- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 19 July 2015 14:08
- Hits: 2508
'ไอซีที'บีบ'กสท'คืนคลื่น 5 MHz 'กสทช.'รับไร้อำนาจขยายสัญญา
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 ก.ค.2558) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าได้รับหนังสือจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เรื่องยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของผู้ให้สัญญาสัมปทานระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยมีหนังสือถึงประธาน กสทช. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี โดยหนังสือระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบันและรองรับเทคโนโลยีในอนาคต และในการประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ประชุมมีมติให้ ดีแทค และ กสท โทรคมนาคม คืนคลื่นให้แก่ กสทช. ด้วยความเต็มใจ และขอให้ กสทช. ดำเนินการนำคลื่นดังกล่าวไปกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้สำนักงาน กสทช.ได้นำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในการประชุมบอร์ดวาระพิเศษ เพื่อให้ที่ประชุมกทค.พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากที่ กระทรวงไอซีที ได้มีหนังสือยืนยันขอคืนคลื่นดังกล่าว แบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนกรณีการขอสงวนสิทธิ์การใช้คลื่นความถี่อีก 20 MHz ของดีแทค ที่เหลือนั้น ขอให้ กสทช.พิจารณาตามกฏหมาย
"เราเร่งนำเรื่องนี้เข้าบอร์ด กทค.วันนี้เพื่อให้พิจารณาให้เสร็จทันตามกำหนดที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะประกาศลงเวบไซต์ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนการประมูลยังเดินกรอบเดิมอย่างแน่นอน" นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ภายใต้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯพ.ศ.2553 กำหนดสิทธิ์การถือครองคลื่นไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่าหากสิ้นสุดใบอนุญาตการถือครองต้องส่งคืนคลื่นมายังกสทช.เพื่อจัดสรรการความถี่นำไปประมูลต่อไป สิ่งที่บมจ.กสท โทรคมนาคมต้องการจะฟ้องกสทช.ในประเด็นสิทธ์การถือครองก็ให้กสทฯดำเนินการไป ด้านของกสทช.เองไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะกฎหมายนั้นชัดเจนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ อยากทำความเข้าใจว่าใบอนุญาตประกอบกิจการ กับใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่นั้น เป็นคนละใบอนุญาตกัน กสทฯก็ควรทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย แม้จะยืนยันสิทธ์ตามใบอนุญาตประกอบกิจการไปจนถึงปี 2568 แต่ในย่านความถี่ 1800 MHz ที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส สิ้นสุดสัมปทานลงกับกสทฯตั้งแต่ปี 2556 นั้น ก็ถือว่าได้สิ้นสุดใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้กรณีที่การขยายสิทธิ์ไปจนถึงปี 2568 ตามที่กสทฯต้องการให้มีการรับรองนั้น กสทช.ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีอำนาจในการรับรองแต่อย่างใด แต่สิทธ์ที่ทำให้คือหากกสทฯมาขออัพเกรดเทคโนโลยีของคลื่น 1800 MHz ของดีแทค ไม่ได้ใช้งานมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยี 4จีแอลทีอีนั้น กสทช.จะก็สามารถทำให้ได้
พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. เปิดเผยว่า ยินดีที่จะรับคืนดังกล่าวเข้าร่วมประมูล 4G เพื่อทำให้การประมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีที่ กสทฯ มีความประสงค์ที่จะให้ กสทช.ขยายระยะเวลาออกไปในคลื่นความถี่ที่เหลือจำนวน 20 MHz นั้นยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษา ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) มีมติให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ต้องคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 5 MHz ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาประมูลพร้อมกับคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช. จะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ทำให้มีจำนวนคลื่นประมูล 30 MHz จากเดิมที่มีอยู่ 25 MHz โดยไม่มีเงื่อนไขตามที่ กสท ขอให้คลื่นอีก 20 MHz ที่เหลือขยายระยะเวลาการถือครองคลื่นออกไปถึงปี 68
สำหรับ มติดังกล่าว ประธาน กสทช.ก็ยินดีรับไปปฏิบัติตาม ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับปากว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค พร้อมกับรายงานคณะกรรมการตามมาตรา 43 ได้ทันภายในวัน 17 ก.ค. เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเห็นชอบ
"เรื่องนี้ กสท ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคลื่นถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ ไม่ใช่ของ กสท ความจริงควรจะคืนมามากกว่านี้ด้วยซ้ำ ส่วนหาก กสท ไม่พอใจเรื่อง 20 MHz ที่เหลือและจะไปฟ้องร้อง กสทช. ก็เป็นเรื่องของ กสท บอร์ดดีอีไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน"
ด้านนายพรชัย กล่าวว่า การที่ กสท ต้องการเสนอเงื่อนไขดังกล่าว เพราะเกรงว่าอนาคตกสทช.จะขอคลื่นคืนมาทั้งหมด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการยึดเวลาในการหมดอายุในปี 68 ดังนั้น กสท จะไปฟ้อง กสทช.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับมติบอร์ดครั้งนี้ และขอย้ำว่าการประมูลต้องเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมไม่เลื่อนแม้แต่วันเดียว
บิ๊กตู่สั่งห้ามเลื่อนประมูล 4 จีบอร์ดดีอีบีบ'กสทฯ'คืนคลื่น 5 เมก
ไทยโพสต์ : ทำเนียบ *นายกฯ สั่ง กสทช.ห้ามเลื่อนประมูล 4จี ขณะที่บอร์ดดีอีลงมติชัด บมจ.กสทฯ ต้องคืนคลื่น 1800 จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ แบบไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น ทีโอทีเผย ครึ่งปีหลังเน้นรักษาฐานลูกค้า คาดโต 4%
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐ กิจ หรือ ดีอี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 15 ก.ค.58 ที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามกรอบเวลาเดิมคือ 11 พ.ย.58 โดยทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้แจ้งว่า ทาง บมจ.กสทฯ ได้คืนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาร่วมประมูลแบบไม่มีเงื่อนไข ดัง นั้น การประมูลจะมีคลื่นทั้งหมด 30 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 2 ใบ อนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะ เฮิรตซ์ จากเดิมที่มีอยู่ 25 เมกะ เฮิรตซ์ ใบละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์
ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า สามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสทฯ และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทันเวลา พร้อมกับรายงานคณะกรรมการตามมาตรา 43 ภายในวัน 17 ก.ค.58 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเห็นชอบ โดยเรื่องนี้ บมจ.กสทฯ ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคลื่นถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ ตนมองว่า แท้จริงแล้วควรจะคืนมามากกว่านี้ หาก บมจ.กสทฯ ต้องการฟ้องร้องเพื่อให้ได้ใช้สิทธิ์ในคลื่น 1800 ที่ไม่ใช้งานจำนวน 20 เมกะเฮิรตซ์ ก็ทำได้ เป็นเรื่องของ บมจ.กสทฯ ซึ่งกรรมการดีอีไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. กล่าวว่า พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ได้รับหนังสือ ยืนยันการคืนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการคืนด้วยความเต็มใจ แบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสำนักงานจะนำ หนังสือฉบับนี้เข้าที่ประชุมกรรม การกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 16 ก.ค.58 นี้
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ธเรศได้ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะประ ธานกรรมการดีอี ได้ย้ำว่า จะต้องทำการประมูล 4จี ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เดิม ห้ามเลื่อนประมูล
ด้านนายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง จะเน้นไปที่การรักษาฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสายทองแดง หรือ เอดีเอสแอล โดยทีโอทีจะจัดแคมเปญการตลาดกระตุ้นลูกค้า เปิดตัวแพ็กเกจใหม่ คุ้มยกแพ็ก ในราคา 599 บาทต่อเดือน สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วดาวน์โหลด 10 เมกะบิต และอัพโหลด 1 เมกะบิต พร้อมแถมบริการโทรศัพท์บ้านวงเงิน 599 บาทต่อเดือน และรับชมทีวีผ่านกล่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพีทีวี ทั้งนี้ ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตของทีโอทีในปีที่ผ่านมา มีรายได้ทั้งสิ้น 33,000 ล้านบาท คาดในปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 4%.
‘บอร์ดดีอี’หัก‘กสท’ต้องคืนคลื่น ให้กสทช.นำไปเปิดประมูล 4G
แนวหน้า : ‘บอร์ดดีอี’หัก‘กสท’ต้องคืนคลื่น ให้กสทช.นำไปเปิดประมูล 4G ชี้เป็นสมบัติของประเทศชาติ
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ(ม.ร.ว.ปรีดbยาธร เทวกุล) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) มีมติให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 5 MHz ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูล 4G พร้อมกับคลื่น 900 MHz
ทั้งนี้ กสทช. จะเปิดประมูล 4G ในวันที่ 11 พ.ย.2558 เดิมจะจัดสรรคลื่นจำนวน 25 MHz แต่การที่ กสท จะคืนคลื่น อีก 5 MHz จะทำให้ กสทช.มีจำนวนคลื่นที่จะนำมาประมูลเพิ่มเป็น 30 MHz
สำหรับ คลื่นจำนวนนี้ เป็นคลื่นที่ กสท ให้กับสัมปทานกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แต่ไม่ได้ใช้งาน เมื่อมีการคืนให้รัฐ ก็ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับปากว่าจะไปแก้ไขสัญญาสัมปทาน พร้อมกับรายงานคณะกรรมการตามมาตรา 43 รับทราบได้ทันภายในวัน 17 ก.ค. 2558 ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเห็นชอบ
“เรื่องนี้ กสท ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคลื่นถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ ไม่ใช่ของ กสท ความจริงควรจะคืนมามากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่หาก กสท ไม่พอใจเรื่องคลื่นที่เหลืออีก 20 MHz ที่จะไปฟ้องร้องต่อ กสทช. ก็เป็นเรื่องของ กสท บอร์ดดีอีไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน”
ด้านรมว.ไอซีทีกล่าวว่า การที่ กสท ต้องการเสนอเงื่อนไขขอใช้คลื่น 20MHz เพราะเกรงว่าในอนาคต กสทช.จะขอคลื่นคืนมาทั้งหมด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการยืดเวลาในการใช้ไปจนปี 2568 ดังนั้น กสท จะไปฟ้อง กสทช.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับมติบอร์ดครั้งนี้
“ขอย้ำว่าการประมูล4G ต้องเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมไม่เลื่อนแม้แต่วันเดียว” รมว.ไอซีที กล่าว
พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า ยินดีที่จะรับคืนดังกล่าวเข้าร่วมประมูล 4G เพื่อทำให้การประมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีที่ กสท มีความประสงค์ที่จะให้ กสทช.ขยายระยะเวลาออกไปในคลื่นความถี่ที่เหลือจำนวน 20 MHz นั้นยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว
ประมูล 30 เมกะเฮิรตซ์'คลื่น 1800'
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * กสทช.เปิดประมูล คลื่น 1800 จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 2 ไลเซนส์ ขณะที่ กทค. ฟันธงประมูล 4จี รวบคลื่น 1800- 900 เคาะราคาพร้อมกัน 11 พ.ย.58
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2558 มีมติเห็นชอบเรื่องการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ตามมติที่ประชุมกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เสนอมา
คือรับพิจารณาเฉพาะหนังสือของกระทรวงไอซีที ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 ที่ยืนยันการคืนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ขนาดความกว้างแถบคลื่นความถี่ 4.8 เมกะเฮิรตซ์ ของ กสทฯ โดยไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น เพื่อนำไปประมูลร่วมกับคลื่นความถี่เดิมจำนวน 25.2 เมกะเฮิรตซ์ ที่สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว โดยรวมเป็นจำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์ และแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์
ทั้งนี้ ให้ กสทช.แจ้งกระทรวงไอซีที เพื่อให้ดำเนินการคืน คลื่นความถี่และปรับเปลี่ยนการ ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 25 ก.ย.2558 เพื่อให้ทันต่อกำหนด การยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 30 ก.ย.2558
ทั้งนี้ กทค.ยังเห็นชอบให้ การประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จัดขึ้นในครั้งเดียวกันคือ วันที่ 11 พ.ย.2558 เนื่องจากมองว่า จะช่วยให้รัฐขับเคลื่อนเศรษฐ กิจให้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการประมูล ส่วนราคาตั้งต้นอาจจะเริ่มต้นที่ 100% ได้ หากผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูล และเชื่อว่า กสทช.สามารถป้องกันการทุจริตหรือฮั้วการประมูลที่หลายคนกังวลได้ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมกรรมการ กสทช.พิจารณาในวันที่ 22 ก.ค.นี้.
กสทช.เร่งประมูลคลื่นดูดเงินช่วยชาติ
บ้านเมือง : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้กำหนดกระบวนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz. 2 ใบอนุญาต และคลื่นความถี่ 900 MHz 2 ใบอนุญาต พร้อมกันในวันที่ 11 พ.ย.58 จากเดิมกำหนดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 16 ธ.ค.58 พร้อมกำหนดให้เปิดใช้บริการทั้ง 2 คลื่น ประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค.59
การเร่งการประมูลเร็วขึ้นมาจะช่วยทำให้มีเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาทในปี 59 จากการลงทุนขยายโครงข่ายทั้ง 4 ใบอนุญาต เป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท เงินจากการประมูลอนุญาต 4 ใบอนุญาต ราว 7.1 หมื่นล้านบาท และเงินที่จากการเปิดใช้บริการที่จะเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกได้ ประมาณ 1.69 แสนล้านบาท โดยหลังการประมูล กสทช.จะนำส่งเงินค่าประมูลใบอนุญาต 50% ของราคาประมูลเข้ารัฐทันที
พร้อมกันนั้น ที่ประชุม กสทช.วันนี้ยังมีมติเห็นชอบการยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) จำนวน 4.8 MHz โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อนำไปรวมกับใบอนุญาตที่กำลังจะเปิดประมูลคลื่นความถี่เดิมจำนวน 25.2 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว รวมกันเป็นขนาดแถบคลื่นความถี่ 30 MHz ทำให้สามารถแยกขนาดใบอนุญาตเพิ่มเป็น 15 MHz จากเดิม 12.5 MHz
และให้สำนักงาน กสทช.ปรับปรุงร่างประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนราคาขั้นต่ำ การปรับเป็นชุดคลื่นความถี่ขนาด 15 MHz จะปรับราคาขั้นต่ำเป็น 13,920 ล้านบาท คิดเป็นราคา 70% ของราคาคลื่นความถี่ แต่หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ราย จะปรับราคาเริ่มต้นเป็น 100% ที่ราคา 19,890 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวง ICT จะต้องดำเนินกระบวนการคืนคลื่นความถี่และปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่ในย่านความถี่ (Spectrum. Rearrangement) สำหรับคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 25 ก.ย.58 เพื่อให้ทันต่อกำหนดการยื่นคำขอเพื่อเข้าประมูล ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 30 ก.ย.นี้ และขอให้กระทรวง ICT แจ้งคู่สัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแต่หากกระทรวง ICT ดำเนินการไม่ทัน ก็จะประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ 12.5 MHz ต่อใบอนุญาต และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซสคอมมูนิเกชั่น (DTAC) ก็จะรับคลื่นกลับไป