- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 13 June 2015 20:12
- Hits: 1796
สุภิญญา ค้านม.44 แก้ทีวีดิจิตอล ชี้คืนคลื่น 1800 ต้องปลอดเงื่อนไข
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * ‘สุภิญญา’ ค้านไม่เห็นด้วย ม.44 แก้ทีวีดิจิตอลร่วง เผยไม่เห็นชอบแผนเยียวยาของไทยทีวี กสทช.ชี้คลื่น 1800 จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ของบ มจ.กสทฯ คืนมาร่วมประมูล 4จีได้ ต้องไม่มีเงื่อนไข
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทฯ) เปิดเผยว่า วันที่ 15 มิ.ย.58 นี้ ที่ประชุมกรรมการ กสทฯ จะมีการพิจารณาเรื่องข้อเสนอการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมาตรการกฎหมาย มาตรา 44 เพราะไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลที่ต้องให้แข่งขันตามกลไกตลาด มองว่าควรใช้ในเรื่องของความมั่นคงมากกว่าจะมาใช้แก้ไขในส่วนของอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ มองว่าทางออกของการแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล กฎหมาย กสทช.ได้มีรองรับไว้แล้วในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มทุนหรือเพิ่มผู้ถือหุ้นได้ โดยกำหนดสัดส่วนให้ไม่เกิน 10% อีกทั้งได้มีการกำหนดให้ช่องรายการสามารถเปิดให้เช่าช่วงเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 40% ของช่วงเวลาทั้งหมด ดังนั้นเกณฑ์ของ กสทช.ที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาได้อยู่ แต่ในระยะยาว 3-5 ปี กสทฯ ก็จะมีการพิจารณาผู้ประกอบการอีกครั้งอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องการพิจารณาแผนเยียวยาของ บริษัท ไทยทีวี ที่ขอยกเลิกประกอบการกิจการ 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้านั้น ทางคณะ อนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการของ กสทฯ มีการพิจารณาแล้ว มีความคิดเห็น ว่าแผนเยียวยามีเนื้อหากว้างเกินไป และไม่ครอบ คลุมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตนมองว่า บริษัท ไทยทีวี ควรดำเนินการขึ้นตัววิ่งบนรายการโทร ทัศน์ทั้ง 2 ช่อง เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภครับทราบ ก่อนหยุดออกอากาศ 15-30 วัน หรือการแจ้งประกาศให้ประชาชนรับทราบผ่านหนังสือพิมพ์
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กสทช. กล่าว ว่า สำนักงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การสร้างการรับรู้และ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลแก่ประชา ชน กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อร่วมมือกันติดตั้งกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล (เซต ท็อป บ็อกซ์) ให้กับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 1 บ้านต่อ 1 กล่อง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่แลกคูปองดิจิตอลมาแล้ว แต่ยังไม่ติดตั้งกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 11 มิ.ย.58 นี้ ทางผู้บริหารของบริษัท กสท โทรคมนาคม (จำกัด) มหาชน จะเข้ามาพูดคุยหารือกรณีการคืนคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่ได้ใช้งาน ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ทั้งนี้ ตนมองว่า ถ้าคืนคลื่นมาที่ กสทช.โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ สำนักงานก็ยินดีรับไว้และนำไปร่วมประมูล 4จี ที่จะมีในช่วงปลายปีนี้ แต่ถ้าคืนคลื่นมาจริงแบบไม่มีเงื่อนไข ก่อนวันที่ 17 ก.ค.58 นี้ ซึ่งเป็นวันที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงานยืนยันว่าจะดำเนินการรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการคิดราคาตั้งต้นการประมูล มูลค่าคลื่น ได้ทันตามกรอบเวลาเดิมที่วางไว้ และไม่มีการเลื่อนการประมูลออกไปอย่างแน่นอน
กสทช.ถกปัญหาทีวีดิจิตอล
บ้านเมือง : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่อง "แนวทางและข้อเสนอต่อโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีดิจิตอล" โดยมีกรรมการ กสทช. ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมได้มีการพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนผ่านการรับชมของประชาชนทั้งการแจกคูปอง เพื่อนำไปแลกกล่องเพื่อรับชมทีวีดิจิตอล (เซตท็อปบ็อกซ์) ปัญหาโครงข่ายจากการรับฟังปัญหาหลายฝ่ายได้ข้อสรุปเบื้องต้นโครงข่ายการรับชมทีวีดิจิตอล พบว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาที่สถานีหลัก 39 สถานี ยังมีความไม่เสถียร ดังนั้น กสทช.จะเร่งติดตั้งสถานีโครงข่ายเสริมอีกกว่า 70 แห่งในอีกหลายพื้นที่ เพื่อให้การรับชมเสถียรมากขึ้น ขณะที่ปัญหาการแจกคูปองพบว่าจากข้อมูลของไปรษณีย์ไทยมีปัญหาคูปองตกค้างไม่นำส่งอยู่ที่ไปรษณีย์หรือนำส่งแต่ไม่มีผู้รับประมาณร้อยละ 16 ของคูปองที่แจกจ่าย หรือประมาณ 1ล้านใบ ซึ่งต้องมีการแก้ปัญหาต่อไป
