- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 24 May 2015 20:33
- Hits: 1825
'ประเสิรฐ'ร้องขอความเป็นธรรม พิษม.44 พักงานกตป.ชั่วคราว
แนวหน้า : นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เกี่ยวกับการนำข้อมูลการทำงานที่ผ่านมาไปประกอบการตัดสินใจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งทำให้นายประเสิรฐ อยู่ในเป็นหนึ่งใน 45 รายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2558 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) ระบุให้ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ บรรยากาศการเข้ายื่นหนังสือต่อ กสทช.ของนายประเสิรฐ ค่อนข้างสับสนและวุ่นวาย เนื่องจากมายื่นในวันเดียวกับที่มีการแถลงผลการประชุมกรรมการ กสทช. โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นผู้รับหนังสือ
นายประเสริฐ กล่าวว่า การยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมครั้งนี้ ตนไม่มีข้อสงสัยในการออกคำสั่งของ คสช. พร้อมน้อมรับปฏิบัติตาม แต่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลที่หน่วยงานได้เสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจออกคำสั่งนั้น มีความถูกต้องครบถ้วนเพียงใด เนื่องจากการออกคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่นั้น มีการกล่าวหาว่า ตนได้กระทำการทุจริตและปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดและมีข้อมูลคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ มองว่า เหตุผลที่มีการส่งข้อมูลที่นำไปสู่การออกคำสั่ง คสช. น่าจะเป็นเหตุเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างตนเองกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่เริ่มมาตั้งแต่มีการสมัครแข่งขันในตำแหน่งเลขาธิการ รวมถึงปัจจุบันได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่ได้พบความไม่ปกติในหลายกรณี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ตอนที่ตนยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. เพื่อไปรับตำแหน่ง กตป.ได้มีการประวิงเวลาไม่อนุมัติการลาออก เพื่อหวังจะให้ขาดคุณสมบัติและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบได้ จนเกิดการฟ้องร้องในศาลปกครอง ตอนนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งระหว่างกัน
ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตนั้น เป็นการกรณีที่เกิดขึ้นในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช.และรักษาการผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล ในการอนุมัติโบนัสพนักงานและผู้ปฏิบัติงานทั้งสำนักงาน กสทช. จำนวน 831 คน ซึ่งในวันนั้นรักษาการเลขาธิการ ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายทศพร เกตุอดิศร นายพิทยาพล จันทนสาโร รักษาการตามระเบียบไม่ได้อยู่ในสำนักงาน กสทช.ทำให้ต้องเสนอเรื่องให้ นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธาน กสทช.เป็นผู้ลงนาม ซึ่งต่อมาเมื่อประธานได้พิจารณาแล้วได้แจ้งว่า ให้ตนเป็นผู้ลงนามได้และให้รีบดำเนินการเพราะเป็นประโยชน์กับพนักงานส่วนรวมและทางบอร์ด กสทช. ได้มีมติอนุมัติไปแล้ว โดยเป็นเงินโบนัสทั้งหมด 35 ล้านบาท จึงต้องมายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับประธาน กสทช. คนปัจจุบัน
หลังจากนี้ จะนำข้อมูลในกรณีที่ตรวจสอบพบความไม่ปกติทั้งหมด ยื่นให้ทาง สตง.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบ ส่วนจะยื่นเรื่องร้องเรียนไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรือไม่ จะขอปรึกษากับผู้ใหญ่ให้รอบคอบก่อน
"ผมไม่คิดว่าชื่อเสียงและครอบครัวตลอด 29 ปี ที่ทำงานมาถูกทำลาย ผมไม่โทษผู้ออกคำสั่งแต่เป็นเพราะมีคนส่งเรื่องไป ความขัดแย้งที่ผ่านมากับเลขาธิการ ไม่คิดว่าจะลามปามไปจนถึงขั้นทำลายชื่อเสียงของคนคนหนึ่งให้ถูกออกจาสังคม" นายประเสิรฐ กล่าว
ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กล่าวว่า การออกคำสั่งของหัวหน้า คสช. เป็นการดำเนินการตามที่ทางสตง.เป็นผู้เสนอข้อมูล ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลจากฝั่ง กสทช. หลังจากนี้ก็จะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เสนอให้ประธาน กสทช. พิจารณา ซึ่งประเด็นที่นายประเสริฐถูกกล่าวว่าทุจริตนั้น เกิดขึ้นจากการอนุมัติจ่ายเงินโบนัสของปี 2553 ซึ่งทาง กสทช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปแล้วและเพิ่งได้ข้อสรุปของคณะกรรมการสอบเมื่อไม่นานนี้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางประธาน กสทช. ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนกรณีโครงการที่นายประเสริฐระบุว่าผิดปกติ ทาง สตง.ได้เข้ามาตรวจสอบหมดแล้วไม่ได้มีปัญหาใดๆ