- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 30 May 2015 13:20
- Hits: 2232
เล็งนำช่องข่าวเปิดประมูลใหม่-เชื่ออีก 3 ปีทีวีดิจิตอลคุ้มทุน
แนวหน้า : เล็งนำช่องข่าวเปิดประมูลใหม่-เชื่ออีก 3 ปีทีวีดิจิตอลคุ้มทุน กสทช.ยึดเงิน‘ไทยทีวี-โลก้า’
กสทช.ชี้ไทยทีวี –โลก้า มีสิทธิคืนไลเซ่นส์ ทีวีดิจิตอลได้ แต่แบงก์การันตีที่จ่ายไว้แล้วทั้ง 100% ของวงเงินที่ประมูลจะไม่ได้คืน ซ้ำต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เผยมีทาง 2 แนวทาง ในการจัดการกับไลเซ่นส์ที่ได้คืนมา โดยอาจจะนำมาเปิดประมูลใหม่ เชิญผู้บริหารไทยทีวี มาหารือ วันที่ 27 พ.ค.นี้
นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า สำนักงานฯจะเชิญบริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องโลก้า และช่องไทยทีวี ร่วมพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังคำอธิบายเกี่ยวกับเงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ ในวันที่ 27 พ.ค.2558 เวลา 14.00 น. โดยสืบเนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้ส่งหนังสือถึงสำนักงาน เพื่อขอยกเลิกใบอนุญาตและประกอบกิจการทีวีดิจิตอล โดยขอให้มีผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ กสทช.ได้รับหนังสือ
ทั้งนี้ ในหนังสือยังระบุว่า กสทช.ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการควบคุมหรือกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีจากอนาล็อกสู่ดิจิตอลตามแผนแม่บท หรือตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ จนทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่สามารถรับชมช่องทีวีดิจิตอลได้อย่างกว้างขวาง การไม่ได้รับชมอย่างกว้างขวางนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการอย่างร้ายแรง ซึ่งการขอยกเลิกใบอนุญาตนี้บริษัทยังแจ้งว่า ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการใดๆ เพราะปัญหาเกิดจากความบกพร่องของ กสทช.
อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯขอชี้แจงว่า ผู้ประกอบกิจการมีสิทธิ์ที่จะขอยกเลิกใบอนุญาตที่ตนได้ประมูลไป แต่จะต้องทำการแจ้งมาให้สำนักงาน กสทช.รับทราบล่วงหน้า เพื่อให้กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ลงมติพิจารณาว่าสามารถกระทำการยกเลิกได้ ผู้ประกอบการจึงจะสามารถทำการยกเลิกได้ ซึ่งเมื่อยกเลิกแล้วผู้ประกอบการจะต้องทำการเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ให้สำนักงานเป็นผู้เยียวยา
นอกจากนี้ การยกเลิกใบอนุญาตตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจ พ.ศ.2556 ได้ระบุให้ ผู้ที่ยกเลิกใบอนุญาตจะต้องโดนยึด หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตหลังการประมูล โดยเป็นอัตรา 100% ของเงินค่าประมูล ทั้งนี้ แบงก์การันตีในงวดแรกผู้ประกอบการทุกรายได้จ่ายไปแล้วพร้อมกับค่างวดเมื่อ 24 พ.ค. 2557 ทำให้หาก บริษัท ไทยทีวีจะยกเลิกใบอนุญาต จะต้องถูกยึดแบงก์การันตีในส่วนที่เหลือในงวดที่ 2-งวดที่ 6 ใน 2 ช่องรายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,634.4 ล้านบาท
ด้านนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่องไทยทีวียื่นหนังสือขอ ยกเลิกการประกอบกิจการ ว่า การขอยกเลิกประกอบกิจการของผู้ประกอบการด้วยสาเหตุที่ไม่คุ้มทุนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล เพราะในความเป็นจริงตามหลักกฎหมายผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลสามารถแบ่งเวลาให้เช่ากับบริษัทต่างๆ หรือหาพันธมิตรมาร่วมทุนได้ แต่ต้องไม่เกินที่ พ.ร.บ.องค์กรฯ ในมาตรา 31 ที่ให้มีผู้ร่วมกิจการได้ไม่เกิน 40% ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการทบทวนการดำเนินการดังกล่าว และหาทางออกใหม่อีกครั้ง โดยวันที่ 27 พ.ค. เวลา 14.00 น. ทาง กสท.จะเชิญผู้ประกอบการไทยทีวี เพื่อรับฟังข้อมูลด้านกฎหมายที่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาการดำเนินการร่วมกันอีกครั้ง และจะนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการ กสท. สัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นสำนักงานกสทช.จะยังส่งหนังสือแจ้งเตือนค่าปรับกรณีที่พ้นกำหนดชำระค่าประมูลในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินงวดที่ 2 ตามกระบวนการขั้นตอน แต่ทั้งนี้มองว่าบริษัทไทยทีวี ยังมีทางออกโดยสามารถแบ่งเวลาผู้อื่นเช่าไม่เกิน 40% หรือการหาผู้ร่วมทุนมาซื้อหุ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดสัดส่วนตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้หากยกเลิกกิจการแล้วช่องที่ได้คืนกลับมากสทช.วางไว้ 2 แนวทางคือ 1.การนำช่องไปประมูลใหม่ 2.เอาคลื่นที่ได้คืนมาไปอัพเกรดให้ช่องเอสดี ไปเป็นระบบเอชดี
“หากมีการคืนช่อง แนวทางดำเนินการของ กสทช. คือ การประมูลคลื่นข่าวใหม่ หรือทางเลือกหนึ่ง คือ นำไปเพิ่มคุณภาพของช่องสแตนดาร์ท เป็นช่องไฮเดฟฟินิชั่น ส่วนภาพรวมการดำเนินการของช่องทีวีดิจิตอล มองว่าผลการดำเนินงานของช่องทีวีดิจิตอลไม่ได้แย่ เพราะการรับชมของประชาชนยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าช่องทีวีที่เหลือน่าจะอยู่รอดในปีที่ 2 ปีที่ 3 เพราะน่าจะมีผลตอบแทนกลับมาระยะยาว”
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ได้มีหนังสือ 2 ฉบับ ลงชื่อ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยทีวี จำกัด เรื่อง ขอเลิกใบอนุญาต และการประกอบกิจการ เรียน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ หนังสือฉบับแรก ได้แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาต และประกอบกิจการ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสาร และสาระ ช่องรายการไทยทีวี และฉบับที่สอง ขอยกเลิกใบอนุญาต และประกอบกิจการ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่
ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ช่องรายการ LOCA โดยทั้งสองฉบับได้ส่งไปยังสำนักงาน กสทช.