รวมทั้ง การเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจกคูปองเพิ่มอีก 7 ล้านครัวเรือน สำหรับบ้านที่ไม่มีเจ้าบ้านและบ้านเช่า เพื่อขยายขอบเขตการรับชมทีวีดิจิตอล รวมถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการผลิตกล่องเซตท็อปบ็อกซ์รับคูปองไปแล้วนำมาขึ้นเงินกับ กสทช. แต่ได้รับเงินล่าช้า ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องที่จะนำไปจัดซื้อกล่องจำหน่ายใหม่ ซึ่งอาจแก้ปัญหาด้วยระบบอี-คูปองที่ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนมารับกล่องและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แต่ต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ในที่ประชุม กสทช.ต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีการเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านหลายเรื่อง เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องกันทั้งระบบ
ห่วงรื้อพ.ร.บ.กสทช.กสทฯพร้อมคืนคลื่น
ไทยโพสต์ : พญาไท * ชี้แก้ พ.ร.บ.กสทช.ต้องมีสมดุลอำนาจ คงความเป็นองค์กรอิสระไว้ นักวิชาการแนะบอร์ด กสทช.ควรมาจากการจับสลาก บมจ.กสทฯ ยินดีคืนคลื่น 1800 จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ แบบไม่มีเงื่อนไข
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวภายหลังการเสวนาเรื่อง พระราชบัญญัติ กสทช. สิ่งที่อยากเห็นและควรเป็น ว่า ต้องการให้การแก้ พ.ร.บ.กสทช. ดูที่อำนาจหน้าที่เป็นหลัก ให้คงความเป็นองค์กรอิสระไว้ แต่เป็นความอิสระที่มีขอบเขต ซึ่งรัฐบาลกับ กสทช.ต้องมีความสมดุลในอำนาจหน้า ที่ระหว่างกัน
ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. กล่าวว่า รูปแบบการสรรหาของ กสทช.ไม่ควรต้องตั้งกรรมการสรรหา แต่ใช้การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ และใช้วิธีการจับสลากชื่อผู้ที่จะได้เป็น กสทช. จากผู้ที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการวิ่งเต้นเข้ารับตำแหน่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วให้มีกระบวนการประเมินผลงานทุกปีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงาน หากไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินก็ให้พ้นออกจากตำแหน่ง ทั้งในส่วนกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช.
ด้าน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การร่างกฎหมายใหม่อาจจะส่งผลเสียใน 4 ส่วน คือ 1.เรื่องเงินรายได้ของ กสทช. จำนวนหลายหมื่นล้านบาท หากนำงบประมาณเพื่อให้กระทรวง ดีอีนำไปใช้ เป็นการสร้างวินัยทาง การเงินการคลังที่ผิด 2.กฎหมาย ใหม่มีท่าทีไม่อยากให้ใช้วิธีการประมูล อาจจะเกิดการใช้การคัดเลือก จะทำให้เกิดการขายคลื่นต่อได้ 3.เรื่องธรรมาภิบาลของ กสทช. ควรให้เกิดการปฏิรูป กสทช.ไปเลย และ 4.การกำกับดูแลในส่วนคุ้ม ครองผู้บริโภคไม่จริงจังมากพอ จึงควรมีรายงานต่อสภาและสาธารณะ
ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้เข้ามาพูดคุยหารือกรณีการคืนคลื่นจำนวน 5 เมกะ เฮิรตซ์ ของคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่ได้ใช้งาน โดยยืนยันกับ กสทช.ว่า ยินดีคืนคลื่นให้แบบไม่มีเงื่อนไขภายในต้นเดือน ก.ค.58 เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาที่จะนำไปใช้ประมูล 4จี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.58 นี้.
'กสทฯ'ยอมคืนคลื่น 1800 'กสทช.'ย้ำยื่นความจำนงก่อน 7 ก.ค.
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้หลังจากหารือกับ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า การคืนคลื่นจำนวน5 เมกะเฮิร์ตซ์ ในย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่ไม่ได้ใช้งานของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดย กสทฯ ยินยอมคืนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากประชุมได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว ทาง กสทช.ได้ขอให้ กสทฯ และดีแทค ทำหนังสือย่างเป็นทางการเพื่อแสดงความจำนงในการคืนคลื่นมายัง กสทช.ภายในต้นเดือนก.ค.นี้ หรืออย่างช้าในวันที่ 7 ก.ค.นี้ เพราะกรอบเวลาของ กสทช.คือจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันที่ 7 ก.ค.58 จากนั้น ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะนำเข้าสู่วาระการประชุม กสทช. เพื่อขออนุมัติ และในวันที่ 17 ก.ค.จะนำร่างหลักเกณฑ์การประมูล (ไอเอ็ม) ใบอนุญาต 4จีย่าน1800 MHz ไปเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)
"การคืนคลื่นในย่าน 5 MHz นั้นทางกสทฯยืนยันว่าไม่มีเงื่อนไขใดๆแลกเปลี่ยน และไม่ขอเงินชดเชยใดๆ โดยเมื่อคืนมาจะทำให้ในย่านดังกล่าวกสทช.จะเปิดประมูล2 ใบอนุญาตๆละ 15 MHz เพิ่มจากเดิมที่ประมูลใบอนุญาตละ 12.5MHz โดยในจำนวน 5 MHzที่ส่งมานั้นจะสลับกับส่วนฟันปลาที่เป็นช่องโหว่อยู่จะทำให้ย่านคลื่นติดกัน"
ทั้งนี้ ในส่วนของกสทฯก็แจ้งว่าหลังจากหารือกับกสทช.เสร็จแล้ว ก็จะทำหน้งสือแจ้งไปยังม.ร.ว.ปริดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และจะได้ดำเนินการร่วมกับดีแทคในฐานะคู่สัญญาสัมปทานในการแก้ไขสัญญาสของทั้งคู่ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2561 จากเดิมที่ดีแทคจะมีสิทธิใช้คลื่น 50 MHz บนคลื่นย่าน 1800 MHz แก้ไขใหม่เป็น 45 MHzตามสัญญาสัมปทาน โดยหลังจากแก้ไขแล้วต้องนำสัญญาแนบท้ายฉบับใหม่เข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับรองการแก้ไขสัญญาแนบท้าย