- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 04 June 2014 11:14
- Hits: 3767
วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8589 ข่าวสดรายวัน
ลุ้นเปิดจอ ถก 14 ทีวีดาวเทียม วอยซ์ยื่นผังรายการใหม่ กู้ฉลุย 5 หมื่นล.จ่ายจำนำ คลังแนะ-เลิกตรึงดีเซล
เรียก 14 สถานีทีวีดาวเทียม ถกวันนี้ ลุ้นปลดล็อกจอดำ ออมสินปล่อยกู้ฉลุย 5 หมื่นล้าน เผยอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์ คลังเตรียมขอกู้อีก 4 หมื่นล้านจ่ายจำนำข้าว เสนอคสช.ทบทวนระบบจัดเก็บภาษีใหม่ทั้งระบบ แนะเลิกตรึงราคาดีเซล ให้เป็นไปตามกลไกตลาด รองโฆษกคสช.แถลงปัดดึงชัชชาติ ร่วมทำรถไฟเร็วสูง ยันยังไม่มีโครงการเพราะใช้ งบประมาณสูง ตั้งหมอยงยุทธร่วมทีมโฆษก พร้อมใช้ทำเนียบเป็นที่แถลงข่าว'วินธัย'เผยบิ๊กตู่ตั้งคตร. ตรวจสอบใช้งบฯ ภาครัฐ
ทีมโฆษกเข้าทำเนียบฯ
เวลา 10.00 น. วันที่ 3 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน หัวหน้าคณะทำงานประชาสัมพันธ์ คสช. เป็นประธานการประชุม โดยมี น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหาร รักษาการเลขาธิการนายกฯ และตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ เข้าร่วม อาทิ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคสช. พ.อ.ญ.ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก พล.ต.เชาวเลข ชยันตร์สุภาพ ผู้แทนสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้ข้อมูลการบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความปรองดองและการสร้างความสามัคคี ซึ่งจะประชาสัมพันธ์แนวทางการดำเนินการทั้งภายในและภายนอกประเทศ
สั่งชี้แจงสื่อต่างประเทศ
ต่อมาเวลา 12.15 น. พ.อ.วินธัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อจัดหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ทั้งภายในและต่างประเทศซึ่งมีบางประเทศ ยังไม่เข้าใจการเข้ามาทำหน้าที่ของ คสช. และสถานการณ์ของไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันมีบางประเทศที่เข้าใจดีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีสิ่งใดต้องปรับปรุงในการเดินหน้าประชาสัมพันธ์ชี้แจง ซึ่งเราจะต้องดูที่ผลตอบสนองจากการรับรู้ของสังคมมากกว่า ทั้งนี้คนในประเทศมีความเข้าใจในข้อมูล แต่อาจต้องเพิ่มเติมทำความเข้าใจกับต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมด้วยและรับทราบภารกิจดังกล่าวและต้องกลับไปหาวิธีการทำภารกิจให้สำเร็จ โดยต้องสำรวจว่ามีสำนักข่าวต่างประเทศแห่งใดหรือประเทศใดที่ยังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ของไทยเพื่อเป็นข้อมูลทำความเข้าใจเพิ่มเติมต่อไป
ต่อข้อถามถึงการทำความเข้าใจกับประเทศต่างๆ ที่ออกประกาศเตือนให้พลเมืองหลีกเลี่ยงการมาประเทศไทย พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เราทำความเข้าใจกับประเทศเหล่านั้นอยู่ แต่ตัวเลขกับสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงยังต้องพิสูจน์ แต่เขาอาจรับรู้จากกระแสข่าวที่ผ่านสื่อเท่านั้น ขณะที่ผลตอบรับที่เห็นจากข้อมูลสถิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง สื่ออาจกังวลเพราะมีข้อมูลในลักษณะนี้เข้ามา
ตั้งหมอยงยุทธร่วมทีมโฆษก
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า คณะทำงานที่เข้ามาเสริมทีมโฆษกคสช. คือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และน.ส.ปัฐมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักสื่อสารชำนาญการและผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ การปรับรูปแบบการทำงานของทีมโฆษกคสช.โดยมีพลเรือนเข้ามาร่วมงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพ.อ.วินธัย ยังทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข่าวหลัก ส่วนภาคภาษาอังกฤษอยู่ระหว่างประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งคนมาทำงานในส่วนนี้
ใช้ทำเนียบรัฐบาลทำงาน
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า งานด้านประชาสัมพันธ์ คสช.อาจเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ครบองค์ประกอบงานประชาสัมพันธ์ เนื่องจากทำเนียบรัฐบาลมีผู้สื่อข่าวประจำสายงานที่เหมาะสมกว่า ส่วนงานด้านอื่นๆ ยังไม่มีการพูดถึง เมื่อถามว่าสื่อมวลชนจะตรวจสอบการทำงานของคสช.ช่องทางใด ได้บ้าง พ.อ.วินธัยกล่าวว่า คสช.ต้องการ ให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบได้ ส่วนการประชาสัมพันธ์งานของ คสช.จะใช้เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เป็น ช่องทางหนึ่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ของ คสช.เนื่องจากเป็นการบริหารงานแบบพิเศษ ในขณะที่ยังไม่มีคณะรัฐมนตรี
บิ๊กตู่จัดรายการทุกวันศุกร์
เมื่อถามถึงหัวหน้า คสช.มีแนวคิดจะทำรายการ คสช.พบประชาชน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ทุกเช้าวันเสาร์บ้างหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า รายละเอียดเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนประชาสัมพันธ์ เนื่องจากคสช.อยากเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังการดำเนินงาน ของคสช. แต่เบื้องต้นจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทุกคืนวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ โดยหัวหน้า คสช.จะสื่อสารการทำงานของ คสช.ที่ประชาชนอยากรู้ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งยังคงใช้ชื่อรายการคืนความสุขให้คนไทยเหมือนเดิม
เตรียมหารือเปิดทีวีดาวเทียม
พ.อ.วินธัย กล่าวถึงกรณีเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนว่า คสช.ปิดกั้นสื่อว่า เราไม่มีเจตนาปิดกั้นสื่อ แต่ที่ผ่านมาจำเป็นต้องปรับความเข้าใจให้เกิดความสงบในบ้านเมือง เป็นมาตรการที่จำเป็น คสช.ทราบดีว่ามีผล กระทบแต่จะให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการและประชาชนน้อยที่สุด จึงมีการผ่อนปรนเป็นระยะ เริ่มจากฟรีทีวี ต่อด้วยทีวีดาวเทียม ยกเว้น 14 สถานี ที่มีเงื่อนไขพิเศษกับคสช. แต่ยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉยแล้วจะตัดทิ้งประเด็น ซึ่งในวันที่ 4 มิ.ย. กลุ่ม 14 ช่องสถานีดาวเทียมจะหารือกับคสช. ส่วนทีวีดาวเทียมที่ไม่อยู่ในเงื่อนไข 14 ช่องสถานี แต่อาจไม่ได้รับอนุญาตถูกต้อง เป็นเรื่องของกสทช.ดูแล จึงอยากให้ผู้ประกอบการไปหารือกับกสทช.ในเรื่องรายละเอียดในรูปแบบการดำเนินการและการทำธุรกิจ ตามกฎหมายของกสทช.ที่ดูแลอยู่
ตั้งปลัดบัญชีทบ.ตรวจใช้งบฯ
พ.อ.วินธัย เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อเป็นช่องทางตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่งใสต่อการดำเนินงานและโครงการต่างๆ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
สำหรับคำสั่งคสช.ที่ 45/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ระบุว่า เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความโปร่งใสอยู่ในระเบียบวินัยการเงิน และการคลัง คสช.จึงออกคำสั่ง ดังนี้ ข้อ 1 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครับ (คตร.) ซึ่งประกอบด้วย 1.ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 4.ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม 5.เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ 6.อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ 7.ผอ.สำนักประเมินผล สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ 8.เจ้ากรมจเรทหารบก เป็น กรรมการ 9.ผอ.สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เป็นกรรมการ
10.ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก เป็นกรรมการ 11.ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ 12.ผู้แทนฝ่ายสังคมจิตวิทยาตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ 13.ผู้แทน ฝ่ายเศรษฐกิจตามประกาศคสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ 14.ผู้แทนฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ 15.ผู้แทนฝ่ายกิจการพิเศษตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 22/2557 เป็นกรรมการ 16. ผู้แทน คสช. เป็นเลขานุการ 17.ผู้แทน คสช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง 18.ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคน ที่สอง
ตรวจสอบราชการ-รัฐวิสาหกิจ
ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้โปร่งใสและถูกต้องภายใต้กรอบงบประมาณของรัฐ ควบคู่กับการติดตามและตรวจสอบตามปกติของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ มุ่งเน้นแผนงานหรือโครงการที่สำคัญซึ่งอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ 2.รายงานผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้าคสช.ทราบโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 3.เสนอแนะให้ดำเนินการในลักษณะที่เป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.เข้าไปในสถานที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการติดตาม และตรวจสอบข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 5.เชิญข้าราชการ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงหรือส่งเอกสารให้ตามความเหมาะสม 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใดๆ ตามที่คณะกรรมการหรือหัวหน้าคสช.มอบหมาย
