุตสาหกรรมดังกล่าว พร้อมอนุมัติการปล่อยกู้ในการลงทุนสำหรับ 4จี ด้วยเช่นกัน โดยการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะเปิดประมูลวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้
“ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาตนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างแก้ไขร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การประมูล เบื้องต้นในประเด็นที่เปลี่ยนแปลงมีแค่ในส่วนของราคาตั้งต้นการประมูลที่จะเปลี่ยนจากที่ราคา 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริงเป็น 80% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง และระยะเวลาการครอบคลุมโครงข่าย 8 ปี 50% เป็น 8ปี 60% เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ต่ำ ในแต่ละสถานีฐานแม้สามารถครอบคลุมรัศมีได้มากกว่า แต่สามารถรองรับการให้บริการพร้อมๆกันในระยะเวลาเดียวกันของในผู้ใช้งานจำนวนมากๆได้น้อยกว่าคลื่นความถี่ที่มีย่านความถี่สูงกว่า”
นายฐากร กล่าวว่า เชื่อว่าการประมูล 4จี สามารถเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มากมาย โดยที่เห็นชัดที่สุดหลังจากเปิดให้บริการแล้วคือ ค่าโทรศัพท์จะถูกลง เพราะ กสทช. จะบังคับให้ผู้ที่ชนะการประมูล 4จี ทุกคนต้องลดราคาค่าใช้บริการให้ถูกลงจากราคาเฉลี่ยของ 3จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ขณะนี้มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อนาที
นายฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 14 กันยายน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) จะหารือกับ กสทช. เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมด