- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 07 July 2015 21:37
- Hits: 2212
เสนอประมูล 2 ใบอนุญาต/ราคาชุดละ 16,571 ล้าน
แนวหน้า : เสนอประมูล 2 ใบอนุญาต/ราคาชุดละ 16,571 ล้าน กสทช.สรุปมูลค่าคลื่น 4G
จับตาวาระบอร์ด กทค. ครั้งที่ 14/2558 เสนอหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz รองรับการประมูลที่เกิดขึ้นปลายปีนี้ โดยกำหนดระยะเวลาการให้ใบอนุญาต 18 ปี
มีรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)แจ้งว่า ในการประชุม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 14/2558 ในวันที่ 6 ก.ค.2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตาหลาประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (ประมูล 4G) ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา ก่อนการประมูลจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้
“วาระนี้นับเป็นประเด็นร้อนที่ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เฝ้ารอ และจับตาอย่างลุ้นระทึกว่า หลักเกณฑ์การจัดประมูลและเงื่อนไขการให้อนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นี้จะเป็นอย่างไร” รายงานข่าวระบุ
สำหรับ คลื่นที่จะมีการนำออกประมูลจะมี 2 ใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) หรือ ขนาด 2X12.5 MHz จำนวน 2 ชุด โดยประเด็นสำคัญในเรื่องการกำหนดมูลค่า และราคาตั้งต้นในการประมูล ยังคงอ้างอิงมูลค่าและราคาตามที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้เคยเสนอไว้ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นในปีที่แล้ว ดังนั้น ชุดคลื่นที่จะมีการนำออกประมูลในครั้งนี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาการอนุญาต 18 ปี จึงมีมูลค่าประมาณ 16,571 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขณะที่การกำหนดราคาตั้งต้นจะมีการปรับลดมูลค่าคลื่นลง 30% เหลือ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่
อย่างไรก็ดี ในการเตรียมการจัดประมูลหนนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ข้อกำหนดว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่นความถี่ที่นำออกประมูล ก็จะกำหนดราคาตั้งต้นเท่ากับมูลค่าคลื่นที่มีการประเมินไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องไม่มีการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่ไปได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อสังเกตว่า ในการประเมินมูลค่าคลื่นของ ITU ในการเตรียมการจัดประมูลหนที่แล้ว ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าประเมินมูลค่าคลื่นไว้ต่ำเกินไป เพราะหากเปรียบเทียบกับมูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ของประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกหลังปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่มีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G นั้น มูลค่าคลื่นย่าน 1800 MHz ที่จะนำออกประมูลในครั้งนี้ควรอยู่ในราว 20,100 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่
สำหรับ เรื่องเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่าย หลักเกณฑ์ที่นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้ยังคงกำหนดไว้ที่ 40% ของประชากรภายใน 4 ปี ซึ่งถือว่ากำหนดไว้ค่อนข้างต่ำและอาจทำให้การใช้งานคลื่นไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากถูกใช้งานในพื้นที่จำกัดและไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
รายงานแจ้งอีกว่า ส่วนการเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อกำหนดเรื่องการถือครองคลื่นสูงสุด (Overall Spectrum Cap) ไว้ที่ 60 MHz นั้น พบว่าขาดการประเมินอย่างครบถ้วนว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น มีผู้ให้บริการรายใดครอบครองอยู่บ้าง เพราะที่สำนักงาน กสทช. ประเมินเป็นการพิจารณาเพียงคลื่นย่าน 800 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, และ 2100 MHz เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาถึงการถือครองคลื่นย่าน 2300 MHz และ 2600 MHz ร่วมด้วย ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ย่านที่จะมีการจัดสรรในอนาคต ดังนั้น
หากขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยภาพรวมได้
นอกจากนี้ ยังมีวาระเพื่อทราบที่น่าสนใจคือเรื่องการจัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังมีวาระที่ตกค้างจากการพิจารณาในการประชุมครั้งที่แล้ว คือเรื่องแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับประกอบกิจการโทรคมนาคม และเรื่องรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ส่วนวาระร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ ปรากฏว่าในการประชุมครั้งก่อนมีการถอนวาระนี้ออกไปโดยที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ทั้งที่ร่างประกาศฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2558 และได้รับการบรรจุเป็นวาระการประชุมมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซ้ำในการประชุมครั้งนี้กลับไม่มีการบรรจุวาระดังกล่าวกลับเข้ามาแต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนวาระการนำส่งเงินรายได้ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT และ บริษัททีโอที หรือ TOT เข้ารัฐ นั้น ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 83 วรรคสาม กำหนดว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ต้องนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับจากการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หลังหักใช้จ่าย ให้นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวกับ กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป ซึ่งกำหนด 3 ปีนั้นครบแล้วเมื่อ 20 ธ.ค.2556 แต่กระทั่งปัจจุบันทั้งกสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ก็ยังมิได้นำส่งเงินรายได้มายังสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. เคยทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เมื่อธ.ค. 2556 เพื่อสอบถามว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายได้ที่รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 รายต้องนำส่งด้วยหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการคลังมีหนังสือตอบกลับว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย ส่วนขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่นำส่งรายได้ ให้กสทช. และ กสทช. มีหน้าที่นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป