- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 02 September 2015 11:18
- Hits: 5891
มติกสทช. 7 ต่อ 3 ยกเลิกมติบอร์ดกสท. ชี้อสมท.ไม่ต้องคืนคลื่น 2600MHz
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยกเลิกมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ต้องคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500–2600 เมกะเฮิรคซ์ (MHz) ภายหลังจากพิจารณาสัญญาระหว่าง อสมท กับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ไออีซี เพื่อให้บริการโทรทัศน์ทีวีบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 44 ภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 จะต้องคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. ภายใน 5 ปี โดยที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 3 เสียง ซี่ง 3 เสียงที่ไม่ลงมติทบทวนมติเดิม ได้แก่ 1. พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธาน กสท. 2.นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. 3. นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.
ซึ่งก่อนหน้านี้ บอร์ดกสทช. ไม่อนุมัติให้ อสมท นำเข้าอุปกรณ์มาทดลองการออกอากาศทีวีบนมือถือ ในคลื่นย่าน 2500-2600 MHz หรือช่องยูเอชเอฟ 58 เนื่องจากคลื่นย่านดังกล่าว ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม ฉะนั้น บอร์ด กสท. จึงไม่สามารถอนุมัติได้ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายไปพิจารณารายละเอียดของสัญญาการออกอากาศแบบบอกรับสมาชิก ระหว่าง อสมท กับ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในประเด็นการแก้ไขสัญญา เพื่อให้ทรูสามารถโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง ว่า ส่วนแบ่งรายได้จากการแก้ไขสัญญานั้น จะเป็นรายได้ของ อสมท.หรือหน่วยงานใด รวมถึงขัดกับกฎหมายหรือไม่
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ในกิจการโทรคมนาคมด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกมติของกสท.นั้น ส่วนตัวมีความเห็นว่า ไม่ควรทบทวนมติเดิมของบอร์ดกสท. อย่างไรก็ตาม โดยที่ประชุมบอร์ด กสทช.ให้เหตุผลในการยกเลิกมติดังกล่าวโดยยืนยันตามผลการศึกษาของคณะอนุกรรมตรวจสอบคลื่นความถี่ชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่าอสมท ยังมีสิทธิในคลื่น 2600 MHz โดยเห็นว่า สัญญาระหว่างอสมท กับไออีซี เป็นสัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาร่วมการงาน