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน ให้สำนักปลัดบัญชี กองทัพบกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและให้มีกำลังพลตามจำนวนที่เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนงานทั่วไป และงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ปัดข่าวดึงชัชชาติร่วมงาน
พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกคสช. กล่าวถึงกระแสข่าวการทาบทาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม มาช่วยสานต่องานโครงการ 2 ล้านล้านและรถไฟรางคู่ ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน รถไฟความเร็วสูงใช้งบประมาณมาก ยังไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำต่อหรือไม่ ขณะที่รถไฟรางคู่ต้องดูแต่ละภูมิภาคให้ พิจารณาในพื้นที่ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิ ภาพในการขนส่ง
เมื่อถามว่าระหว่างคุมตัวนายชัชชาติ ได้สอบถามความเห็นเรื่องนี้บ้างหรือไม่ พ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ย้ำว่าระหว่างการคุมตัวมีการดูแลอย่างดีและอาจสอบถามความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ บ้าง ทั้งนี้เราไม่ได้ปิดกั้นหากใครที่มีความรู้ความสามารถที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมรับฟัง หัวหน้า คสช.เน้นย้ำว่าการให้บุคคลเข้ามาทำหน้าที่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถและเป็นที่ยอมรับของสังคมไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ
ตั้งกก.พิจารณาแจกแท็บเล็ต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้า คสช. รับผิดชอบงานด้านสังคมและจิตวิทยา มอบให้พล.ท. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้ากลุ่มงานสังคมและจิตวิทยา เข้าร่วมประชุมกรณีการจัดซื้อแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยผบ.ทร.ยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกการจัดซื้อ เพียงแต่ให้ตรวจสอบและประเมินในภาพรวมว่าการซื้อแท็บเล็ตคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุดหรือไม่ หากไม่ การจัดทำห้องเรียนแบบสมาร์ท คลาสรูมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า พล.ท.สุรเชษฐ์มอบให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งคณะทำงานร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและ หาข้อสรุปว่าจะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่ภายใน 15 วัน ก่อนนำผลสรุปจากการศึกษามารายงานให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง โดยคณะทำงานจะต้องศึกษาว่าโครงการแท็บเล็ต มีผลดีอย่างไร และหากไม่ทำต่อจะมีผล กระทบหรือไม่ ตลอดจนถ้าเปลี่ยนรูปแบบจะเปลี่ยนเป็นแบบใด ทั้งนี้เพื่อให้โครงการข้างต้นเกิดประโยชน์ และคุ้มค่ามากที่สุด
ชงคสช.ตั้งงบจ่ายหนี้
ที่กระทรวงการคลัง น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 3.79 แสนล้านบาท ซึ่งเสนอให้คสช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณปี 2558 มาชำระต่อไป สำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระ แบ่งเป็นเงินต้น 2.47 แสนล้านบาท ซึ่งต้องตั้งงบประมาณมาชำระไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรักษาวินัยการคลัง แต่จะชำระได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายได้และรายจ่ายของประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 1.31 แสนล้านบาท โดยทาง สบน.ขอให้ตั้งงบมาทั้งจำนวนเพื่อเป็นการรักษาเครดิตของประเทศ
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า สบน.ยังเสนอแผนการชี้แจงเครดิตของประเทศในเชิงรุกมากขึ้นให้กับ คสช. พิจารณาเห็นชอบ โดยจะให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังเดินทางไปหารือกับผู้บริหารระดับสูงของของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลโดยตรงทั้งทางนโยบายและมาตรการต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับเครดิตของประเทศมากกว่าที่ให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อได้รับข้อมูลจากทางสื่ออย่างเดียว
ออมสินปล่อยกู้ 5 หมื่นล้าน
น.ส.จุฬารัตน์กล่าวอีกว่า ผลการเปิดซองประมูลวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน สำหรับนำไปจ่ายให้โครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ปรากฏว่าจากผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 12 ราย ธนาคารออมสิน เป็นผู้ชนะการประมูลเต็มจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลากู้ 3 ปี โดยเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่อัตรา BIBOR-0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.1792 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี จากอัตราที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนประมูลที่ BIBOR เฉลี่ย 6 เดือน หรืออัตรา 2.2792 เปอร์เซ็นต์ โดยธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินรายเดียวที่เสนออัตราดอกเบี้ยติดลบ และเป็นรายเดียวที่เสนอประมูลเต็มวงเงิน โดยชนะ ผู้ประมูลอันดับ 2 ที่เสนออัตราดอกเบี้ย BIBOR ปกติ
ทั้งนี้ หลังจากที่ สบน.ได้รับวงเงินกู้ดังกล่าว จะสามารถจัดสรรไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อไปนำเบิกจ่ายให้กับเกษตรกร งวดแรกวงเงิน 30,000 ล้านบาทในวันที่ 6 มิ.ย. และงวดที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ในวันที่ 13 มิ.ย.2557 เพื่อให้ธนาคารมีสภาพคล่องไปจ่ายให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
เตรียมขอกู้อีก 4 หมื่นล้าน
"อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารออมสินเสนอมาเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เท่าที่รัฐบาลเคยออกมา ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะ 3 ปี ที่ 2.45 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถาบันการเงิน ต่อการดำเนินนโยบาย" น.ส.จุฬารัตน์กล่าว
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ สบน.จะส่งหนังสือชี้ชวนสถาบันการเงิน ให้เข้าประมูลเงินกู้รอบที่ 2 อีก 40,000 ล้านบาท แบบเทอมโลน และจะเปิดให้เข้ายื่นซองประมูล ในวันที่ 12 มิ.ย. โดยคาดว่าสถาบันการเงินจะเข้าแข่งขันอย่างดุเดือดเหมือนเดิม และจะได้อัตราดอกเบี้ยที่น่าพอใจไม่แพ้รอบแรก เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีความเชื่อมั่น และสภาพคล่องเหลืออีกมาก อย่างไรก็ตาม สบน.จะไม่กู้เต็มวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เนื่องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติวงเงินให้กู้เพื่อจ่ายชาวนาเพียง 9.2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน อาวุโส ในฐานะรักษาการ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลวงเงินกู้อีก 40,000 ล้านบาท จะต้องมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารอีกครั้ง แต่หากพิจารณาจากสภาพคล่องของธนาคารในปัจจุบัน ที่อยู่ในระดับสูง ก็ยังเพียงพอที่จะเข้าร่วมประมูลในวงเงินดังกล่าวได้อีก
ก.คลังเสนอเลิกตรึงดีเซล
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอโรดแม็ปปฏิรูปภาษีให้คสช. เห็นชอบ โดยจะมีการปฏิรูปภาษีในทุกๆ ด้านเพื่อสร้างฐานภาษีให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยมีเรื่องที่ต้องดำเนินการระยะสั้นภายใน 1 ปี ได้แก่ การปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ การทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล ให้เข้าสู่อัตราปกติ และการปรับปรุงอัตราภาษีป้าย
สำหรับ เรื่องที่ต้องดำเนินการในในระยะยาวมากกว่า 1 ปี ต้องมีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 7 เปอร์เซ็นต์ และ คสช. ได้เห็นชอบให้ขยายการลดออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 ต้องทบทวนการลดหย่อนของภาษีประเภทต่างๆ และขยายฐานและปรับปรุงอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น ภาษีบาป
ปฏิรูปจัดเก็บภาษีทั้งระบบ
ด้านการปฏิรูปภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมสุขภาพ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม การดำเนินการไม่เกิน 1 ปี จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่กระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องดื่มที่มีความหวานสูง และน้ำมันหล่อลื่น ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ภาษีมลพิษทางน้ำ และปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการถาวร
ในขณะการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน มีเรื่องที่ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี ต้องมีการปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการถาวร ปรับปรุงโครงการสร้างนิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น และปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เช่น ภาษีเกี่ยวกับพาณิชย์นาวี เศษซากอิเล็กทรอนิกส์
สุดท้ายการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิในการบริหารจัดเก็บภาษี การดำเนินการระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลภาษีอากรระหว่างกรมจัดเก็บภาษี จัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีรายได้สูง สำหรับการดำเนินการระยะยาวมากกว่า 1 ปี ต้องร่างประมวลรัษฎากรฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ธ.ก.ส.ตั้งกองทุนให้กู้
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คสช. สั่งให้กระทรวงการคลังไประดมแนวคิดดูรายละเอียดเรื่องการแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งตามข้อมูลที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอมาคือต้องการให้ สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน มีการจัดตั้งนิติบุคคลภายในตัวเองเพื่อให้กู้แก่รายย่อย รากหญ้าในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หรือเพื่อปล่อยกู้เพื่อช่วยคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน รวมถึงมีการออกกฎควบคุมการทวงหนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของธ.ก.ส. มีแนวคิดว่าจะพัฒนากองทุนหมู่บ้าน เป็นสถาบันการเงินชุมชนอีก 3,000 แห่งใน 3 ปีนี้ซึ่งพวกนี้มีกฎหมายของสำนักงานกองทุนหมูบ้านแห่งชาติ (สทบ.) รองรับ โดยเชื่อว่าจะสามารถยกระดับกองทุนหมู่บ้าน องค์กรการเงินชุมชนเหล่านี้ขึ้นมาดูแลเรื่องหนี้นอกระบบได้
วอยซ์ทีวีปรับผังไร้การเมือง
พ.อ.พิรัติ บรรจงเขียน ผอ.กองเทคโนโลยีทางทหาร บก.ทบ. กล่าวหลังหารือร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงสถานะการออกอากาศทีวีดาวเทียม ว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ช่องวอยซ์ทีวี สามารถกลับมาออกอากาศได้ปกติ หากผังรายการไม่มีรายการเกี่ยวกับการเมืองเลย ซึ่งทางวอยซ์ได้เสนอผังมาให้คสช. พิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ วอยซ์ทีวีเป็นทีวีดิจิตอลเพียงช่องเดียวจากทั้งหมด 24 ช่องที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ถูกระงับการออกอากาศนับตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึก จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศแต่อย่างใด ซึ่งคสช. ได้อนุญาตให้ทีวีดาวเทียมจำนวน 333 ช่อง ออกอากาศได้ตามปกติแล้ว จากทั้งหมด 538 ช่องรายการ และช่องรายการโทรทัศน์ผ่านเคเบิลแบบบอกรับสมาชิก 211 ช่องรายการ ส่วนช่องรายการที่เหลือและสถานีวิทยุชุมชนยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ออกอากาศ
ก.คลังขอดูแลรัฐวิสาหกิจ
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง คงจะต้องมีการหารือเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนภายในเดือนนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้รับคำสั่งจากคสช. ว่ามีนโยบายต้องการปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจใดบ้าง แต่ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง มองว่าในส่วนที่เป็นสถาบันการเงิน ควรอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะว่ากระทรวงการคลังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง และมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการบริหารนโยบายของสถาบันการเงิน มากกว่ากรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากที่อื่น
"สถาบันการเงินที่จะต้องมีการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ ควรจะเป็นการแต่งตั้งจากคนของกระทรวงการคลัง ซึ่งคงต้องมาหารือความชัดเจนเรื่องนี้ด้วยเหตุผลอีกครั้งว่าจะดำเนินการได้อย่างไร" นายรังสรรค์กล่าว ส่วนกรณีที่มีอดีต รมว.พลังงานเสนอ ตำแหน่งปลัดกระทรวงไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นประธานรัฐวิสาหกิจนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐวิสาหกิจถือเป็นองค์กร กิจการของรัฐ ก็ควรที่จะมีคนของรัฐเข้าไปนั่งเพื่อดูแลผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งการดูแลในที่นี้ต้องไม่ใช่การเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง