- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 22 August 2015 09:27
- Hits: 7167
กสทช.เคาะราคาประมูล 4G คลื่น 1800 MHZ ที่ 1.59 หมื่นลบ. เตรียมจัดการประมูล 11 พ.ย.นี้
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)และ รองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ(กสทช.) เผยราคาเริ่มต้นประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จะไม่น้อยกว่าใบอนุญาตละ 15,912 ล้านบาท จำนวน 2 ใบๆละ 15 MHz ซึ่งจะจัดประมูลวันที่ 11 พ.ย.58
"บอร์ด กสทช.ได้ผ่านร่างประกาศการประมูลความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นที่เรียบร้อย กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ต้องจัดให้มีการให้บริการที่เป็นธรรม และ กำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และ การให้บริการที่มีคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามร่างประกาศการประมูลความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านมติคณะกรรมการ เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ในเบื้องต้นร่างประกาศดังกล่าว ให้มีการจัดสรรใบอนุญาต 2 ใบ ขนาด 15x2 เมกะเฮิรตซ์ เป็นระยะเวลา 18 ปี(ก.ย.2576) ซึ่งผู้เข้า ประมูลจะเสนอราคาสำหรับชุดคลื่นความถี่ได้หนึ่งชุดเท่านั้น
ราคาเริ่มต้นการประมูล จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าใบละ 15,912 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต และในกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 2 รายขึ้นไป ราคาประมูลใน แต่ละรอบ จะเพิ่มขึ้นรอบละ 796 ล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย ราคาเริ่มต้นการประมูล จะไม่น้อยกว่า 19,890 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต โดยราคาประมูลในแต่ละรอบ จะเพิ่มขึ้นรอบละ 398 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากบอร์ด กสทช.เห็นชอบแล้วในวันนี้ และประกาศลง ในราชกิจกานุเบกษาภายในเดือนส.ค.58 จากนั้นจะประกาศเชิญชวน และเผยแพร่ สรุปข้อสนเทศฉบับสมบูรณ์ พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ผู้ยื่นประมูล มารับเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประมูล เดือนก.ย. จากนั้นจะพิจารณาและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูล ภายในเดือนต.ค.
รวมทั้ง จัดการประมูลในวันที่ 11 พ.ย.58 และประกาศผลการประมูล ไม่เกินวันที่ 18 พ.ย.58
"รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ จะเข้าสู่รัฐ โดยหลักการสากลนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันในการประมูล เพื่อให้ได้รายได้สูงสุดเท่านั้น แต่ต้องคำนึง ถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย รวมทั้ง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการใหม่ๆ เกิดการแข่งขันด้าน คุณภาพและค่าบริการ และการสร้างงาน สร้างธุรกิจใหม่ๆ จนเกิดการเติบโตใน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากรายได้ ที่รัฐได้จากการประมูลคลื่นความถี่แล้ว รัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียม ยูเอสโอด้วย "ประธาน กทค.กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กสทช.เตรียมประกาศร่างประมูล 4Gคลื่น 1800 MHzในราชกิจจานุเบกษา 25 ส.ค.นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษมีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ ร่างประกาศ กสทช เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHzและให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจะประกาศที่ 25 ส.ค.58 และจะเริ่มประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 28 ส.ค. 2558และจะเปิดรับซองในวันที่ 30 ก.ย. 2558
สำหรับ สาระสำคัญหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ภายหลักจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว มีดังนี้
1.อายุของใบอนุญาตจากเดิมที่มีอายุ 19 ปี ปรับเหลือ 18 ปี โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตในปี 2576เพื่อให้สอดคล้องกับใบอนุญาตที่จากคลื่นที่จะได้คืนกลับมาภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ที่จะกำหนดอายุใบอนุญาต 15 ปี จะได้สิ้นสุดอายุการอนุญาตพร้อมกัน
2.ราคามูลค่าคลื่นความถี่ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 19,890 ล้านบาท
3.ราคาเริ่มต้นการประมูลที่กำหนดไว้เดิม 70% เปลี่ยนแปลงเป็น 80% คือกำหนดไว้ที่ราคา 15,912 ล้านบาท โดยในการเคาะราคาประมูล 1 ครั้งจะเพิ่มขึ้น 5% หรือเท่ากับ 796 ล้านบาท
4.หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นจะเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ หรือ 19,890 ล้านบาท และในการประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง คิดเป็น 2.5% ของมูลค่าคลื่นความถี่ หรือเท่ากับ 398 ล้านบาทต่อการเคาะ 1 ครั้ง
5.เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
6.ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
7.ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และเพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี
8.ไม่มีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Overall Spectrum Cap) แล้ว
"ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. ในครั้งนี้ เป็นร่างที่สร้างดุลยภาพในการใช้คลื่นความถี่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เน้นผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก"นายฐากร กล่าว
สำหรับ กระบวนการคคืนคลื่นความถี่ของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จให้ทันตามกำหนดตามที่กสทช.ได้กำหนดไว้คือวันที่ 25 ก.ย.58 ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะประมูลคลื่นคลื่นความถี่ด้วยคลื่นความถี่ขนาด 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตต่อไป
อินโฟเควสท์
'กสทช'เดินหน้าประชาพิจารณ์ เปิดเวทีถกคลื่น 900 MHz 31ส.ค.นี้
แนวหน้า : พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสท.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ในวันที่ 31 ส.ค.58นี้ จะมีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ครั้งสุดท้ายจำนวน 20 MHz ภายหลังจากที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอเอส จะสิ้นสุดสัญญาสัปมทานลงในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรใบอนุญาตจำนวน 2 ใบ ขนาด 10x2 เป็นระยะเวลา 15 ปี (ก.ย.2573) ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จัดประมูล 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตมีแถบคลื่นความถี่กว้าง 10 MHz ตั้งต้นประมูลที่ราคา 11,260 ล้านบาทคิดที่ 70% ของมูลค่าคลื่น ขณะที่มูลค่าคลื่น 100%จะอยู่ที่ 16,085 ล้านบาท แต่ขณะนี้บอร์ดกทค.มีความเป็นไปได้ที่จะปรับราคาตั้งต้นขึ้นเป็น 80% ให้เหมือนกับใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz โดยราคาตั้งต้นใหม่ของคลื่น 900 จะอยู่ที่ 12,867 ล้านบาท
"ราคาตั้งต้นของคลื่น 900 MHz เราน่าจะขยับขึ้นไปให้คิดที่ 80% ให้เหมือนกับที่มติบอร์ดที่เพิ่มราคาตั้งต้นของคลื่น1800 โดยสาเหตุเพราะอยากให้ราคาการประมูลไม่ต่ำจนเกินไปหลังจากที่มีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน"
ขณะเดียวยกัน ประชุมบอร์ดกสทช. วานนี้ (21 ส.ค.) มีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช.เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) หรือ ร่างประกาศการประมูลความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ( MHz)เป็นที่เรียบร้อย โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการให้บริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยในวันที่ 25 ส.ค.นี้ คาดว่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะเริ่มประกาศเชิญชวนลูกค้าร่วมประมูลในวันที่ 28 ส.ค.และจะเปิดรับซองในวันที่ 30 ก.ย.2558 นี้
"จากนั้นจะประกาศเชิญชวน และเผยแพร่ สรุปข้อสนเทศ (ไอเอ็ม) ฉบับสมบูรณ์ พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ผู้ยื่นประมูลมารับเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประมูลเดือน 30 ก.ย. จากนั้นจะพิจารณาและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูลภายในเดือนต.ค. จัดการประมูลในวันที่ 11 พ.ย. และประกาศผลการประมูลไม่เกินวันที่ 18 พ.ย. 2558 ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553"
ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับบริการเสียง และข้อมูล โดยเฉลี่ยแล้วต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จีที่ใช้ความถี่ย่าน 2100 MHz ณ วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อยหนึ่งรายการ ที่มีอัตราค่าบริการที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 1800 MHz
โดยมีอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ณ วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย และมีคุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการจะประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ และคุณภาพการให้บริการเป็นอย่างอื่น
นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการกสทช.สำหรับร่างประกาศการประมูลความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านมติบอร์ดเป็นที่เรียบร้อยในเบื้องต้นร่างประกาศฯ ดังกล่าว มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ มีการจัดสรรใบอนุญาต 2 ใบ ขนาด 15x2 MHz เป็นระยะเวลา 18 ปี (ก.ย.2576) ผู้เข้าประมูลจะสามารถเสนอราคาสำหรับชุดคลื่นความถี่ ได้หนึ่งชุดเท่านั้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าใบละ 15,912 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต หรือคิดที่ 80% ของมูลค่าคลื่นความถีที่แท้จริง ในกรณีมีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 2 รายขึ้นไป ราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นรอบละ 796 ล้านบาท เพิ่มครั้งละ 5%
อย่างไรก็ตาม หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย ราคาเริ่มต้นการประมูลจะไม่น้อยกว่า 19,890 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต หรือคิดที่ 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง โดยราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นรอบละ 398 ล้านบาท เพิ่มครั้งละ 2.5% ซึ่งการประมูลรอบแรกผู้ประมูลไม่สามารถใช้สิทธิการไม่เสนอราคาได้ ค่าพิจารณาคำขอ 5 แสนบาท เงินประกันการประมูลรายละ 696 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีการส่งแผนซีอาร์เอสให้กทค.เห็นชอบ
ทั้งนี้ รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่จะเข้าสู่รัฐ ซึ่งโดยหลักการสากลนั้นไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันในการประมูลเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการใหม่ๆ เกิดการแข่งขันทางด้านคุณภาพและราคาค่าบริการ รวมไปถึงการสร้างงาน สร้างธุรกิจใหม่ๆขึ้นมากมาย จนเกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งนอกเหนือจากรายได้ที่รัฐได้จากการประมูลคลื่นความถี่แล้ว รัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมยูเอสโอด้วย ในที่สุดจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชนต่อไป
"ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของ 3จีในปัจจุบัน ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดให้มีโครงข่ายอย่างน้อย 40% ใน 4 ปีและเพื่อเป็นการรับประกันการใช้งานคลื่นต้องกระจายการให้บริการเป็น 50% ภายใน 8 ปี"
สำหรับ การตัดเงื่อนไขการถือครองคลื่นความถี่(สเปคตรัม แคป) เดิมที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องถือครองไม่เกิน 60เมกะเฮิรตซ์นั้น มติที่ประชุมได้ตัดเงื่อนไขตรงนี้ออกไป เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาฟ้องร้องจากเอกชนในภายหลัง ซึ่งอาจจะกระทบต่อกรอบเวลาการประมูลได้และหากกระบวนการคืนคลื่นความถี่ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่รับคลื่นมาจาก บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จำนวน 4.8 MHz ไม่สามารถเสร็จได้ทันก็จะประมูลในจำนวน 12.5 MHz แทนซึ่งอยากให้ประชาชนและเอกชนไม่ต้องเกิดความกังวล เพราะกสทช.ก็จะกลับไปประมูลต่อไป