- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 26 July 2015 08:46
- Hits: 2659
สื่อจวกรื้อกม.กสทช.ชี้เกาไม่ถูกจุดและที่มากรรมการมีช่องโหว่
ไทยโพสต์ : ราชเทวี * สมาพันธ์-สมาคมวิชาชีพสื่อจวกร่าง พ.ร.บ.กสทช.แก้ไม่ตรงจุด ชี้ที่มากรรมการไม่มีการบ่งชัดถึงความชำนาญในหน้าที่ ด้าน สปช.แนะหน่วยงานสื่อทำร่าง พ.ร.บ.คู่ขนาน เพื่อร่วมพิจารณา
นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในมิติที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาทั้งในด้านของอำนาจหน้าที่หน่วยงานที่กำกับดูแล และสิทธิหน้าที่ของสื่อมวลชน เมื่อพิจารณาในเนื้อหาของ พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (กสทช.ฉบับปัจจุบัน) การแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างที่รอเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น มีเนื้อหาเพิ่มเติมที่แก้ไขยังไม่ตรงจุด มีหลายประเด็นที่มีปัญหา ทั้งเรื่องการสรรหากรรมการที่เข้ามากำกับดูแล ไม่ได้เน้นค้นหาคนที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน
ทั้งนี้ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในวิชาชีพสื่อ รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นกระจายเสียงและโทรคม นาคมออกมารวมตัวกันเพื่อ ผลักดันให้การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่สังคมไทยเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้สื่อเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งการที่ภาครัฐดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมองค์รวมของกฎหมายทั้งหมด และบัญญัตให้ต้องปฏิรูปสื่อมวลชนเพื่อให้รองรับและสอดคล้องต่อการปฏิรูปประเทศนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักสากลของอารยประเทศที่มีการกำหนดบัญญัติสิทธิไว้
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัญหาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอยู่คือ เรื่องของอำนาจหน้าที่ของกรรมการ และการสรรหากรรมการเข้ามาทำหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมาการหาคนที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการคิดค่าโทร.เป็นวินาที การกำหนดค่าบริการ 3จี ที่ไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที อีกทั้งยังทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นรัฐบาลควรแก้ให้ตรงจุด เกาให้ถูกที่ ไม่ใช่แก้เฉพาะในส่วนการบริหารงบประมาณของ กสทช.
ขณะที่นายพนา ทองมีอาคม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนมองว่าทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ได้ กฎหมายก็เช่นกัน แต่ต้องแก้ให้ตรงจุด ซึ่งอยากเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อที่มีความเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขร่างเพิ่มเติม พ.ร.บ.กสทช.นั้น ทำร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อคู่ขนาน เพื่อเป็นรายละเอียดตามที่องค์กรนั้นๆ ต้องการออกมาให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมากขึ้น จะได้ช่วยในการพิจารณาว่าส่วนใดควรแก้อย่างไร เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันก็จะผลักดันให้กฎหมายที่ออกมามีประสิทธิภาพและให้สิทธิ์กับทุกฝ่าย.
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพฯ-สปช. ฉะแหลกร่างพ.ร.บ.กสทช.เดินผิดทาง
แนวหน้า : นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยในงานเสวนา “ผ่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. มาถูกทางหรือไม่ ที่โรงแรมเอเชีย ว่า การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ที่มาทำหน้าที่หน่วยงานการกำกับดูแล ตาม ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...(พ.ร.บ.กสทช.) ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพฯ และ สมาคมสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง(ประเทศ) เห็นพ้องต้องกัน แล้วว่า ยังคงมีปัญหาอีกหลายประเด็น ที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ในส่วนของการสรรหาคัดเลือกหน่วยงานกำกับดูแล คือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ได้ตัดองค์กรวิชาชีพ รวมถึงองค์กรผู้บริโภคออกจากองค์กรสรรหาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในการตัดสาระสำคัญในส่วนดังกล่าวไป ส่งผลให้ภาควิชาชีพสามารถกำกับดูแลกันเองได้อย่างแท้จริง ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภคก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร ขาดการมีส่วนร่วมของภาคสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรผู้บริโภค ทั้งที่ในต่างประเทศต่างมีการการบรรจุในเรื่องดังกล่าวไว้ทั้งหมด ทั้งนี้ ทางสมาพันธ์สมาคมวิชาชพฯ มุ่งหวังให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้ถูกจุด ต่างจากก่อนหน้านี้ที่แม้มีการเปิดรับฟังความเห็น แต่ไม่เคยถูกนำไปใช้แต่อย่างใด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่กำลังอยู่การรอเข้ารับการพิจารณาของ สนช. ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศใช้ พบว่า ยังมีข้อกฎหมายในหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการสรรหาผู้มาเป็น กสทช. อาทิ การหนดคุณสมบัติคนมาเป็น กสทช.ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ คือ รองศาสตราจารย์ หรือ รศ. แต่ไม่กำหนดว่าต้องเป็น รศ. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นหรือไม่ อีกทั้งในส่วนของบุคคลสรรหา บางคนอาจไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ทางด้านดังกล่าวเช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้มาทำหน้าที่ กสทช.หลายคนไม่ได้เป็นผู้ความรู้ความเชี่ยวชาญจริง จึงเกิดปัญหาในด้านการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาช่วยทำงานให้มากมายเกินกว่าที่ควรจะเป็น
"พ.ร.บ. กสทช. มีความไม่สอดคล้องอีกประการ คือ การเปลี่ยนจากองค์กรอิสระ ให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(บอร์ด ดีอี) จะทำอะไรต้องรายงาน และให้บอร์ดดีอีตัดสินใจ ซึ่งจะอันตรายอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลและจะต้องโดนฝ่ายการเมืองมาครอบงำในอนาคต ทั้งที่จริง กฎหมาย ฉบับดังกล่าวควรแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ไม่ใช่มาแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐมาเอาเงินในกองทุนของ กสทช."