โดยเนื้อหาหนังสือ 2 ฉบับ ระบุว่า ตามที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ฯ จากคณะกรรมการ กสทช. ดังอ้างข้างต้น แต่ปรากฏว่า นับแต่บริษัทได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 จนถึงปัจจุบัน กสทช.กลับมิได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการควบคุมหรือกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านระบบการรับชมสัญญาณโทรทัศน์ ในระบบภาคพื้นดินไปสู่การรับส่งสัญญาณระบบดิจิตอลให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับ 1 พ.ศ. 2555-2559 หรือตามที่ กสทช.ได้ประกาศและประชาสัมพันธ์ไว้ จนเป็นเหตุให้ประชาชนทั้งประเทศไม่สามารถรับชมสัญญาณภาพและเสียงโทรทัศน์ในระบบทีวีดิจิตอลได้อย่างกว้างขวาง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานสากล ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการอย่างร้ายแรง
โดยบริษัทเคยมีหนังสือบอกกล่าวให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด และตามแผนแม่บทแล้วหลายครั้ง แต่ กสทช.ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการ แก้ไขหรือเยียวยาใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัทจึงเรียนมาเพื่อ ขอบอกเลิกใบอนุญาตและเลิกการประกอบกิจการตามใบอนุญาต โดยขอให้มีผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ กสทช.ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการใดๆ เพราะผู้ใช้บริการรับชมทีวีดิจิตอล มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากความบกพร่องและการล่าช้าของ กสทช.โดยบริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ลงชื่อนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด
กสทช.จี้ไทยทีวีจ่ายค่าไลเซ่นส์ดิจิตอลทีวี 2 ช่องให้ครบแม้ปิดสถานี
นายฐากร ฒัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.มีมติให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด ดำเนินการชำระเงินค่าประมูลที่ยังค้างอยู่ทั้งหมด แม้ว่าจะมีการอนุมัติให้มีการยกเลิกไม่ให้ประกอบกิจการแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ.2556 ในข้อ 10 ได้ระบุไว้ว่าเมื่อการประมูลสิ้นสุดลง ให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามราคาสุดท้ายที่ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายเสนอตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ หมวดข่าวสารและสาระ (ช่อง 17) ประมูลมา 1,328 ล้านบาท ชำระแล้วในงวดที่ 1 จำนวน 220.8 ล้านบาท และต้องชำระในงวดที่ 2 จำนวน 176.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 221.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 221.6 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นเงินที่ยังค้างชำระทั้งสิ้น 1,107.2 ล้านบาท
ส่วนหมวดรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว (ช่อง 15) ประมูลมาด้วยราคา 648 ล้านบาท ชำระแล้วในงวดที่ 1 จำนวน 120.8 ล้านบาท ยังต้องชำระในงวดที่ 2 จำนวน 92.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 101.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 101.6 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นเงินที่ค้างชำระทั้งสิ้น 527.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ตามประกาศของ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ในข้อ 18 ระบุว่าการสิ้นสุดการอนุญาต นอกจากครบกำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์อาจสิ้นผล ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.ผู้รับใบอนุญาตแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต และได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการแล้ว
ฉะนั้น เมื่อบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ยื่นหนังสือขอยกเลิกประกอบกิจการ หรือคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะส่งผลต่อเมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ โดยผู้รับใบอนุญาตต้องกลับไปทำแผน ตามข้อ 21 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ในการจัดให้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการ และให้รวมถึงกรณีที่มีการพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หลังจากนั้นจะมีการรวบรวมเสนอต่อบอร์ด กสท.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันนี้ ตัวแทนฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้เข้าพบ กสทช.โดยนายสุชาติ ชมกุล ฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี จำกัด เปิดเผยก่อนจะมีการหารือว่า จะมีการรับฟังคำชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อนนำไปพิจารณาว่าจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าไทยทีวี ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะยุติการดำเนินกิจการหริอเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในเย็นวันนี้
อินโฟเควสท์