- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 30 July 2015 18:41
- Hits: 5101
'ฐากร'ผุดไอเดียชุบชีวิต'ทีวีดิจิตอล' ลดค่าธรรมเนียมจ่อชงบอร์ดกสท.
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยในงานเสวนา'ทิศทางการอยู่รอดของทีวีดิจิตอล' ที่ สำนักงาน กสทช. ว่า จากกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ประสบปัญหาในการดำเนินการ รวมทั้งมีบางรายอยากยกเลิกกิจการ โดยในมุมของ กสทช. ยอมรับว่า เห็นใจและอยากช่วยเหลือ แต่กลับติดปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ แต่ล่าสุดในเรื่องของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ในอัตรา 2% จากรายได้รวมต่อปี โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำหนังสือตอบกลับหนังสือที่ สำนักงาน กสทช. ได้สอบถามไปก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถลดเงินนำส่งที่มาจากค่าธรรมเนียมรายปีได้หรือไม่ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นอำนาจของ กสทช. แต่ต้องมีเหตุผลที่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม จากคำชี้แจงดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จึงอยู่ในระหว่างจัดทำแผนงานในการลดค่าธรรมเนียม เพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล แต่จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่าจะลดได้ต้องมีเหตุจำเป็น แผนการลดค่าธรรมเนียมจึงเป็นแบบอัตราก้าวหน้า หรือ เป็นขั้นบันใดคิดตามสัดส่วนรายได้ของแต่ละผู้ประกอบการ เช่น อาจกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปีไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ผู้ที่มีรายได้ 500-700 ล้านบาท ชำระค่าธรรมเนียมเพียง 0.75%จากรายได้รวมต่อปี และผู้มีรายได้ 700-1,000 ล้านบาท ชำระเงินค่าธรรมเนียม 1% จากรายได้รวมต่อปี โดยต้องไม่ชำระไม่เกิน 2% เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลรายได้ที่มาจากใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ในปี 2557 ผู้ประกอบการแจ้งมายัง กสทช. โดยผู้ที่มีรายได้สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริษัท อาร์เอส.เอส. เทเลวิชั่น จำกัด หรือ สถานีโทรทัศน์ช่อง8 มีรายได้ 472,723,186 บาท 2.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือ สถานีโทรทัศน์ช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี มีรายได้ 452,082,979 บาท และ 3.บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ในช่อง 3เอชดี มีรายได้ 433,943,930 บาท ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ในช่อง 9แฟมมิลี มีรายได้ 6,062,127 บาท 2.อสมท ในช่อง 9เอชดี มีรายได้ 8,174,172 บาท และ 3.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด หรือช่องนิวส์ทีวี มีรายได้ 11,166,211 บาท ทั้งนี้ ในส่วนช่อง ไทยทีวี และช่องโลก้า ยังไม่ได้มีการแจ้งรายได้มายัง กสทช. แต่อย่างใด
นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า มีอยู่หลายครั้งที่มีคนถามว่าเมื่อธุรกิจทีวีดิจิตอลมีปัญหา และผู้ประกอบการออกมาบ่นเดือดร้อน แต่ตอนเข้าประมูลทีวีดิจิตอลก็ไม่ได้มีใครบังคับ แต่ในความเป็นจริงแล้วเพราะสภาพของอุตสาหกรรมการเป็นตัวบังคับ หากไม่เข้าก็ต้องรอไปอีก 15 ปี อีกทั้งตอนเข้าประมูลผู้ประกอบการทุกรายยังเข้าใจว่า กสทช. จะให้การสนับสนุนอย่างเป็นธรรม แต่พอประมูลเสร็จสิ้นแล้วกลับพบว่า กสทช. ยังมีความไม่เป็นมืออาชีพ เช่น ผู้ให้บริการโครงข่ายกำหนดให้มี 4 รายแทนที่ 1 ราย จึงควบคุมดูแลคุณภาพยาก การจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกำหนดเวลาชำระให้ครบภายใน 6 ปี แทนที่ 15 ปี ตามอายุใบอนุญาต ทั้งที่ในช่วงเริ่มต้น 5-6 ปีแรก ถือเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องลงทุน
"การที่ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์แบบนี้ เหมือนออกแบบให้ผู้ประกอบการรายใหม่ตายกลางทาง แต่ให้เหลือแค่ผู้ประกอบการรายเดิมที่ยังคุมตลาดอยู่ ดังนั้นจึงหวังว่า กสทช. จะปรับวิศัยทัศน์ เพราะด้วยหลักเกณฑ์เช่นนี้อาจทำให้มีผู้ประกอบการอีกหลายรายอยู่ไม่ถึงช่วงยุติออกอากาศทีวีอนาล็อกในปี 256"นายฉัตรชัย กล่าว