- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 02 June 2015 23:31
- Hits: 2429
กสทช.ยื่นคลังคืนหนี้ภายใน 3 ปี
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * กสทช.เล็งให้คลังจ่ายเงินคืน 1.43 ล้านบาทใน 3 ปี แบ่งเป็น 3 งวด ขณะที่มติบอร์ดอนุมัติเงิน 1 พันล้านใช้ในทุกโครง การตลอดปี 58
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขา ธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจ การกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 เห็นชอบให้ยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นจำนวน 14,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนนั้น ขณะนี้อยู่ ในขั้นตอนของการพูดคุยรายละ เอียดกับกระทรวงการคลังว่าจะดำเนินการอย่างไร
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้เสนอแนวคิดว่าจะให้แบ่งชำระเงินคืนภายใน 3 ปีได้หรือไม่ ซึ่งอาจแบ่งชำระเงินงวดแรก จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท งวดที่ 2 ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และงวดที่ 3 ประมาณกว่า 9,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังมาก่อน โดยเงินกองทุน กทปส.ปัจจุบันมีประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาท หากให้คลังยืมไปจะมีเงินเหลืออยู่ที่ กทปส.ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องนำไปใช้ในแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือโครงการยูโซ่ (USO) และโครงการอื่นๆ
นอกจากนี้ มติที่ประชุมกรรมการ กสทช.ได้รับอนุมัติให้ใช้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ในการจัดทำโครงการทั้งหมดของ กสทช.ภายในปี 2558 นี้ ซึ่งกำหนดให้ทุกโครงการต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยในปีนี้จะดำเนินการต่างจากปี 2557 โดยจะมีการจัดทำทีโออาร์ (TOR) ให้ชัดเจนไว้ก่อนที่จะเปิดรับให้แต่ละบริษัทเข้ามา สำหรับปี 2557 ที่ผ่านมา ได้ตั้งกรอบวงเงินไว้ที่ 400 ล้านบาท ซึ่งมีเพียง 2 โครงการเท่านั้นที่ได้อนุมัติไป เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ชะลอโครงการ โดยอนุมัติงบประมาณไปเพียง 60 ล้านบาท.
‘ฐากร’เสนอใช้‘ม.44’ ผ่าทางตันขอคืนคลื่น‘อสมท’
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะทำหนังสือสอบถามไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เพื่อขอใช้มาตรการ 44 ในการจ่ายเงินเยียวยา ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ กรณีที่ กสทช.จะขอคืนคลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จากสองหน่วยงาน
สำหรับ เงินที่นำไปเยียวยาสองหน่วยงาน มาจากการนำเงินที่ได้จากการประมูล และถือว่าเป็นเงินรัฐ ขณะที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(พ.ร.บ.กสทช.) ฉบับใหม่ กำหนดให้เยียวยาได้ และจะนำมาประกาศใช้ เพื่อจะไม่มีความผิดหรือมีบุคคลมาฟ้องร้องกสทช.ในภายหลัง
นายฐากร กล่าวว่า การเสนอให้ตัดสินใจเลือกใช้มาตรา 44 เนื่องจากได้สอบถามไปยัง กรรมการ กสทช.หลายท่านแล้วมีความเห็นตรงกันว่า หากสอบถามไปยัง คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เกรงว่าความเห็นอาจจะไม่ตรงกับหน่วยงานอื่น อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจะกลายเป็นช่องให้มีคนออกมาคัดค้านได้ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีการขอเลื่อนชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอลรอบ 2 ที่ก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เป็นต้น
“เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก อสมท ได้เดินทางมาพบกับผมเพื่อถามความชัดเจนว่าจะใช้มาตรการไหนในการจ่ายค่าเยียวยา เพื่อจะได้นำข้อสรุปที่ได้นำเข้าบอร์ด อสมท ผมจึงให้คำตอบไปว่าเราจะถามไปยังรองนายกฯเพื่อใช้มาตรา 44 ในการเยียวยา ซึ่งผมจะรีบทำหนังสือไปสอบถามเร็วๆ นี้” นายฐากร กล่าว
ก่อนหน้านี้ อสมท เคยแจ้งจำนวนวงเงินในการขอเยียวยาในเบื้องต้นว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าเยียวยาที่อสมทต้องนำไปชดเชยให้กับเอกชนที่ได้จ่ายค่าสัญญาสัมปทานที่ อสมทได้ทำไว้กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2553 ด้วย
งัดม.44 เยียวยา'อสมท'กสทช.เคลียร์ทางขอคืนคลื่น 2600 MHz
ไทยโพสต์ : สายลม * กสทช.ยื่นหนังสือถึงหม่อมอุ๋ย ขอใช้มาตรา 44 เยียวยา อสมท กรณีขอคืนคลื่น 2600 MHz มาใช้งาน พร้อมเปิดแอพพลิเคชั่น รับข้อร้องเรียน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะทำหนังสือสอบถามไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อขอใช้มาตรการ 44 ในการจ่ายเงินเยียวยาสำหรับการขอคืนคลื่นย่าน 2600 MHz ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเป็นการนำเงินที่รัฐควรจะได้จากการประมูลแบ่งมาเยียวยาให้กับ 2 หน่วยงาน ดังนั้นจึงต้องการความชัดเจนว่าสามารถทำได้จริง ในระหว่างที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ. กสทช.) ฉบับใหม่ที่กำหนดให้เยียวยาได้ จะผ่านและประกาศใช้ เพื่อจะไม่มีความผิดหรือมีคนมาฟ้องร้องภายหลัง
ทั้งนี้ ก่อนที่ตนเองจะตัดสินใจเลือกใช้มาตรา 44 เนื่อง จากได้สอบถามไปยังกรรมการ กสทช.หลายท่านแล้วมีความเห็นตรงกันว่า หากสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เกรงว่าความเห็นอาจจะไม่ตรงกับหน่วยงานอื่น อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจะกลายเป็นช่องให้มีคนออกมาคัดค้านได้ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้น มาแล้วกับกรณีการขอเลื่อนชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอลรอบ 2 ที่ก็มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เป็นต้น
"เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก อสมท ได้เดินทางมาพบกับผมเพื่อถามความชัดเจนว่าจะใช้มาตรการไหนในการจ่ายค่าเยียวยา เพื่อจะได้นำข้อสรุปที่ได้นำเข้าบอร์ด อสมท ผมจึงให้คำตอบไปว่าเราจะถามไปยังรองนายกฯ เพื่อใช้มาตรา 44 ในการเยียวยา ซึ่งผมจะรีบทำหนังสือไปสอบถามเร็วๆ นี้"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ อสมท เคยแจ้งเงินในการขอเยียวยาในเบื้องต้นว่าต้องไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าเยียวยาที่ อสมท ต้องนำไปชดเชยให้กับเอกชนที่ได้จ่ายค่าสัญญาสัมปทานที่ อสมท ได้ทำไว้กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2553
ด้าน พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่าย เจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค เปิดเผยว่า ในปี 2557 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 มีสถิติในการสอบถามข้อมูลถึง 2.46 แสนครั้ง หรือคิดเป็น 675 ครั้งต่อวัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เพียง 16 คนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ล่าสุดได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Mobile NBTC 1200 บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ระบบแอนดรอยด์ และ iOS ในอนาคต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการร้องเรียน สอบถาม ติดต่อกับคอลเซ็นเตอร์ 1200 ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างง่าย ด้วยการเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจาก Play Store โดยค้นหา call center nbtc 1200 เพื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่น.