- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 09 September 2015 09:02
- Hits: 7840
กสท.ทบทวนเรียงช่องขอเงินทำเรตติ้งไม่คืบ
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * กสทช.เตรียมทบทวนเรียงช่องทีวีเหมือนกันทุกแพลตฟอร์มตามคำสั่งศาล ขณะที่ยุติอนาล็อก ส่วนเรื่องเงินวิจัยทำเรตติ้งทีวียังไม่คืบ
พ.ต.โกเมธ ประทีปทอง ผู้อำนวยการ สำนัก กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการประชุม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.58 ที่ประชุมกรรมการกิจ การกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติให้นำร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ.... กลับมาพิจารณาใหม่ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมกรรมการ กสท.ครั้งหน้า ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีการบันทึกการให้ปากคำของกรรมการ กสทช., สำนักงาน กสทช. และกรรมการ กสท.ที่ได้ยืนยันต่อศาล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.58 ที่ผ่านมา กรณีที่ 5 ช่องทีวีดิจิตอล ฟ้องร้องเพื่อให้มีการจัดเรียงลำดับช่องรายการในแต่ละแพลตฟอร์มการออกอากาศมีการจัดเรียงแบบเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีการ ขอรับการสนับสนุนงบประ มาณการจัดทำงานวิจัยเรตติ้งของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ หรือเอ็มอาร์บี (MRB) ในการประชุม กสท.ครั้งนี้ ไม่มีวาระการพิจารณาเข้าที่ประชุม.
กสทช. จับมือสถาบันศึกษาสำรวจความคิดเห็นก่อนยกเลิกทีวีอนาล็อก
กสทช. ร่วมกับสถาบันการศึกษาใน 3 พื้นที่ สำรวจพร้อมผู้บริโภคก่อนการยุติโทรทัศน์ระบบอนาล็อก
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 30/2558 มีวาระการประชุมสำคัญที่น่าจับตาในการเตรียมความพร้อม ผู้บริโภคในการยุติโทรทัศน์ระบบอนาล็อก โดยมีวาระพิจารณาอนุมัติบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 3 สถาบันการศึกษาใน 3 พื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจและศึกษา ผลกระทบเกี่ยวกับการยุติโทรทัศน์ระบบอนาล็อกต่อผู้บริโภคในจังหวัด สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 1 ในข้อเสนอที่มาจากการระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคต่อแผนการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558
โดยทุกฝ่ายลงมติร่วมกันว่า การยุติให้บริการโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกต้องคำนึงความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ทุกภาคส่วนควรเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งหมด และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้บริโภค ดังนั้นต้องศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เช่น จำนวนผู้บริโภคที่รับชมด้วยเสารับสัญญาณภาคพื้นดิน ผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการสนับสนุนอุปกรณ์ การติดตั้งอุปกรณ์ และให้มีศูนย์ให้ข้อมูลและ ช่วยเหลือประชาชนด้วย
อินโฟเควสท์